"เปอร์มัส"ยื่นหนังสือยูเอ็นจี้สอบรัฐคุมตัวคนชายแดนใต้อ้างโยงแผนวินาศกรรม
"กลุ่มเปอร์มัส" ซึ่งเป็นศูนย์กลางนิสิต นักศึกษา นักเรียน และเยาวชนจากชายแดนใต้ ยื่นหนังสือถึงผู้แทนยูเอ็น เรียกร้องให้ตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคลที่มีภูมิลำเนาจากปลายด้ามขวานของฝ่ายความมั่นคงโดยอ้างเหตุป้องกันการก่อวินาศกรรมในกรุงเทพฯและปริมณฑล
เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 24 ต.ค.59 นายอัสมาดี บือเฮง เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ เปอร์มัส (permas) พร้อมคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปิดล้อมตรวจค้นและควบคุมตัวนักศึกษาเยาวชนปาตานีในกรุงเทพมหานคร ช่วงวันที่ 10-14 ต.ค.ที่ผ่านมา
นายอัสมาดี กล่าวว่า พวกตนมีความกังวลใจต่อการปฏิบัติการของภาครัฐในการจับกุม ปิดล้อม ตรวจค้นนักศึกษาและเยาวชนปาตานี ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยไม่อยู่บนพื้นฐานหลักนิติรัฐ นิติธรรมเท่าที่ควร เพราะการอ้างว่าการบุกจับกุมครั้งนี้เป็นเพราะหวั่นจะก่อเหตุการณ์วินาศกรรม ช่วงวันที่ 25-30 ต.ค. เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันครบรอบการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส (25 ต.ค.2547) ถามว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้มีหลักการทางกฎหมายอย่างไร
“ยิ่งรัฐทำเช่นนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เพราะส่งผลถึงความไม่เชื่อใจของประชาชนในพื้นที่ และเกรงว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้จะทำให้เยาวชนปาตานีถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง และเมื่อมีเหตุวินาศกรรมเกิดขึ้นที่ไหน เยาวชนปาตานีอาจจะถูกโยนความผิดทั้งที่ไม่ได้เป็นคนกระทำก็ได้”
“การจับกุมครั้งนี้เป็นการจับกุมที่มีตัวเลขสูงมาก (หลายสิบคน) ทำให้เรากังวลใจว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่ตากใบ เพราะที่ผ่านมาระดับนโยบายภาครัฐที่ออกมานั้น ดูเหมือนจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับทำตรงกันข้าม ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของเยาวชนอย่างมาก ที่ผ่านมาเราเรียกร้องผ่านรัฐมาโดยตลอด อยากให้รัฐแสดงความจริงใจในเรื่องนี้ด้วย” นายอัสมาดี กล่าว
นายอัสมาดี กล่าวด้วยว่า การยื่นหนังสือต่อยูเอ็นครั้งนี้ เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เนื่องจากพวกตนมีความเชื่อมั่นในกลไกการตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เพราะที่ผ่านมาเคยเรียกร้องไปยังรัฐบาลแต่ก็ไม่เป็นผล
“เมื่อเราร้องขอเข้าเยี่ยมเยาวชนที่ถูกจับกุม พาพ่อแม่พวกเขาขึ้นมา กทม. รัฐก็กลับส่งตัวกลับไปที่คุมขังที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แสดงให้เห็นว่ามักมีปัญหาทางเทคนิคตลอด”
เลขาธิการเปอร์มัส บอกด้วยว่า เท่าที่ติดตามการจับกุม ทราบว่ามีผู้ถูกจับถึง 105 คน แต่ที่มีรายชื่อออกมามีเพียง 44 คน ซึ่งมีบางส่วนที่ถูกปล่อยตัวมาบ้างแล้ว และที่ชัดเจนคือมี 5 คนที่ถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
สำหรับสาเหตุที่ไม่ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นั้น นายอัสมาดี บอกว่า ไม่มั่นใจการตรวจสอบของกสม. เพราะเป็นหน่วยงานที่อิงกับภาครัฐ และหลังจากนี้จะไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ในประเทศไทยด้วย
อนึ่ง การจับกุมบุคคลที่มีภูมิลำเนาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวแจ้งเตือนเรื่องการก่อวินาศกรรมในเดือน ต.ค. ซึ่งมีทั้งการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือเอซีดี และมีวันสัญลักษณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายวัน เช่น วันสถาปนาฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็น วันที่ 10 ต.ค. วันประกาศธรรมนูญของกลุ่มพูโลใหม่ วันที่ 12 ต.ค. และวันครบรอบ 12 ปีเหตุการณ์ตากใบ วันที่ 25 ต.ค.
ปฏิบัติการตรวจค้นแบบปูพรมเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. และมีปฏิบัติการต่อเนื่องมา ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร เช่น ย่านหัวหมาก รามคำแหง มีนบุรี และพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพฯ เช่น จ.สมุทรปราการ มีผู้ถูกควบคุมตัวหลายสิบคน แต่ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่าได้ปล่อยตัวผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว ยกเว้นบางคนที่ถูกดำเนินคดีฐานครอบครองยาเสพติด และบางส่วนมีข้อมูลเชื่อมโยงกับการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ
โดยในกลุ่มที่พบข้อมูลอาจเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบที่ชายแดนใต้มี 5 คน ถูกคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 ในช่วงแรก และมีการประสานงานจากญาติผ่านทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เพื่อเข้าเยี่ยม และสามารถเยี่ยมได้เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ก่อนที่ทังหมดจะถูกส่งตัวเข้าศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในวันที่ 15 ต.ค.
ขณะเดียวกัน มีการควบคุมตัวผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 2 คนจากในพื้นที่นราธิวาส และส่งตัวเข้าศูนย์ซักถามเช่นกัน รวมเป็น 7 คน โดยเกือบทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเป็น “ทีมศรีสาคร” และมีข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่าบางคนที่ถูกควบคุมตัว ยอมรับสารภาพว่ามีแผนก่อวินาศกรรมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจริง แต่กลุ่มเปอร์มัสไม่เชื่อว่ามีการรับสารภาพ และไม่เชื่อว่าเป็นการควบคุมตัว รวมถึงสอบปากคำอย่างโปร่งใส
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพกลุ่มเปอร์มัสยื่นหนังสือต่อผู้แทนยูเอ็น เอื้อเฟื้อโดยศูนย์ภาพเนชั่น
หมายเหตุ : นายอัสมาดี บือเฮง เลขาธิการเปอร์มัส คือคนเดินหลังสุด