ดีเอสไอกับการตรวจสอบบริษัทเชฟรอน อย่าให้เป็นคลื่นกระทบฝั่ง
คดีที่เป็นคลื่นลูกใหญ่ขนาดนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นคลื่นกระทบฝั่ง รับรองว่าจะกลายเป็นคลื่นสึนามิที่สะเทือนแผ่นดินไทยและจิตใจคนไทยทั้งประเทศอย่างแน่นอน
หมายเหตุ : รสนา โตสิตระกูล โพสต์บทความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง "ดีเอสไอกับการตรวจสอบบริษัทเชฟรอน อย่าให้เป็นคลื่นกระทบฝั่ง"
--------
วันที่ 29 ตุลาคม 2559 ครบเวลา1ปีที่สำนักคดีภาษีอากรของดีเอสไอได้ทำหนังสือลงวันที่ 29 ตุลาคม 2558 ขอข้อมูลจากด่านมาบตาพุดเพื่อสืบสวนเกี่ยวกับการส่งออกน้ำมันไปยังเขตต่อเนื่องของบริษัทเชฟรอน (ไทย) จำกัด
การที่บริษัทเชฟรอน(ไทย)จำกัดอ้างว่าส่งออกน้ำมันไปยังเขตต่อเนื่องเพื่อให้ได้สิทธิยกเว้นภาษี แต่กลับนำไปขายให้กับบริษัทเชฟรอนสำรวจและผลิต(สผ.)จำกัด ซึ่งเป็นการนำไปใช้กับเรือสนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่วิ่งบริการอยู่ในน่านน้ำไทยจึงไม่น่าจะเป็นการส่งออก ใช่หรือไม่? และการที่เรือของบริษัทเชฟรอนสผ.จำกัดแล่นกลับเข้ามาท่ีสงขลาและถูกด่านสงขลาจับได้จำนวน8ลำนั้น เป็นหลักฐานว่า บริษัทเชฟรอน (ไทย)จำกัดไม่ได้ส่งออกน้ำมัน แต่ขายให้บริษัทในเครือเดียวกันมาใช้ภายในประเทศ จึงไม่น่าจะสามารถได้รับสิทธิทางภาษี ใช่หรือไม่?
นอกจากนี้การส่งออกน้ำมันไปเขตต่อเนื่องซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือบรรดาเรือประมงไทยที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับสมาคมประมงให้ได้ใช้น้ำมันเขียวในราคาถูกเพื่อไปจับปลานอกน่านน้ำดังนั้นบริษัทเชฟรอน(ไทย)จำกัดที่แจ้งว่าจะส่งออกน้ำมันไปยังเขตต่อเนื่องจึงต้องขายน้ำมันให้กับเรือประมงที่จดทะเบียนถูกต้องแล้วเท่านั้น ไม่สามารถขายให้เรือประมงที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนด้วยซ้ำไป
การที่ดีเอสไอเข้ามาขอข้อมูลเพื่อสอบสวนเรื่องนี้เพราะเห็นว่าบริษัทเชฟรอน(ไทย)จำกัดมีพฤติการณ์เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามพ.ร.บ ศุลกากร2469 ซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดที่เข้าลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ แต่หลังจากที่ดีเอสไอได้รับเอกสารการส่งออกของบริษัทเชฟรอน(ไทย)จำกัดตั้งแต่ปี2554-2558 ดีเอสไอก็เงียบหายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง คดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างไร แม้ผ่านมา1ปีแล้ว ทั้งที่เป็นคดีใหญ่ๆแบบนี้ควรที่จะทำอย่างรวดเร็วเพื่อระงับเหตุความเสียหายให้กับบ้านเมือง
จึงขอตั้งคำถามดังๆไปถึงอธิบดีดีเอสไอว่าเหตุใดคดีนี้จึงเงียบหายไป ขอให้ดีเอสไอออกมาตอบคำถามสังคมโดยไว การเงียบหายไปโดยไม่แจ้งความคืบหน้าไม่เป็นผลดีกับดีเอสไอ เพราะผลประโยชน์เรื่องส่วยน้ำมันยังคาใจสังคมอยู่ อาจทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่า การขอข้อมูลของดีเอสไอจะกลายเป็นอย่างสำนวนที่เรียกว่า"เตะถ่วง"หรือไม่?
นอกจากนี้ การจับเรือของเชฟรอนสผ.ที่ด่านสงขลา8ลำเมื่อต้นปี2557 และบริษัทเชฟรอนสผ.ยินยอมขอระงับคดีที่ด่านสงขลา โดยให้ยึดน้ำมันจำนวนแสนกว่าลิตร แต่ศุลกากรไม่มีที่เก็บน้ำมัน จึงขายน้ำมันไปเป็นเงิน48ล้านบาทและถือเป็นเงินไว้แทน การตกลงระงับคดีที่ด่านสงขลาเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากมูลค่าน้ำมันที่ยึดไว้เกิน 5แสนบาท เรื่องจบที่ด่านสงขลาไม่ได้ ต้องเสนอให้คณะกรรมการเปรียบเทียบระงับคดีตามพ.ร.บ ศุลกากรพิจารณาอนุมัติ แต่ผ่านมาแล้ว เกิน2ปีครึ่ง เรื่องก็ยังค้างคาอยู่ แทนที่จะมีการสรุปปิดคดีนี้เพื่อเอาเงิน48ล้านบาทส่งเข้าเป็นเงินแผ่นดินต่อไป
ก็ต้องถามดังๆไปถึงผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจว่า เหตุใดจึงปล่อยให้เรื่องค้างคายาวนานเช่นนี้
การที่บริษัทเอกชนใหญ่บริษัทใดก็ตามที่มาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศหนึ่ง แต่มาเอาเปรียบประเทศนั้นด้วยการพยายามหาช่องทางหลีกเลี่ยงภาษีเช่นนี้จะสมควรหรือไม่ แม้แต่บริษัทปิโตรเลียมอื่นก็ยังไม่กล้าทำ การที่บริษัทเชฟรอนกล้าทำเช่นนี้ เพราะอะไร
ถ้าหากบริษัทไทยไปมีพฤติการณ์เยี่ยงนี้
เย้ยกฏหมายประเทศสหรัฐอเมริกาบ้าง
คดีจะถูกเตะถ่วงให้ล่าช้าเช่นนี้หรือไม่?
อย่างไรก็ตาม การตบมือข้างเดียวย่อมดังไม่ได้ หากไม่มีมืออีกข้างมาช่วยตบด้วย
ข้าราชการไทยต้องพิสูจน์ตนเองว่าทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตให้ประจักษ์แก่สายตาประชาชนที่เฝ้ามองอยู่ ให้สมกับที่เป็นข้ารับใช้แผ่นดิน ควรมีสำนึกในการเทิดทูนพระองค์ท่านด้วยการกระทำที่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
คดีที่เป็นคลื่นลูกใหญ่ขนาดนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นคลื่นกระทบฝั่ง รับรองว่าจะกลายเป็นคลื่นสึนามิที่สะเทือนแผ่นดินไทยและจิตใจคนไทยทั้งประเทศอย่างแน่นอน