10 ปีโครงการกำลังใจ เลขาธิการศาลฯ ชี้เปลี่ยนมุมมองผู้พิพากษาที่มีต่อยาเสพติด
10 ปี โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ทำให้คนในบ้านเมืองนี้ การเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเฉพาะกับผู้พิพากษา
วันที่ 27 ตุลาคม กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดกิจกรรมครบรอบ 10 ปี ของการดำเนินงานตามโครงการกำลังใจ ภายใต้กิจกรรม "กำลังใจ" 1 ทศวรรษ สู่ "นวัตสังคมไทย" ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพ โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานเปิดงาน (อ่านประกอบ:องค์ภาฯ: "ในหลวง" คือแรงบันดาลใจ ทำโครงการช่วยผู้ด้อยโอกาส)
จากนั้น ภายในงานมีการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักกฎหมาย ต่อการดำเนินงานตามโครงการกำลังใจฯ
ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีคดีอาญาเฟ้อว่า เกิดจากการมีความผิดมาก ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการกำหนดโทษที่รุนแรงเกินความจำเป็นในเรื่องของยาเสพติด ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ คือ ถ้าใครมียาบ้าในครอบครอง 375 มิลลิกรัม จะถือว่าเป็นผู้ผลิตและผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายโทษคือประหารชีวิต ซึ่งเมื่อเอามาเทียบกับยาพารามีขนาด 500 มิลลิกรัม เท่ากับว่ามียาบ้า 1 เม็ดขนาดเท่ายาพารา ก็สามารถติดคุกมีโทษประหารได้แล้ว
"ลองคิดดูว่าสมเหตุสมผลขนาดไหน เทียบกับการพกปืนไปพร้อมจะยิงคนได้ตลอดเวลาแต่ปรับแค่ 200-500 บาทเท่านั้น"
ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวถึงผลกระทบไม่ใช่เพียงเท่านี้ เพราะพอโทษสูง การคอร์รัปชั่นก็สูงตามไปด้วย ฉะนั้นผู้ที่ติดคุกไม่ได้ขึ้นอยู่ว่า เขาทำผิดหรือไม่ได้ทำผิด แต่ขึ้นอยู่ว่า มีเงินจ่ายหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าคนที่มีเงินจ่ายก็ไม่ต้องติดคุก ส่วนคนที่ไม่มีเงินจ่ายก็ติดคุก นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเราเข้าคุกโดยไม่จำเป็น อีกส่วนหนึ่งคือข้อสันนิฐานของข้อกฎหมายที่มีการเพิ่มโทษขึ้นเพื่อสะดวกในการบังคับใช้ของผู้ปฎิบัติงาน เสนอว่าควรจะมีการแก้กฎหมายในข้อนี้ ที่ผ่านมามีการจับยาบ้าได้หลายแสนเม็ดหลายล้านเม็ด แต่ไม่มีสักครั้งที่สามารถไปทำลายโรงงานผลิตยาบ้าได้ ตรงนี้ต้องแก้ไขอคติ คือ ต้องให้ความรู้คน ให้เข้าใจว่า ยาเสพติดไม่ได้มีโทษทุกอย่าง เรากำลังสร้างผีหลอกคน เช่น กัญชา กระท่อม ก็มีส่วนที่ดีสามารถรักษาคนได้อันนี้ก็ควรสกัดเอาสิ่งที่ดีๆออกมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์
โครงการกำลังใจ เปลี่ยนมุมมองผู้พิพากษา
ด้านนายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงโครงการกำลังใจสามารถทำในสิ่งที่ไม่มีใครในบ้านเมืองนี้ทำได้ คือ การเปลี่ยนมุมมองของผู้พิพากษาเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งผู้พิพากษาเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนความคิดยากที่สุด เพราะว่าอยู่กับเหตุผลอยู่กับผล ถ้าไม่มีเหตุผลทางแพ่งเพียงพอผู้พิพากษาไม่มีทางเปลี่ยนความคิดเด็ดขาด
