"12 ปีตากใบ"เหยื่อยังลืมไม่ได้ กับพลวัตคนรุ่นใหม่และโฮมโกรว์น
"คนที่ไม่ลืมและกลัวคือเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าชาวบ้านเสียอีก เพราะยังไม่ถึงวันก็จะมีการเฝ้าระวัง กลัวกันหมด เจ้าหน้าที่รัฐนั่นแหละที่คอยเตือนความจำพวกเราทุกคนด้วย"
เป็นเสียงของ แยนะ สะแลแม หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ก๊ะแยนะ” แกนนำสตรีผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ 25 ต.ค.47
นิยามของเหตุการณ์นี้ในความเข้าใจของคนทั่วไป คือ ปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ จ.นราธิวาส และจับกุมผู้ชุมนุมนับพันคน ด้วยการบังคับให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และนำไปเรียงซ้อนทับกันบนรถยีเอ็มซีของทหาร เพื่อนำตัวไปสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ผลของการนำคนขึ้นไปเรียงซ้อนทับกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจมากถึง 78 คน และมีเสียชีวิตจากการปะทะกัน ณ ที่เกิดเหตุหน้าโรงพักอีกจำนวนหนึ่ง
จำนวนคนตายมากถึง 85 คน แต่กลับไม่มีคดีถูกฟ้องขึ้นสู่ศาลเพื่อพิสูจน์ความถูกผิด หรือตรวจสอบการกระทำโดยประมาทของเจ้าหน้าที่ แม้จะอ้างว่ามีความพยายามยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความวุ่นวายที่หน้าโรงพักตากใบ แต่นั่นก็ทำให้เรื่องนี้ “ไม่จบ” ในสายตาของคนตากใบ
“วันนี้ (25 ต.ค.59 ครบรอบ 12 ปีตากใบ) ได้ส่งข้อความขอบคุณทุกคนที่ไม่ลืมเหตุการณ์ตากใบ เพราะถ้าใครมาบอกว่าชาวบ้านลืมแล้ว จบแล้ว ขอตอบเลยว่าไม่ใช่ มันจบไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ตากใบ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ทุกคนไม่ควรลืม แต่ควรที่จะจดจำ และไม่มีชาวบ้านคนไหนลืมได้ลง โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ ทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ เขาลืมไม่ลง และชาวบ้านในสามจังหวัดก็ไม่ลืม” ก๊ะแยนะ บอก
“วันที่ไปประชุมที่อำเภอ ปลัดคนหนึ่งพูดออกมาว่า วันนี้วันที่ 25 ต.ค. ในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์ตากใบ ทุกคนไม่ลืมไม่เป็นไร แต่ขอให้จบ ก๊ะก็ไม่ได้ตอบอะไร แต่ก็คิดในใจว่ารัฐเองยังพูดถึง แล้วจะให้จบได้อย่างไร บางครั้งยังไม่ถึงวันที่ 25 ตุลาฯ เจ้าหน้าที่ก็จะมีการเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง กลัวว่าจะมีการก่อเหตุ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้มีอะไร ปีนี้ที่ตากใบสงบ ปกติ ไม่เกิดเหตุอะไรเลย”
แม้วาระ 12 ปีตากใบในปี 2559 จะไม่เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่ อ.ตากใบ จริงตามที่ก๊ะแยนะบอกไว้ แต่การครบรอบเหตุการณ์ตากใบปีนี้ กลับกลายเป็นประเด็นระดับชาติ เพราะมีหนังสือแจ้งเตือนของหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยว่าอาจเกิดการก่อวินาศกรรมระดับคาร์บอมบ์ขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ห้วงเวลาสำคัญคือตลอดเดือน ต.ค. โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 25-30 ต.ค. ซึ่งก็คือช่วงครบรอบ 12 ปีตากใบนั่นเอง
และเรื่องที่แจ้งเตือนกันก็ปรากฏร่อยรอยขึ้นจริงๆ เมื่อมีการตรวจค้นย่านที่พำนักของบุคคลจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถี่ยิบในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เช่น ย่านรามคำแหง หัวหมาก มีนบุรี รวมถึงหลายพื้นที่ของ จ.สมุทรปราการ
มีการจับเยาวชนคนหนุ่มสาวที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปหลายสิบคน ภายหลังปล่อยตัวออกมาบ้าง แต่ก็ไม่ครบหมดทุกคน บางส่วนถูกส่งตัวเข้ากระบวนการซักถามที่หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
