ผู้ว่ากทม.รณรงค์มาสนามหลวงพกกล่องข้าว นำกระบอกน้ำมาเอง ลดปริมาณขยะ
ผู้ว่าฯ กทม. ขอคนไทยช่วยลดการใช้โฟม หันมาใช้ภาชนะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม หรือใช้กล่องอาหาร กระบอกน้ำแทน ด้านอธิบดีคพ.พบอาหารที่แจกที่ท้องสนามหลวง 40 % ไม่มีการรับประทาน ถูกนำมาทิ้งขยะ
วันที่ 25 ตุลาคม 2559 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงข่าว "ศูนย์ปฏิบัติการอาสาสมัครฝ่ายขยะและสิ่งแวดล้อม ยกระดับกิจกรรม "ทำดีเพื่อพ่อ" อาสารณรงค์คัดแยกขยะ" เพื่อสรุปผลการบริหารจัดการขยะ การแยกขยะ และมาตรการลดขยะ ณ กองอำนวยการร่วม ท้องสนามหลวง
พล.ต.อ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จำนวนประชาชนจากทั่วทุกสารทิศ เดินทางเข้ามาถวายสักการะพระบรมศพฯ เป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการแจกจ่ายอาหารในพื้นที่ท้องสนามหลวง ส่งผลเกิดปริมาณขยะจำนวนเฉลี่ย 76 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะที่เป็นเศษอาหาร 32 ตันต่อวัน ขยะรีไซเคิล 45 ตันต่อวัน ขยะประเภทโฟมมีจำนวน 5 ตันต่อวัน
"เฉพาะวันที่ 22 ตุลาคม มียอดการใช้ภาชนะที่ทำด้วยโฟมจากหน่วยงานที่มาตั้งโรงครัวและแจกจ่ายอาหาร ถึง 280,500 ใบ จึงทำให้ขยะประเภทโฟมมากกว่าปกติ ซึ่งโฟมมีความคงทน ทนต่อแรงอัดได้สูง และใช้เวลาในการย่อยสลายนานกว่า 100 ปี ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องมาจากย่อยสลายยาก สิ้นเปลืองงบประมาณในการกำจัด และพื้นที่ฝังกลบ" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว และว่า เพื่อรณรงค์ลดใช้ภาชนะที่ทำด้วยโฟม ศูนย์อาสาสมัครได้เชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบโรงครัวขนาดใหญ่ที่ทำอาหารประจํา ได้แก่ มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และกองทัพบก ร่วมด้วยผู้ผลิตภาชนะชีวภาพ ได้แก่ บริษัท SCG Packaging ,ปตท. และบริษัท GRACE ประชุมเรื่องการลดใช้โฟม
พล.ต.อ อัศวิน กล่าวถึงจำนวนผู้มาลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครมีจำนวน 6,775 คน โดยมีจิตอาสาแยกขยะ 2,364 คน แบ่งการดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนสถานที่ อุปกรณ์ กำหนดรูปแบบการดำเนินการของจิตอาสาด้วยการเปิดรับสมัครจิตอาสา แต่อยากให้ประชาชนช่วยกันลดขยะด้วย
"ต่อไปจะใช้วิธีให้นำกล่องข้าวและกระบอกน้ำมาเอง สำหรับใครที่มาสนามหลวง เชื่อว่า ปริมาณขยะจะลดลง ปัญหาโฟมก็จะลดน้อยลง"
อาหารที่แจก 40 % กลายเป็นขยะ
ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และว่าที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้จำนวนจิตอาสาแยกขยะมีจำนวนมากกว่า 2,200 คน แต่จำนวนขยะโดยเฉพาะกล่องโฟม เศษอาหาร และอื่นๆ ยังมีตกค้างอยู่จำนวนมากเช่นกัน จากการสำรวจภายใน 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาอาหารที่แจกไปกลายเป็นว่า 40 % ไม่มีการรับประทานและนำมาทิ้งขยะ จึงอยากให้ทุกท่านทานด้วยความพอเพียง และช่วยลดขยะด้วย
ทั้งนี้ ทางทส.ได้จัดระบบการคัดแยกขยะ โดยเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิล เศษอาหาร และขยะทั่วไป โดยจะมีอาสาสมัครฝ่ายขยะและสิ่งแวดล้อมจะทำหน้าที่บอกเมื่อต้องการทิ้งขยะ
ดร.วิจารย์ กล่าวด้วยว่า 1.อยากให้ทุกคนที่รับของแจกและบริโภคให้พอดี 2.จะเปิดรับบริจาคกล่องอาหาร กระบอกน้ำ หากใครมีเป็นของตนเองก็สามารถนำมาใช้ได้เลย ซึ่งจะเป็นแนวคิดช่วยลดการปริมาณขยะโดยเฉพาะโฟมไปได้มาก
ส่วน ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร Volunteers for DAD กล่าวถึงการแยกขยะเป็นจุดเริ่มต้น โดยเป็นการบอกให้ประชาชน แยกขยะอย่างไร และดำเนินต่อไปด้วยการใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำกล่องอาหาร หรือกระบอกน้ำมา ก็สามารถลดปริมาณการใช้โฟมได้ทางหนึ่ง นำไปสู่การเรียนรู้ครั้งใหญ่สำหรับปัญหา เรื่อง ขยะ
ขณะที่ตัวแทน ปตท. กล่าวว่า ยินดีเป็นส่วนหนึ่งพร้อมสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยจะคิดราคาภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบพิเศษ รวมถึงสนับสนุนการใช้ภาชนะดังกล่าว ให้แก่ส่วนรับผิดชอบโรงครัว โดย ปตท. พร้อมสนับสนุนให้เพียงพอสำหรับการใช้ 100 วัน
บริษัท SCG Packaging จะสนับสนุนจำนวนหนึ่งด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ 1พ.ย.เป็นต้นไป
ด้านบริษัท GRACE ตัวแทนผู้ผลิตภาชนะจากชานอ้อย 100% กล่าวถึง ข้อดีของการใช้ภาชนะจากชานอ้อย เป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน เมื่อย่อยสลายจะกลายเป็นปุ๋ย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มจิตอาสากลุ่มใดสนใจ สามารถติดต่อได้ ในราคาพิเศษและตามความเหมาะสม และทางบริษัทพร้อมจะสนับสนุนเต็มที่
ทั้งนี้ จุดรับของบริจาค มีทั้งกองอำนวยกลาง หรือ ศูนย์ปฏิบัติการอาสาสมัคร (Volunteers for DAD) ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจะประสานงานกัน