แลรูปเล่าเรื่อง โดย ธงทอง จันทรางศุ
บัณฑิตที่มีโชคได้จับกระดาษแผ่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกระดาษแผ่นนั้นก็จะมีความหมายมากกว่ากระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยาย แลรูปเล่าเรื่อง "ใต้ร่มพระบรมราชูปถัมภก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรัชกาลที่ 9” ณ ห้อง 212 ชั้น 2 อาคารมหิตลาธิเบศร
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อุปนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงอธิบายกับหม่อมหลวง พีระพงศ์ เกษมศรี ว่า การที่ทรงยืนยันการจะพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระหัตถ์พระองค์เองแม้จะมีอาการพระประชวรนั้นมี 2 เรื่องที่สำคัญ คือ หนึ่งต้องการที่จะใกล้ชิดกับบัณฑิตใหม่แต่ละคนในวินาทีที่รับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น มือของบัณฑิตข้างหนึ่ง และพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวข้างหนึ่ง จับอยู่บนกระดาษแผ่นเดียวกัน ถ้าสองมือทำงานไม่พร้อมกันกระดาษก็จะล้นล่วงลง บัณฑิตที่มีโชคได้จับกระดาษแผ่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกระดาษแผ่นนั้นก็จะมีความหมายมากกว่ากระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ ต้องพระราชประสงค์ทรงสอนบัณฑิตที่อาจจะไม่ได้กลับมาเรียนหนังสืออะไรเพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยอีกแล้วว่า บางครั้งคนเราก็ต้องทำอะไรที่ไม่ใช่ความสุขของตนเองเป็นความเหนื่อยยาก อย่างเช่นที่พระองค์ทรงมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง แต่เพื่อประโยชน์ของคนอื่น
"สิ่งนี้ทรงสอนด้วยการกระทำให้เป็นแบบอย่างในเรื่องของการเสียสละเพื่อส่วนรวมและทรงหวังว่า บัณฑิตจะได้นำไปเป็นแบบอย่างและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป
พระมหากรุณาธิคุณในเรื่องเหล่านี้ปรากฎมากี่สิบปีมาแล้วก็ไม่รู้ บัณฑิตที่รับปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉพาะจุฬามหาวิทยาลัย 1.9 แสนคน แล้วถ้านับทั่วประเทศจะเป็นจำนวนมากมายแค่ไหน และไม่ใช่แต่เฉพาะปริญญาบัตรสิ่งที่พระราชทานให้กับคนไทยทุกคน 60 กว่าล้านคน นับคำนวนอะไรไม่ได้ พระบารมีมากมายจนเกินจะรำพัน"
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า สิ่งเหล่านี้อยากจะชวนให้ทุกคนช่วยกันจด ความจำอย่างเดียวอาจจะสูญหายไปตามกาลเวลา การบันทึกด้วยภาพก็เป็นส่วนหนึ่ง การจดโดยละเอียดเป็นสิ่งที่ชัดเจนกว่า เพราะแต่ละคนพบเจอแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้มีค่ามากในอนาคตและสิ่งนี้จะเป็นพยานให้โลกได้รู้ว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ไม่ใช่เพียงตำนานแต่เป็นความจริงที่มีคนไปสัมผัสมา เพื่อสักวันหนึ่งคนยุคนี้ไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว เรื่องราวที่เป็นพระบารมีก็ยังอยู่กับโลกนี้ไปอีกนานจากสิ่งที่ได้จดบันทึกไว้
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง เล่าอีกว่า พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.9 ที่มีต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีมากมายตั้งแต่เรื่องที่เล็กอย่างทรงเสด็จมาร่วมอภิปราย "ปัญหาการใช้คำไทย" ในกาประชุมทางวิชาการ ของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ ในช่วงปีพ.ศ.2505 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นก็ทรงเสด็จมาปลูกต้นจามจุรีห้าต้นให้กับทางมหาวิทยาลัยด้วย
ต่อมาในปีพ.ศ.2530 ก็ทรงเสด็จมางานจุฬาฯ วิชาการ รวมทั้งทรงเปิดพระบรมรูปสองรัชกาล
ในส่วนของที่พระองค์ทรงเสด็จมาเป็นประจำในทุกปีจะเป็นการเสด็จมาทรงดนตรีที่หอประชุมจุฬาฯ เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2508 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในหอประชุมสามารถขอเพลงได้
รวมถึงการเดินทางมาพระราชทานปริญญาบัตรที่ทรงเดินทางมาพระราชทานด้วยพระองค์เองทุกๆปีตั้งแต่พ.ศ.2493 จนถึงพ.ศ.2541 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่เสด็จมาด้วยพระองค์เอง
"เคยมีครั้งหนึ่งแพทย์ได้ตรวจและพบว่า หัวใจของท่านเต้นผิดปกติ จึงถวายคำแนะนำว่า ควรงดการออกพระราชทานปริญญาบัตร เพราะต้องทรงอริยาบทเดิมๆ เป็นเวลานาน แต่ก็ทรงตรัสกับหมอว่า ให้มาตรวจอีกทีวันพรุ่งนี้เช้า ซึ่งเป็นวันที่จะต้องเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงบ่ายสองโมง ซึ่งพอเช้าวันรุ่งขึ้นหมอมาตรวจพระอาการก็ยังไม่เป็นปกติ ท่านก็ทรงบอกกับหมอว่า บ่ายโมงค่อยมาตรวจใหม่ ซึ่งพระอาการก็ยังไม่ปกติ ท่านก็ทรงต่อรองกับหมอว่า งั้นขอเป็นมีพักครึ่งได้ไหม ทางมหาวิทยาลัยจึงจัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคยที่ต้องมีหมอมาประจำการ รถพยาบาลจอดรอข้างหอประชุม เคลียเส้นทางที่จะไปถึงโรงพยาบาลจุฬาฯเอาไว้เตรียมการ"