สสส.ดึง อปท.หนุนชุมชนกำหนดนโยบายสุขภาวะเอง
สสส. ปลุกพลังชุมชนลุกขึ้นมาจัดการสุขภาพตนเอง ไม่รอรัฐ ดึง อปท.ทั่วประเทศเป็นกลไกขับเคลื่อน ชี้กกฏหมายเปิดให้กำหนดนโยบายสุขภาวะท้องถิ่น
วันที่ 24 ม.ค.55 ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดสัมมนาตลาดนัดความรู้ อปท.หัวใจการสร้างสุขชุมชน โดยมีตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)ขนาดกลางและขนาดเล็กกว่า 600 คน เข้าร่วม ทั้งนี้ ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่าสุขภาพไม่ใช่การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยรอบตัว การสร้างเสริมสุขภาพอยู่ในวิถีชุมชน จึงอยากให้ทุกชุมชนลุกขึ้นมาสร้างเสริมสุขภาพด้วยตัวเอง ซึ่ง อปท. มีส่วนสำคัญเพราะอยู่ใกล้ชุมชนมากที่สุด
"อปท.มีบทบาทจัดการด้านสุขภาพให้ครบวงจร ภาพที่ผ่านมาทุกคนมองว่าท้องถิ่นชอบทำงานก่อสร้าง แต่ปัจจุบันท้องถิ่นหลายแห่งทำงานให้ชุมชนมีความสุขได้ ซึ่ง สสส.ทำงานกับอบต.กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ จึงต้องการให้มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทำชุมชนให้มีความสุข” ผู้จัดการ สสส. กล่าว
นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่ากลไกท้องถิ่น มีขีดความสามารถสร้างสุขชุมชนได้โดยต้องมองปัญหาในบ้านเมืองทั้งระดับเล็กระดับใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข จะหวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยิ่งภาครัฐทำให้มาก ประชาชนก็ยิ่งอ่อนแอ คิดไม่เป็นทำไม่เป็น ทั้งนี้ปัญหาสำคัญอีกประการคือการขาดดุลอำนาจ ประชาชนมีพื้นที่ทางการเมืองน้อยและไม่สามารถเข้าถึงอำนาจในการจัดการทรัพยากร อำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ทางออกคือต้องเพิ่มอำนาจให้ประชาชนจัดการตนเองในพื้นที่ โดย อปท.ต้องเข้ามามีบทบาทตรงนี้ และภาคประชาสังคมต้องเข้าไปมีบทบาทถ่วงดุลย์กับ อปท.ซึ่งอาจถูกครอบงำโดยการทำงานแบบระบบราชการ
“ความรู้จากการเล่าเรียนไม่สอดคล้องกับชิวิตจริง การเรียนรู้ที่สูงขึ้นทำให้เด็กห่างบ้าน แต่ไม่มีทักษะในการแข่งขันกับโลกภายนอก เศรษฐกิจแม้จะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เพียงพอ และมีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม การดำรงชีวิตที่ขาดคุณภาพ การเข้าถึงสาธารณสุขไม่เท่าเทียม เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องสาธารณสุขอย่างเดียว แต่รวมถึงเรื่องปัญญา วิธีคิด สิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพจะอาศัยสาธารณสุขอย่างเดียวไม่เพียงพอ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ”
อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า กลไกระดับตำบล องค์กรท้องถิ่นต้องเข้ามาร่วมในการดูแลสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งมีกฏหมายรองรับ มีงบประมาณ มีบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งประเทศไทยมี อบจ. 76 แห่ง เทศบาล 2,010 อบต. 5,675 แห่ง มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมทั้งรายได้จากการเก็บภาษีมวลรวมประมาณ 4 แสนล้านหรือ 26% เมื่อปีที่ผ่านมาและจะเพิ่มเป็น 5 แสนล้านในปีนี้ จึงมีศักยภาพสูงในการทำงานพัฒนาหรือส่งเสริมเรื่องสุขภาพ
“มีกฎหมายรองรับมากมาย อปท.สามารถสร้างเสริมกิจกรรมสุขภาพในชุมชนให้เข้มแข็ง โดยทำงานร่วมกับชุมชน รวมทั้งการออกนโยบายสาธารณะในท้องถิ่นเพื่อดูแลชีวิตประชาชน ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง” นายพงษ์โพยมกล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “เปิดมิติใหม่งานสร้างสุขภาวะด้วยศักยภาพของทีมงานสร้างสุข อปท.” โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าการขับเคลื่อนท้องถิ่นให้ก้าวสู่สุขภาวะที่ดีนั้นสามารถทำได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวประชาชนเอง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน อีกสิ่งที่ อปท. ต้องคำนึงถึงคือการเติมเต็มความรู้ให้คนในชุมชน
“กองทุนสุขภาพประจำตำบลเป็นตัวอย่างโครงการสร้างสุขภาวะที่ประสบความสำเร็จ เริ่มตั้งแต่ปี 49 ปัจจุบันมีเครือข่ายเกือบทั่วประเทศ เป็นการทำงานร่วมกันของชุมชน อาศัยคนในท้องถิ่นจัดการกันเอง หน่วยงานภาครัฐเป็นเพียงผู้ชี้แนะ จนหลายแห่งมีรถพยาบาลฉุกเฉิน บุคลากรมีความสามารถ และพร้อมให้บริการแก่ประชาชนตลอดเวลา” ศ.ดร.ดิเรก กล่าว
ด้านนายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่าคนไทยขาดสุขภาวะที่ดีเนื่องจากขาดทักษะการคิดที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นควรหันมาปรับกระบวนการคิดใหม่ โดยภาครัฐต้องรับฟังและเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนมากขึ้น เป้าหมายหลักไม่ใช่การกระจายอำนาจการบริหารสู่ อปท. แต่เป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชนในท้องถิ่นให้บริหารจัดการเองภายใต้กรอบการดูแลของ อปท.
นายสมพร กล่าวต่อว่า ไทยมีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในสังคมได้ เป็นเพียงการเอื้ออำนวยต่อผู้มีอำนาจและพวกพ้องในการแสวงหาผลประโยชน์ ฉะนั้นต้องเปลี่ยนมาปกครองแบบสร้างฐานให้ชุมชนเสมือนฐานหลักของประเทศ ภาครัฐจะทำอะไรต้องถามชุมชนก่อน เพราะเป็นประชากรส่วนใหญ่ หากทำได้ไทยคงเจริญกว่านี้
ขณะที่นายนภดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันหลายท้องถิ่นมีการร่วมมือแก้ไขปัญหาของตนเองดีมาก เพราะมีความเข้าใจในพื้นที่ รวมทั้งบุคลากรก็เป็นคนในท้องถิ่นเอง จึงสามารถสื่อสารและช่วยเหลือได้ ดูได้จากเหตุการณ์อุทกภัยปลายปี 54 เครือข่ายประชาชนเกิดความเข้มแข็งสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการเอื้อเฟื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือและงบประมาณบางส่วนจาก อปท. ทั้งนี้คิดว่าหากมอบให้ท้องถิ่นจัดการงบประมาณเอง ประชาชนคงได้รับประโยชน์มาก.