มีข่าวว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวบางรายให้การรับสารภาพว่ามีแผนก่อวินาศกรรมตามห้างสรรพสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวในเขตกรุงเทพฯและใกล้เคียงจริง
สอดรับกับข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงที่อ้างว่าเป็นปฏิบัติการที่อาจเชื่อมโยงหรือคล้ายคลึงกับเหตุระเบิดและวางเพลิงใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ระหว่างวันที่ 10-12 ส.ค.59 ซึ่งจนถึงขณะนี้มีการออกหมายจับผู้ต้องหาที่ล้วนมีภูมิลำเนาอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วกว่าสิบคน บางส่วนมีหมายจับในคดีความมั่นคงยาวเป็นหางว่าว
แม้การควบคุมตัวเยาวชนคนหนุ่มสาวในห้วงเดือน ต.ค.59 จะถูกประท้วงจากกลุ่มนักศึกษาและภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเชื่อว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านั้นไม่เกี่ยวกับแผนวินาศกรรมเมืองหลวง
แต่ก็น่าสังเกตว่าเมื่อครั้งเกิดเหตุระเบิดและวางเพลิงเกือบ 20 จุดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน กลับมีหลายเสียงแสดงความเชื่อมั่นว่าเป็นการขยายพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มบีอาร์เอ็น และเมื่อมีการออกหมายจับบุคคลจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็แทบไม่มีกลุ่มบุคคลใดออกมาประท้วงหรือปฏิเสธว่าไม่ใช่ตัวจริง
หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมน่าคิดว่าการขยายพื้นที่ปฏิบัติการ หรือการโจมตีนอกพื้นที่สามจังหวัด โดยเฉพาะจุดเปราะบางที่สุดอย่างกรุงเทพมหานคร และเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เช่น หัวหิน กำลังกลายเป็นพลวัตใหม่ของสถานการณ์ความไม่สงบของไทยที่เชื่อมโยงกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของบรรดา “นักรบ” ที่มีเสรีในการปฏิบัติมากขึ้นทั้งในแง่รูปแบบและพื้นที่ก่อเหตุ มีความหลากหลายของกลุ่มปฏิบัติการมากขึ้นตามการแตกตัวของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเมื่อการต่อสู้ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน
ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาชาติพันธุ์และการก่อการร้าย มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างน่าสนใจ
“สิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำเป็นอย่างแรก และถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือการแยกปลาออกจากน้ำให้ชัดเจนก่อน พูดง่ายๆ ว่า เจ้าหน้าที่ต้องจำแนกกลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะก่อเหตุความไม่สงบว่ามีสาเหตุมาจากเรื่องใด”
แม้ประเด็นการ “แยกปลาออกจากน้ำ” จะถูกพูดถึงมานาน แต่ดูเหมือนที่ผ่านมายังทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพมากพอ กระทั่งวันนี้จึงยังต้องพูดถึงเรื่องเดิมกันอีกครั้ง
ดร.ฐิติวุฒิ ขยายความว่า กลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุรุนแรง แบ่งได้กว้างๆ เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่เกิดความเจ็บช้ำจากเหตุการณ์ความสูญเสียในอดีต เช่น เหตุรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี (28 เม.ย.47) หรือเหตุการณ์ตากใบ (25 ต.ค.47) เป็นต้น ทั้งสองเหตุการณ์นี้ได้สร้างรอยแผลในใจให้กับชาวบ้านที่สูญเสียเป็นอย่างมาก หากจะเปรียบเทียบกับการก่อการร้ายในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าการก่อการร้ายเกิดขึ้นจากแผลในจิตใจที่คนเหล่านั้นประสบเหตุการณ์ร้ายๆ มาในอดีต ทั้งด้วยตนเองและมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
กลุ่มที่สอง คือ นักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อาจมีการปลูกฝังความคิด หากสังเกตกันดีๆ จะเห็นได้ว่า กลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่มีความกระตือรือล้นทางการเมือง ประเด็นสิทธิมนุษยชน และชาติพันธุ์มากเป็นพิเศษ