"ผู้พิพากษาส่วนใหญ่มองว่า คดียาเสพติดเป็นคดีที่ร้ายแรงก็ต้องลงโทษอย่างรุนแรงเพื่อให้เป็นตัวอย่าง และไม่ให้ใครกล้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก และในเรื่องของการเปลี่ยนนโยบายยาเสพติด ขณะนี้ได้เปลี่ยนจากการปราบปรามที่รุนแรงมาเป็นการทำลายยาเสพติดอย่างรู้เท่าทัน ซึ่งนำไปสู่การยกร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยเรื่องของการทำให้บทลงโทษคดียาเสพติดได้รับสัดส่วนที่เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น"
เลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไม่มีใครตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับโทษของยาเสพติดที่มีความรุนแรงนั้น มีความเหมาะสมหรือไม่ เป็นธรรมกับจำเลยในคดียาเสพติดหรือไม่ ที่สำคัญก็คือเราไม่เคยรู้ตัวเลยว่า พวกเรามีส่วนทำให้เกิดโศกนาฎกรรมที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในการบังคับใช้กฎหมาย คือ การเอาคนที่ไม่สมควรที่ต้องติดคุกจำนวนมากมายมหาศาลต้องเข้าไปอยู่ในคุก ทั้งๆ ที่การทำโทษไม่ขนาดต้องติดคุกหรือสมควรที่ต้องโทษจำคุก หรือยาวนานอย่างที่เป็นอยู่
ส่วนรองศาสตราจารย์ อภิญญา เวชยชัย อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงทิศทางของโครงการกำลังใจที่กำลังจะดำเนินการต่อ คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับสวัสดิการที่ให้กับมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ต้องขัง การดูแลในสุขภาพองค์รวม เช่น จิตใจ ทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม นอกจากนั้นหลังจากผู้ต้องขังพ้นโทษยังจะต้องดูแลอย่างต่อเนื่องด้วย เนื่องจากมีนักโทษจำนวนมากที่เมื่อพ้นโทษแล้วยังสับสนทำอะไรไม่ถูก จึงต้องหาที่พักพิงให้แก่ผู้พึ่งพ้นโทษเหล่านั้นปรับตัว
"ปัจจุบันสิ่งที่มักพบปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ก็คือ ระบบของการเตรียมความพร้อมในการส่งผู้ต้องขังคืนสู่ครอบครัว สู่สังคม ยังมีไม่เพียงพอ นอกจากนั้นยังเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า พื้นที่ของผู้พ้นโทษเป็นพื้นที่ของหน่วยงานใด ในความเป็นจริงในส่วนของงานราชทัณฑ์ก็อาจจะคิดว่า พ้นจากภารกิจความรับผิดชอบของหน่วยงานไปแล้ว ทำให้บุคคลกลุ่มนี้แทบไม่มีที่ยืนในสังคม สิ่งที่ตามมาคือคนกลุ่มนี้ไม่สามารถมีคุณสมบัติเข้ารับสวัสดิการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกองทุนอะไรของรัฐก็ตามประเด็นนี้ไม่ใช่แค่ราชทัณฑ์ที่รับผิดชอบ ทุกกระทรวงที่เกี่ยวของจะต้องมาคิดร่วมกัน เกิดเป็นการบูรณาการของแผนการทำงาน เพื่อจะทำให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษสามารถที่จะได้มีหน่วยที่จะทำให้ได้รับการพักพิง มีหน่วยที่ทำให้เขาได้รับการดูแลตั้งหลักได้ใหม่"
รองศาสตราจารย์ อภิญญา กล่าวด้วยว่า สิ่งสุดท้ายที่มีความสำคัญมากก็คือ การปรับทัศนคติ ลดอคติความคิดของสังคมที่มีต่อผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ โดยการรื้อถอนความคิด ความรู้ และสร้างความรู้ชุดใหม่ที่ออกมาตีโต้ความรู้ชุดเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชุดความรู้ใหม่ในเรื่องของอนุพันธ์ยาเสพติดหรือประเด็นความไม่เป็นธรรมที่ผู้ต้องขังได้รับในกระบวนการยุติธรรม การทำเช่นนี้ก็เพื่อให้ผู้พ้นโทษมีที่ยืนในสังคม