ยูเอ็นสดุดีถวายพระเกียรติในหลวง ร.9 กษัตริย์นักพัฒนา
ยูเอ็นสดุดี ถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ยอมรับเป็นกษัตริย์นักพัฒนา
วันที่ 28 ตุลาคม 2559 เวลา 10.00 น. (21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)ณ หอประชุมสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีวาระการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ โดยการสดุดีและถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งก่อนการประชุม มีการยืนสงบนิ่งถวายความไว้อาลัย ก่อนที่นายปีเตอร์ ธอมป์สัน ประธานสมัชชาสหประชาชาติเริ่มกล่าวสดุดีเป็นคนแรก
ต่อด้วยนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวยกย่องการทรงงาน และความประทับใจที่ได้เข้าเฝ้าพระองค์
จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้ผู้แทนภูมิภาคต่าง ๆ ขึ้นกล่าวสดุดี ซึ่งถือเป็นโอกาสพิเศษที่มีขึ้นไม่บ่อยนัก อาทิ นางซามานธา เพาเวอร์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศไทย ตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชชนก ได้เสด็จเข้าศึกษา ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงศึกษาในหลักสูตรเตรียมพยาบาล Simmons College ไปจนถึง Bhumipol Square เมืองเคมบริดจ์ นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ที่ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพ รวมถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลย เดช ที่แก้ปัญหาความยากจน โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่เรียกว่าโครงการแก้มลิง เป็นต้น (อ่านประกอบ:Remarks at a UN General Assembly Tribute to the Memory of His Majesty King Bhumibol Adulyadej)
ปิดท้ายนายวีระชัย พลาศัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ผู้แทนจากประเทศไทย ขึ้นกล่าวขอบคุณผู้แทนภูมิภาคต่าง ๆ ที่กล่าวสดุดี พร้อมกับระบุด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนามนุษย์โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง จึงเป็นที่มาของโครงการพระราชดำริกว่า 4 พันโครงการ นำไทยจากประเทศด้อยพัฒนาขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา โดยเฉพาะ ปี 2549 UNDP ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แก่พระองค์ท่าน
"สำหรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย"
|