ป.ป.ช.ถอนเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยอำนาจชี้มูลผิด-ศาล ปค.สูงสุดรื้อคดีไต่สวนใหม่
ป.ป.ช. ถอนคำร้องจากศาลรัฐธรรมนูญ ปมให้วินิจฉัยอำนาจในการไต่สวน-ชี้มูลความผิดวินัยฐานอื่น นอกเหนือจากทุจริต เหตุรอให้ร่าง รธน. ใหม่ประกาศใช้ก่อน เผยศาลปกครองสูงสุดรับพิจารณารื้อคดีใหม่แล้ว
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยสรุปได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจชี้มูลความผิดเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ส่วนการชี้มูลความผิดฐานอื่นนั้นไม่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า มีอำนาจในการชี้มูลความผิดฐานอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางวินัยฐานผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือร่ำรวยผิดปกติด้วย ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดยังคลาดเคลื่อนกับบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. และเห็นควรให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนคดีใหม่อีกครั้งนั้น
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ยื่นศาล รธน.ตีความอำนาจฟัน จนท.ผิดวินัยร้ายแรง หลังศาล ปค.ชี้ทำไม่ได้)
ล่าสุด นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนี้ว่า ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ถอนคำร้องดังกล่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เนื่องจากเมื่อกลับมาพิจารณาในข้อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 อำนาจในการยื่นคำร้องดังกล่าวยังไม่ค่อยชัดเจน จึงยังไม่ควรยื่นคำร้องขณะนี้ แต่ควรรอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เสียก่อน และจะดูบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งว่า เป็นอย่างไร จากนั้นสำนักงาน ป.ป.ช. จะดูว่าควรยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจอีกหรือไม่ นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดได้รับคำร้องของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยดำเนินการไต่สวนคดีดังกล่าวใหม่อีกครั้งแล้ว ดังนั้นต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ว่า จะมีคำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวออกมาอย่างไร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรณีนี้ เกิดขึ้นภายหลัง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยในคดีพิพาทระหว่าง นายสมปอง คงศิริ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี โดยสรุปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยผู้ฟ้องคดีเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยในความผิดฐานอื่น เป็นการกระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมาย จึงไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี ที่จะถือเอารายงานการไต่สวนและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาพิจารณาโทษผู้ฟ้องคดี คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อโต้แย้งไปถึงศาลปกครองสูงสุด สรุปสาระสำคัญได้ว่า การวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดก้าวล่วงอำนาจหน้าที่และการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 (ขณะนั้น) มาตรา 223 วรรคสอง บัญญัติว่า อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดยังคลาดเคลื่อนกับบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.
ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องกลับมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการยื่นเรื่องเอง ก่อนที่ล่าสุดได้ถอนเรื่องแล้ว
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ถกปมศาล ปค.ชี้ไร้อำนาจฟันผิดคนทำราชการเสียหาย-ประพฤติชั่วร้ายแรง
ป.ป.ช.ค้านศาล ปค.! ยันมีอำนาจฟันผิดฐานทำราชการเสียหาย-ชงศาล รธน.ชี้ขาด