ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาล รธน.ไฟเขียว กรธ. แก้คำปรารภร่าง รธน.ใหม่
“…การบัญญัติกฎหมายจำเป็นต้องสะท้อนให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะความจำเป็นที่เกิดจากความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สามารถปกป้องการที่จำต้องกระทำตามความจำเป็นนั้นให้ชอบด้วยกฏหมายและหลักนิติธรรม อีกทั้งมิใช่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติอันเป็นสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้ หากแต่เป็นการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแห่งเหตุการณ์เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้นการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจึงสามารถกระทำได้…"
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ขาด กรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยการแก้ไขคำปรารภร่างรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดมีสองประเด็น ได้แก่
หนึ่ง การปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจะกระทำได้หรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ประกอบด้วยคำปรารภและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งโดยทั่วไปคำปรารภร่างรัฐธรรมนูญจะปรากฏอยู่ในชั้นการยกร่างของผู้มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเสนอผู้มีอำนาจนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป อาจกล่าวได้ว่า เมื่อมีเหตุให้ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในขณะนั้นจะกำหนดผู้มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจพิจารณา และผู้มีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ปี 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสนอให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม ซึ่งผลการออกเสียงประชามติ ปรากฏว่าทั้งร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ และ กรธ. ได้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามประเด็นเพิ่มเติมแล้ว ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นเพิ่มเติมแล้ว และ กรธ. ได้ปรับแก้ไขเนื้อหา และคำปรารภให้สมบูรณ์สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2559 กรธ. ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธญ แต่ปรากฏว่าในวันที่ 13 ต.ค. 2559 ซึ่งอยู่ระหว่างการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีผลทำให้คำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญซึ่ง กรธ. ได้จัดทำและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติและแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์และสอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติแล้วนั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
ซึ่งเมื่อตรวจสอบในเรื่องการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญในระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ปรากฏว่า มีเหตุการณ์เช่นว่านี้เกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องกระทำไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นับแต่ที่ประเทศไทยได้สถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี 2475 จนปัจจุบันเป็นเวลา 84 ปีเศษแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการตรารัฐธรรมนูญครั้งใดที่สำเร็จสมบูรณ์ได้โดยปราศจากความยินยอมของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ รัฐธรรมนูญทุกฉบับล้วนตราขึ้นและมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาทั้งสิ้น ตราบใดที่พระมหากษัตริย์ยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ยังคงเป็นเพียงร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากได้สมบูรณ์เป็นรัฐธรรมนูญไม่ ความข้อนี้จึงเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประการหนึ่ง
เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนให้ความเห็นชอบโดยผ่านการออกเสียงประชามติอันเป็นไปตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 บัญญัติไว้แล้ว มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าว
จึงเห็นว่า การบัญญัติกฎหมายจำเป็นต้องสะท้อนให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะความจำเป็นที่เกิดจากความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สามารถปกป้องการที่จำต้องกระทำตามความจำเป็นนั้นให้ชอบด้วยกฏหมายและหลักนิติธรรม อีกทั้งมิใช่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติอันเป็นสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้ หากแต่เป็นการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแห่งเหตุการณ์เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้นการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจึงสามารถกระทำได้
สอง ผู้ใดมีหน้าที่ปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ปี 2559 มาตรา 39/1 วรรคสิบ บัญญัติให้ กรธ. มีหน้าที่ปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านขั้นตอนการแก้ไขของ กรธ. ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และอยู่ในระหว่างขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วก็ตาม แต่โดยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นความจริงอันทำให้เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญอันไม่อาจคาดคิดมาก่อน ทำให้คำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญไม่ตรงกับความเป็นจริงดังกล่าว
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงยังไม่สมบูรณ์เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์ กรธ. ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำและปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญจึงมีหน้าที่ต้องปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สมบูรณ์และเป็นไปตามความจริงดังกล่าว ก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยชี้ขาดโดยมีมติเอกฉันท์ว่า การปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสามารถกระทำได้ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้มีหน้าที่ปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้สมบูรณ์ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป
อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม : http://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=861%3A2559-10-26-08-m-s&catid=280%3A2553-10-22-03-m-s&Itemid=335&lang=th