ดร.สุเมธ แนะเก็บน้ำไว้ใช้ เหมือนเอาเงินฝากแบงก์ ออมให้พอ จะใช้มาถอน
มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงนามความร่วมมือ “การพัฒนาและขยายผลเครือข่ายการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ” ดร.สุเมธ ย้ำชัดการอนุรักษ์ป่า ให้คนอยู่กับป่าให้ได้ตามแนวพระราชดำริ เป็นวิธีที่ดีที่สุด
วันที่ 28 ตุลาคม มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิอุทกพัฒน์ในบรมราชูปถัมภ์และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงนามความร่วมมือเรื่อง “การพัฒนาและขยายผลเครือข่ายการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 และเพื่อขยายผลการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริด้านการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง ปัญหาพื้นที่ต้นน้ำถูกทำลายไปเป็นที่ประจักษ์ ส่งผลตามมาต่อส่วนรวมของประเทศ เหมือนที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าปิง วัง ยม น่าน ตาย เจ้าพระยาก็ตาย หากไม่แก้ไขก็จะประสบความวิบัติอย่างแน่นอน อีกประการคือพื้นที่ต้นน้ำอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งก็ต้องเห็นใจว่า ดำเนินการไปก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่ถ้าจับมือทำงานเป็นเครือข่ายกับชุมชนในนามประชารัฐก็จะสำเร็จดังที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยรับสั่งว่า ถ้าประชาชนไม่ร่วมด้วย ราชการทำไปก็ไม่สำเร็จ
"ช่วงถวายงานใหม่ๆ เคยรับสั่งสำคัญว่า เมื่อไหร่จะมีป่าไม้ชุมชน คือให้ประชาชนเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลป่าไม้เอง พระองค์รับสั่งมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทำอย่างไรให้ประชาชนปกป้อง ฟื้นฟูด้วยตนเอง ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานแนวทางไว้ครบหมดแล้ว"
ดร.สุเมธ กล่าวถึงการบุกรุกป่าเป็นปัญหาไม่รู้จบ ดังนั้นจะทำอย่างไรจะให้ประชาชนออกจากป่าทั้งหมด ก็ทำได้แค่บางพื้นที่ แต่ที่สำคัญคือต้องให้คนอยู่กับป่าให้ได้ตามแนวพระราชดำริ เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะถ้าป้องกันอย่างเดียวก็คงจัดการได้ไม่หมด แต่ทั้งนี้ต้องมีเงื่อนไข โดยชาวบ้านต้องไม่ขยายการทำลายป่า ถ้าคนอยู่กับป่าได้ก็จะยั่งยืน มีน้ำใช้ตลอดปี ไม่ต้องตัดไม่เพิ่ม ใช้ประโยชน์เฉพาะในพื้นที่ที่กรมอุทยานฯจัดไว้ให้อย่างพอเพียง ซึ่งที่ผ่านมามีผลสำเร็จปรากฎให้เห็นหลายพื้นที่ เช่น ที่ห้วยปลาหลด จ.ตาก และควรต้องขยายผลออกไปอีก
นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ฝากถึงการจัดการน้ำที่สำคัญในปัจจุบันว่า ต้องเก็บน้ำไว้บ้าง อย่าเพียงแต่พอมีน้ำแล้วสูบทิ้ง เพราะน้ำจะมา 3 เดือน ขณะที่เหลืออีก 9 เดือนเราก็ต้องมีน้ำใช้ โดยต้องมีการคำนวณการใช้น้ำ เพราะในแต่ละกิจกรรมใช้น้ำไม่เท่ากัน หลังจากนั้นก็ให้เริ่มเก็บน้ำ เหมือนเป็นการฝากเงินในธนาคาร ถ้าจะใช้ต้องมาถอนแต่ต้องมีออมอย่างเพียงพอ
ด้านดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวถึงความสำเร็จการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ว่า เริ่มจาก 2 ชุมชนในปี 2546 และขยายผลอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมี 60 ชุมชนแกนนำ ใน 19 ลุ่มน้ำ รวมแล้วกว่า 603 เครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ จัดการตามแนวพระราชดำริ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยขณะนี้กำลังดำเนินการขยายผลไปยัง อ.บ่อเกลือใต้ จ.น่าน เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ มีการจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน
ขณะที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงแนวทางดำเนินงานร่วมกัน 3 แนวทาง 1.จัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชนและภาคประชาชน 2.พัฒนาแนวหรือพื้นที่กันชน ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เช่น ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ป่าเปียก ขุดคลองรอบ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น สร้างฝายกักเก็บและตักตะกอน เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพิ่มแนวกันไฟป่าเปียก และสร้างแนวกันชน เพื่อป้องกันปัญหาบุกรุกป่า และ 3.พัฒนาให้เหมาะสมตามภูมิสังคม บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ลงมือทำอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างตัวอย่างความสำเร็จ เพิ่มพื้นที่วนเกษตร มีกองทุนและเรือนเพาะกล้าพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มบริหารจัดการทรัพยากรดินน้ำ ป่า มี กฎ กติกา มีวิธีจัดการ แผนงานที่ชัดเจนและขยายผลจนประสบความสำเร็จ โดยจะต้องมีการรายงานผลการทำงานมายังมูลนิธิฯ และกรมอุทยานฯต่อเนื่องด้วย