นักวิชาการชี้ตลาดแรงงาน รับเด็กจบปวส.ให้เงินเดือนเท่า ป.ตรี
สสค. จัดเวที ประเทศไทย 4.0 กับ ปฏิรูปการศึกษา นักวิชาการชี้การศึกษามีช่องโหว่ ทำนายจ้างหลายคนพร้อมที่เลือกเด็กเกรดแย่ แก้ปัญหา ยันคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่า
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ( สสค.) ร่วมกับองค์กรสื่อ จัดเวทีหาแนวทางการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายสื่อด้านการปฏิรูปการศึกษา โดยจัดเสวนา "ประเทศไทย 4.0 กับการปฏิรูปการศึกษา" ณ ห้องสัมมนา 3 อาคารดี (D) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า ปัจจุบันหลายบริษัท เลือกไม่รับปริญญาตรี แต่รับเด็กจบ ปวส. พร้อมให้เงินเดือนเท่าปริญญาตรี เพราะตลาดแรงงานยังต้องการคนที่จบมาสามารถทำตามตำแหน่งที่ว่างและตรงจุดนั้นเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
"ยกตัวอย่าง นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอพี จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวไว้ว่า ช่วง 2 ปีนี้บริษัทนี้จะล็อกเลยไม่รับปริญญาตรี ให้รับเด็กจบ ปวส. ให้เงินเดือนเท่าปริญญาตรี งานช่างเมืองไทยไม่มีนะ ขาดแคลนมหาศาล เดี๋ยวนี้ช่าง ถ้าเก่งจริงเงินเดือนดีกว่าปริญญาตรี หรือ ต่างชาติไม่มาลงทุนไทย เพราะแรงงานฝีมือไม่มี พูดภาษาอังกฤษไม่ได้"
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยอยู่ในยุค 3.0 เคยเกือบขึ้นเป็นเสือเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน หรือ กลุ่มแรงงานรายได้ปานกลาง เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศยุคนั้น ดังนั้นหากจะขับเคลื่อน กลุ่มเป้าหมายสำคัญของนโยบาย Thailand 4.0 ต้องยกระดับคุณภาพแรงงานนี้ แม้ปัจจุบันแรงงานกลุ่มนี้จะมีการศึกษาที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้รับรายได้ที่สูงขึ้น
ดร.ไกรยส กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานในอนาคต คือ ตลาดแรงงานที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เข้ามา ทำให้หลายอาชีพต้องผลักดันให้ก้าวทัน บ้างอาชีพต่อไปในอนาคตอาจหายไปโดยสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ ทำให้ทักษะที่จะเป็นที่ต้องการแรงงานตามนโยบาย Thailand 4.0 เช่น มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเข้าใจ มีความอดทนอดกลั้น มีสติ อยากรู้อยากเห็น มีแรงบันดาลใจ มีภาวะผู้นำแต่ต้องช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากนี้คือการรู้ทันข้อมูล ทันเทคโนโลยี และมีภูมิต้านทานเรื่องการรับข้อมูลต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี
ดร.ไกรยส กล่าวถึงเด็กและเยาวชน เป็นแรงสำคัญหนึ่งของการขับเคลื่อน นโยบาย Thailand 4.0 ต้องกล้าคิด การแสดงออก การตั้งคำถาม ต้องแตกต่างจากยุค 2.0 ที่พบว่าเด็กมักเงียบ ไม่กล้าถาม ไม่กล้าแสดงออก อดีตจะทำตามแต่สิ่งที่ผู้สอนบอกเท่านั้น ไม่ได้ตั้งคำถามหรือสงสัยว่าสิ่งนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งการศึกษามีส่วนช่วยการพัฒนาและแก้ไขเรื่องทักษะที่ต้องการได้
"คงไม่ดีแน่ ถ้าจะก้าวสู่ Thailand 4.0 ด้วยการศึกษา 2.0"
ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึง ช่องว่างของความต้องการบุคคลที่มีทักษะตามนโยบาย Thailand 4.0 มีจำนวนมาก เพราะปัจจุบันนายจ้างส่วนใหญ่มองเรื่องวุฒิการศึกษาเป็นอันดับที่ 5 ของการรับเข้าทำงาน แต่พ่อแม่กลับมองเป็นอันดับแรกของชีวิตลูก เพราะกลัวลูกไม่มีงานทำ การได้รับเกียรตินิยม แต่ไม่มีทักษะสามารถทำงานได้
"นายจ้างหลายคนพร้อมที่เลือกเด็กเกรดแย่ แต่แก้ไขปัญหา คิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่า การศึกษาปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดช่องว่าง และการพัฒนาบุคคลล่าช้า"
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า ในอดีตเคยใช้คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า วางระบบนโยบายพัฒนาต่าง ๆ ได้ปัจจุบันโทรศัพท์ก็ทำอะไรได้มากกว่าการโทร เล่นโซเซียลฯ แต่อาจเป็นเครื่องมือสร้างพัฒนาได้ดีกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งแรกที่ต้องให้ทุกคนเริ่มพัฒนา อย่างน้อยพัฒนาทำให้คนของเราเก่งขึ้นเป็น 2 เท่า
ดร. เกียรติอนันต์ กล่าวด้วยว่า ระบบการศึกษา ก็ควรพัฒนาให้ตรงจุดกลับพื้นที่นั้น ไม่ควรวางเป็นหลักสูตรกลางให้ทุกพื้นที่ต้องทำตาม เพราะแต่ละจังหวัดจะเข้าใจพื้นฐานของวัฒนธรรมเยาวชนได้ดีกว่า มองให้เห็นภาพหากนั่งคุยเรื่องปัญหาแต่ละพื้นที่พบเจอเรื่องเด็กมาสาย ก็จะพบกทม.ก็เป็น เชียงใหม่ก็เจอ ภูเก็ตก็มี แล้วสรุปผลการทำงานว่าจะวางหลักสูตรจากส่วนกลางให้ทุกจังหวัดนำไปทำ ผลที่ออกก็จะมีบ้างจังหวัดที่แก้ไขได้เร็ว ดังนั้นส่วนกลางควรวางเพียงเป้าหมายและแก่นสำคัญที่ต้องการ รูปแบบนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนที่เร็วกว่า บ้างจังหวัดอาจเป็นพี่เลี้ยงให้อีกจังหวัด
“ตอนนี้ควรจะตัดเสื้อให้เข้ากับคน วางหลักสูตรให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ โดยสามารถใช้ข้อมูลได้จากการชี้วัดปัญหาเป็นตัวเลข ที่บ่งบอกถึงความรุนแรง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้แต่ละพื้นที่ว่าควรแก้ตรงไหน ปัญหามีคล้ายกัน แต่ละความรุนแรงของปัญหาไม่เท่ากัน ดูได้จากตัวเลขการชี้วัด"