ยอดภาษีค้างจ่ายพุ่ง1.1แสนล./ปี! สตง.ชี้ทำปท.เสียโอกาสพัฒนา-จี้สรรพากรแก้ไข
สตง.สรุปผลสอบการจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร ระหว่างปี 53-57 พบยอดภาษีค้างจ่ายพุ่งสูงขึ้น เฉลี่ยปีละ 1.1แสนล. ชี้ทำรัฐเสียโอกาสนำเงินมาพัฒนาปท.ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม -จี้แก้ไขทบทวนระบบใหม่
ตัวเลขภาษีคงค้างจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่ปี 2553-2557 มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยประมาณปีละ 112,487.79 ล้านบาท ทำให้รัฐสูญเสียโอกาสในการนำเงินที่จะได้จากการจัดเก็บภาษีอากรค้างดังกล่าว ไปใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานสรุปผลการตรวจสอบการจัดการภาษีอากรค้าง ของ กรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นรายได้ให้รัฐบาลนำไปใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2553 - 2557 มีภาษีอากรที่จัดเก็บได้เฉลี่ยปีละ 1,578,537.02 ล้านบาท
ส่วนในกรณีที่ผู้เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง กรมสรรพากรจะใช้มาตรการตรวจสอบและประเมินภาษีอากร หากมีผู้เสียภาษีไม่ยินยอมชำระภาษีตามการประเมินจะทำให้เกิดเป็นภาษีอากรค้าง
อย่างไรก็ตาม จากผลการตรวจสอบพบว่า ภาษีอากรคงค้าง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 - 2557 มีภาษีอากรค้าง จำนวน 100,483.68 ล้านบาท 102,976.34 ล้านบาท 106,209.72 ล้านบาท 116,720.69 ล้านบาท 136,048.53 ล้านบาท ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 เมษายน 2558) เฉลี่ยประมาณปีละ 112,487.79 ล้านบาท ทำให้รัฐสูญเสียโอกาสในการนำเงินที่จะได้จากการจัดเก็บภาษีอากรค้างดังกล่าว ไปใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ สตง.สรุปว่าสาเหตุปัญหาว่ามาจากหลายกรณี อาทิ การกำหนดเป้าหมายการเร่งรัดภาษีอากรค้างยังไม่มีความท้าทายตามหลักการกำหนดเป้าหมายที่ดีทำให้ไม่ก่อให้เกิดการคิดค้นริเริ่มวิธีการใหม่ๆ เพื่อการเร่งรัดภาษีอากรค้าง ส่วนการจำหน่ายหนี้ภาษีอากรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยปีงบประมาณปี 2556 - 2557 กรมสรรพากรจำหน่ายหนี้ภาษีอากรได้ต่ำกว่าเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 19.12 และ 20.52 ตามลำดับเนื่องมาจากในช่วง 2 ปีดังกล่าว ไม่มีการจัดประชุมคณะกรรมการจำหน่ายหนี้ภาษีอากร ทำให้มีภาษีอากรค้างรอการพิจารณาจำหน่ายหนี้ภาษีอากร รวม 21 ราย จำนวนเงิน 3,145.36 ล้านบาท
นอกจากนี้ การกำหนดกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เร่งรัดไม่สอดคล้องกับปริมาณงาน โดยมีจำนวนสำนวนต่อเจ้าหน้าที่เร่งรัดตามกรอบอัตรากำลังแตกต่างกันมาก ส่วนการจัดสรรเจ้าหน้าที่เร่งรัดไม่เป็นไปตามกรอบอัตรากำลัง โดยส่วนใหญ่มีจำนวนเจ้าหน้าที่เร่งรัดปฏิบัติงานจริงน้อยกว่ากรอบอัตรากำลัง และยังมีบางหน่วยงานมีจำนวนเจ้าหน้าที่เร่งรัดปฏิบัติงานจริงมากกว่ากรอบอัตรากำลัง
ขณะที่เจ้าหน้าที่ไม่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการขายทอดตลาด โดยกรมสรรพากร มีอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดไว้แล้วยังไม่สามารถขายทอดตลาดได้จำนวนมากรวมทั้งสิ้น 2,343 แปลง แบ่งเป็นทรัพย์สินที่ทราบราคาประเมินจำนวน 1,795 แปลง มูลค่า 4,696.50 ล้านบาท และทรัพย์สินที่ไม่ทราบราคาประเมินจำนวน 548 แปลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้น สตง.ได้มีข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ควรทบทวนการกำหนดเป้าหมายการเร่งรัดภาษีอากรค้าง ให้มีความท้าทาย เพื่อนำไปสู่การคิดค้นริเริ่มวิธีการใหม่ๆ ในการเร่งรัดภาษีอากรค้าง
2. เร่งรัดให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการการจำหน่ายหนี้ภาษีอากร เพื่อพิจารณาจำหน่ายหนี้ภาษีอากรที่รอการดำเนินการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
3. ทบทวนการกำหนดกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เร่งรัดให้สอดคล้องกับปริมาณงาน
4. ทบทวนการจัดสรรเจ้าหน้าที่เร่งรัดให้เป็นไปตามกรอบอัตรากำลัง
5. เร่งรัดการแก้ไขประมวลรัษฎากร เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินแทนกรมสรรพากรและการกำหนดแนวทางการดำเนินการร่วมกับกรมบังคับคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานตรวจสอบของสตง. ยังพบปัญหาการเร่งรัดหนี้ภาษีอากรในระบบ DMS ว่า มีการแสดงภาษีอากรค้างสถานะที่ 1 ไม่ถูกต้อง โดยมีอายุภาษีอากรคงค้างในสถานะที่ 1 ไม่ควรเกิน 60 วัน แต่ในรายงานดังกล่าวมีอายุมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป รวมจำนวน 43,465 รายใบแจ้ง จำนวนเงิน 7,643.41 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าการรายงานผลการเร่งรัดภาษีอากรค้างของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่แสดงสถานะไม่ถูกต้อง จำนวน 3 ราย 183 ใบแจ้ง จำนวนเงิน 650.02 ล้านบาท ซึ่งการรายงานผลการเร่งรัดภาษีอากรค้างไม่ถูกต้อง ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการติดตามควบคุม และวางแผนการบริหารการจัดการภาษีอากรค้างของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรภาค และสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งสตง.ได้แจ้งให้กรมสรรพากรปรับปรุงแก้ไขการทำงานของเจ้าหน้าที่เช่นกัน