“ในกลุ่มที่สองนี้อาจจะแยกย่อยได้อีก นั่นคือกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องปากท้อง การทำมาหากิน คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสงสาร เพราะการเติบโตของพวกเขาหาตัวตนหรือที่ยืนได้ยากลำบากในสังคม เมื่อผสมเข้ากับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่ต้องพบเจอตั้งแต่วัยเด็ก คนกลุ่มนี้จึงต้องการการเอาใจใส่ดูแลมากเป็นพิเศษ”
ดร.ฐิติวุฒิ บอกต่อว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องจำแนกกลุ่มคนเหล่านี้ให้ออก โดยเฉพาะกลุ่มแรกที่มีประสบการณ์เจ็บช้ำน้ำใจ เพื่อประเมินแนวโน้มการก่อเหตุรุนแรง รวมถึงมูลเหตุที่พวกเขาต้องการทำมันขึ้นมา
ส่วนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือนักศึกษานั้น เจ้าหน้าที่ต้องทำความเข้าใจความเคลื่อนไหวต่างๆ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งด้านชาติพันธุ์ อุดมการณ์ความเชื่อ ความรู้สึกร่วมในเหตุการณ์ร้ายๆ ในอดีต รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือ ความยุติธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติต่อพวกเขา และคนที่พวกเขาเกี่ยวข้อง
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มีบางฝ่ายมองว่าคล้ายคลึงกับสิ่งที่เรียกว่า “โฮมโกรว์น” หรือ homegrown terrorist ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศตะวันตก หมายถึงกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เกิดและโตในประเทศนั้นๆ แต่มีประสบการณ์เลวร้ายในอดีต ทั้งจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือความรู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสองของตนเอง ทำให้เลือกที่จะปฏิบัติการโจมตีประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่
คำถามคือประเทศไทยกำลังเดินสู่จุดนั้นหรือไม่?
ประเด็นนี้ ดร.ฐิติวุฒิ มองว่า ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน
“ในมุมมองของผม คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘แรงผลักดันที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความต้องการหรือมีแรงจูงใจเพื่อก่อเหตุ’ ซึ่งยังต่างกับนิยามของโฮมโกรวน์ เราจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศกลุ่มโฮมโกรว์น เป็นคนเจเนอเรชั่นที่ 2 หรือ 3 ที่ต้องอพยพจากบ้านเกิดตัวเองไปเติบโตที่อื่น ก่อนจะรวมตัวกันก่อเหตุความรุนแรงในประเทศที่เติบโตขึ้นมา โดยมีพื้นฐานมาจากความเกลียดชังรัฐ”
“แต่กลุ่มที่พบในประเทศไทย คือกลุ่มคนที่เติบโตในประเทศเอง เป็นคนของประเทศนี้ ไม่ได้อพยพมา อาจจะมีบางส่วนไปอาศัยทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนอกพื้นที่บ้านเกิดของตนเองบ้าง และมีแนวโน้มที่จะก่อเหตุความรุนแรงได้ แต่แรงขับดันในใจอาจยังไม่ร้ายแรงเท่าพวกโฮมโกรว์นในประเทศตะวันตก”
ดร.ฐิติวุฒิ กล่าวปิดท้ายว่า การจำแนกกลุ่มคนเหล่านี้ ที่เรียกว่า “แยกปลาออกจากน้ำ” หากทำได้ จะทำให้เจ้าหน้าที่ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และรับมือการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มได้อย่างไม่ผิดเป้าหมาย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
หมายเหตุ : *อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26
อ่านประกอบ :
1 "โฮมโกรว์น – โลนวูล์ฟ" จิ้งจอกเดียวดายกับลัทธิก่อการร้าย...อันตรายทุกพื้นที่ในโลก
2 สุรชาติ: เมื่อคุณอาจเดินสวนผู้ก่อการร้าย ได้เวลาไทยรื้อระบบป้องกันเมือง
3 พลวัตก่อการร้าย...เมื่อความรุนแรงคือการแสดงอัตลักษณ์ จับตา"โลนวูล์ฟท้องถิ่น"