เผยรายงานต่างชาติเชียร์บัตรทอง ขณะที่ศึก สปสช.ยังกรุ่น
จี้ปลดนายกสมาคม รพ.เอกชนจากบอรด์ สปสช.เพราะลดทอนสิทธิผู้ป่วยไต สพศท.โต้กลับให้ปลดบอร์ดสายเอ็นจีโอฐานไม่ร่วมประชุม ด้านต่างชาติเชียร์บัตรทองเป็นแบบอย่างช่วยคนจน แต่จะก้าวต่อต้องฝ่าการเมือง
วันที่ 24 ม.ค.55 ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และ กลุ่มผู้ป่วยไตวายรักหลักประกันสุขภาพ แถลงการณ์เรียกร้องให้นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เสนอ ครม.ถอดถอน นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ออกจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ภายใน 7 วัน เพราะพฤติกรรมเสื่อมเสียตามมาตรา 6(6) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และให้ดำเนินคดีอาญาฐานละเมิดกฏหมายทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (ฮั้ว) แถลงการณ์ระบุว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) สร้างความหวังให้ผู้ป่วยไตวายกว่า 4 หมื่นคนเพราะได้ขยายสิทธิบริการทดแทนไต ทำให้ไม่ต้องล้มละลาย แต่ นพ.เอื้อชาติออกหนังสือขอให้โรงพยาบาลเอกชนในสังกัดสมาคม ไม่เข้าร่วมระบบเพราะจะเสียราคา
ด้านผู้แทนสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย(สพศท.) ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ครม. ให้ปลดบอร์ด สปสช.สัดส่วนตัวแทนภาคประชาชน ได้แก่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ตัวแทนด้านผู้สูงอายุ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนด้านเกษตรกร นางสุนทรี เซ่งกี่ ตัวแทนด้านผู้ใช้แรงงาน นายนิมิตร เทียนอุดมตัวแทนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี และนายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ตัวแทนด้านคนพิการ เนื่องจากทั้ง 5 รายไม่เข้าร่วมประชุมสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิถึง 3 ครั้งเป็นเหตุให้ไม่ครบองค์ประชุม และยังนำเหตุผลดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครองเพื่อให้การทำหน้าที่ของบอร์ดชุดใหม่ติดขัด สพศท. ยังเรียกร้องรัฐบาลเก็บ 30 บาทอีกครั้ง เนื่องจากการยกเลิกเก็บเงินทำให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการล้นทะลักทุกโรงพยาบาล และขอให้ขยายเพดานเงินชดเชยเยียวยาค่าเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯมากกว่าเดิม เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์
วันเดียวกัน ทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ นำเสนอรายงานประเมินผลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยทศวรรษแรก(พ.ศ. 2545 - 2554) ว่าประสบความสำเร็จหลายด้าน แต่มีความท้าทายที่ต้องพัฒนาต่อในทศวรรษหน้า โดย Dr.Timothy Grant Evans หัวหน้าทีม กล่าวว่าบัตรทองครอบคลุมคนไทยถึง 47 ล้านคนหรือ 75% ของทั้งหมด ระบบนี้เกิดในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย(พ.ศ. 2540)ขณะที่ไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 1,900 เหรียญสหรัฐ มีเสียงคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจำนวนหนึ่ง แต่ระบบก็ยังสามารถขยายความครอบคลุมอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ประเทศร่ำรวยก่อนจึงจะเริ่มนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ทั้งนี้ยังพบว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้เพิ่มขึ้น ลดภาระรายจ่าย ปกป้องครัวเรือนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลที่สูง
ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ยังระบุว่าจำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.41 ครั้ง/คน/ปี ในปี พ.ศ. 2546 เป็น 3.64 ครั้ง/คน/ปีในปี 2554 ขณะที่อัตราการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มจาก 0.067 ครั้ง/คน/ปี เป็น 0.119 ครั้ง/คน/ปีในช่วงเดียวกัน ครัวเรือนที่ล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี 2538 เหลือร้อยละ 2.8 ในปี 2551 ป้องกันครัวเรือนไม่ให้ยากจนลงได้กว่า 8 หมื่นครัวเรือน ระดับความพึงพอใจของประชาชนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 83 ในปี พ.ศ. 2546 เป็นร้อยละ 90 ในปี พ.ศ. 2553
ด้าน Dr.Maureen E.Birmingham ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าบัตรทองไทยให้บทเรียนที่มีประโยชน์ต่อนานาประเทศที่กำลังมุ่งไปสู่การจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชน เช่น ความจำเป็นที่ต้องการการสนับสนุนจากการเมืองระดับสูงในการดำเนินนโยบาย ศักยภาพเชิงวิชาการในการออกแบบระบบและชุดสิทธิประโยชน์ที่รอบด้าน ศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะดำเนินนโยบาย การปฏิรูปด้านการเงินการคลัง รวมถึงความโปร่งใสของโครงสร้างการอภิบาลระบบ
ทั้งนี้ ดร.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายจากการสรุปบทเรียน 10 ปีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ 1)นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องเป็นวาระแห่งชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ 2) การพัฒนาโครงสร้างระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะที่ระดับปฐมภูมิให้ครอบคลุมโดยมีกำลังคนด้านสุขภาพที่พอเพียง และ 3) การออกแบบระบบที่ดี เช่น ระบบงบประมาณและการจ่ายเงินสถานพยาบาลแบบปลายปิด ระบบคู่สัญญา ที่แยกบทบาทความรับผิดชอบชัดเจน รวมทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมรอบด้านให้แก่ประชาชน
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่าผลประเมินยังระบุความท้าทายใหม่ คือการแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้าระหว่าง สปสช. และสถานพยาบาลต่างๆทั้งรัฐและเอกชน การสร้างความเป็นธรรมระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพหลัก การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนและระบบบริการสุขภาพ โดยมุ่งเน้นที่สิทธิด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มขึ้น การสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็ง การพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาวในชุมชนและครอบครัว นอกจากนี้ สธ.ควรเป็นผู้นำผลักดันการกระจายบุคลากรด้านสุขภาพ และพัฒนานโยบายสร้างความเข้มแข็งกลไกอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยกระบวนการสรรหาผู้แทน การพัฒนาระบบให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนระดับนโยบายต่างๆ.