องค์ภาฯ : "ในหลวง" คือแรงบันดาลใจ ทำโครงการช่วยผู้ด้อยโอกาส
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานเปิดงาน ครบรอบ 10 ปี ของการดำเนินงานตามโครงการกำลังใจ ภายใต้กิจกรรม "กำลังใจ" 1 ทศวรรษ สู่ "นวัตสังคมไทย"
วันที่ 27 ตุลาคม กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดกิจกรรมครบรอบ 10 ปี ของการดำเนินงานตามโครงการกำลังใจ ภายใต้กิจกรรม "กำลังใจ" 1 ทศวรรษ สู่ "นวัตสังคมไทย" ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพ โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานเปิดงาน
ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานพระราชดำรัสว่า โครงการกำลังใจ มีแรงบันดาลใจในการเริ่มทำโครงการนี้จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงงานเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย และอีกเหตุผลหนึ่งคือได้ศึกษาในด้านนิติศาสตร์จึงได้เห็นปัญหาของสังคมไทย คือ ในกระบวนการยุติธรรมบางครั้งผู้ด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งในบางครั้งทุกคนต้องการกำลังใจ และทุกคนสามารถเป็นกำลังใจให้กันและกันได้ ซึ่งหมายถึงว่า การมีเมตตากรุณาและมีน้ำใจต่อกัน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ที่ต้องการช่วยกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในด้านกระบวนการยุติธรรม
"โครงการนี้จะเริ่มต้นจากกลุ่มผู้ต้องขัง ไปสัมผัสปัญหาของผู้ต้องขังทั้งหญิงและชายในเรือนจำบางแห่ง ทำให้ได้ค้นพบปัญหา และวิธีในการแก้ไขปัญหาอะไรหลายๆอย่าง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโลก เช่น ในเรื่องการจัดทำมาตรฐานในการปฎิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ซึ่งรู้จักในชื่อข้อกำหนดกรุงเทพ นับว่าเป็นสิ่งที่เริ่มมาจากจุดเล็กๆ
ตั้งแต่เริ่มโครงการจนบัดนี้เป็นเวลา 10 ปี ได้ประเมินผลการทำงาน พบว่า โครงการพยายามที่จะทำงานเชิงลึกสัมผัสกับปัญหาจริงๆ และเมื่อทราบปัญหาความต้องการของผู้ต้องขังก็จะแสวงหากิจกรรมและแนวทางใหม่ๆที่จะช่วยพัฒนาชีวิตของผู้ต้องขัง รวมทั้งพัฒนาแนวทางที่จะให้ผู้ต้องขังมีการปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น
ส่วนความพยายามที่จะไม่ส่งคนเข้าเรือนจำนั้น เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดกรุงเทพ การที่ไม่ส่งคนเข้าเรือนจำ หมายถึงว่า การหาแนวทางการปรับพฤติกรรม นิสัยด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งให้มีความเหมาะสมกับธรรมชาติของคดีและธรรมชาติของผู้ต้องขังเหล่านั้น"
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานพระราชดำรัสอีกว่า ในอนาคตมีความตั้งใจว่าอาจจะตั้งกลุ่มหรือชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อที่ให้คนที่เคยผ่านโครงการกำลังใจมาแล้วได้มีโอกาสมารวมตัวกันทำประโยชน์เพื่อสังคมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกใหม่ให้ได้กลับไปยืนอยู่ในสังคมอย่างสง่างาม และพยามเผยแพร่ความรู้แก่คนไทยผ่านการทำกิจกรรม การศึกษาข้อมูลวิชาการจากภายในและต่างประเทศ ซึ่งถ้าหากเกิดผลดีก็จะส่งต่อให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่นี่รับไปดำเนินงานเป็นงานประจำ
"ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่โครงการกำลังใจได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายนำไปสู่การปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขระเบียบต่างๆ และพยายามจัดหาแนวทางที่ดีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากท่านทุกคน รวมทั้งฝากคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพที่จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร คือ ขอให้ทุกคนให้โอกาสผู้ที่เคยผิดพลาดและช่วยกันให้กำลังใจและส่งเสริมผู้ที่เคยผิดพลาดให้ได้ศึกษาเรียนรู้และกลับตัวคืนสู่สังคม ซึ่งการให้โอกาสนั้นหมายถึง การไม่รังเกียจ ให้อภัย อันเป็นการสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ที่เคยผิดพลาดและเป็นการน้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาปรับใช้"