กรมป่าไม้น้อมนำแนวทางพระราชดำริมาใช้ในโครงการป่าเศรษฐกิจ
กรมป่าไม้เผยผลสำรวจอุตสาหกรรมไม้ต้องการไม้ปีละ 40 ล้านตันต่อปี สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเผยน้อมนำพระราชดำริในหลวงมาประยุกต์ ทีดีอาร์ไอชี้ไทยสูญเสียพื้นที่ป่ากว่า 20 ล้านไร่ในช่วงเวลา 50 ปี
วันที่ 20 ตุลาคม องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(TBCSD) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย(TEI) จัดงานเสวนา เรื่อง "ป่าเศรษฐกิจ ทางเลือกในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" ณ ห้องวิภาวดีบอลรูน C โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
นาย จงคล้าย วรพงศธร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า ป่าไม้ในประเทศไทยจะแบ่งเป็นป่าไม้อนุรักษ์และป่าไม้เศรษฐกิจ โดยป่าอนุรักษ์ไม่น่าเป็นห่วงในเรื่องที่จะเพิ่มจำนวนให้ได้ 80 ล้านไร่ แต่ป่าเศรษฐกิจมีทั่วประเทศอยู่ประมาณไม่ถึง 4 ล้านไร่ และภาครัฐไม่ได้ดำเนินการมานานแล้ว มีแต่ภาคเอกชนที่ดำเนินการเอง และจำนวนไม่มากอาจเพราะเรื่องของกฎระเบียบต่างๆที่เข้มงวด ซึ่งต่อจากนี้ไปจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยสร้างป่าเศรษฐกิจ เพราะหากจะไปพึ่งงบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวเป็นไปได้ยากเนื่องจากงบประมาณที่จำกัดบางปีก็ไม่มีงบในส่วนนี้เลย
นาย จงคล้าย กล่าวต่อว่า นอกจากจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ร่วมสร้างระบบป่าเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการหาแนวทางให้ชาวบ้านทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อให้ทำเป็นอาชีพได้ ส่วนเรื่องพื้นที่ก็กำลังมองว่าจะใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในการปลูก รวมถึงพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิของประชาชนทั่วไปก็สามารถที่จะเข้ามาดำเนินการได้ โดยขณะนี้กำลังทำการสำรวจโรงงานทั่วประเทศว่ามีความต้องการใช้ไม้จำนวนมากขนาดไหน
"จากการสำรวจที่ยังไม่ครบทั่วประเทศมีความต้องการใช้ไม้ปีละประมาณ 40 ล้านตัน ใชัพื้นที่ปลูกประมาณ 10-20 ล้านไร่ ซึ่งมองว่าจะเป็นการสร้างอาชีพให้กับประชาชน ส่วนรัฐก็จะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นและไม่อยากให้มองว่าการทำป่าเศรษฐกิจเป็นการทำลายป่า เพราะการตัดต้นไม้จะมีระบบ เมื่อครบอายุที่ตัดได้ก็จะมาตัดทีหนึ่ง วนไปตามอายุ ตัดเสร็จก็ปลูกใหม่เป็นวงจร ไม่ใช่ตัดทีเดียวทั้งผืน"
นายจงคล้าย กล่าวด้วยว่า "เราต้องนำเรื่องป่าเศรษฐกิจมาปัดฝุ่นกันใหม่ ลำพังจะรองบจากรัฐอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยในเรื่องของทุน และทำให้เป็นเรื่องของธุรกิจการปลูกไม้ขายให้ได้ ดีกว่าไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว พวกข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมเสียไปหมด เราต้องปลุกให้ประชาชนมาสนใจอาชีพนี้ เพราะได้ไม้มาใช้สอยโดยไม่ต้องทำลายป่า"
ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้เกิดความเสียหายและลดลงเป็นอย่างมากผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ทำให้มีความต้องการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการใช้ทรัพยากร ที่ดิน และป่าไม้อย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ป่าเศรษฐกิจจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูผืนป่าจากการถูกบุกรุกและทำลายป่าไม้ และยังเป็นป่าที่กำหนดไว้เพื่อการผลิตไม้ที่ใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจโดยตรง
"ปัจจุบันมีการเพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้น แต่ตัวทรัพยากรนั้นน้อยลง เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญในตอนนี้คือจะใช้ทรัพยากรในรูปแบบเดิมไม่ได้ แต่จะบูรณาการใช้ทรัพยากรกับสิ่งที่มีอยู่ร่วมกัน เช่น การทำธนบัตรป่าไม้ ความจริงเรื่องนี้อาจจะต้องมองถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าจะทำยังไง คือการอยู่ดีกินดีเป็นเรื่องปากท้องของประชาชน ประเด็นต่อมาคือความมั่นคงของสังคมและความมั่นคงของประชาชนในภาพรวม แล้วถึงจะมองถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ"
ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวถึงแนวทางพระราชดำริคือคนต้องพึ่งป่าแล้วป่าก็ต้องพึ่งคน เมื่อสามารถทำให้เป็นระบบได้เราก็จะสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน
"แนวพระราชดำริในเรื่องของการปลูกป่า 3 อย่างแต่ใช้ประโยชน์ 4 อย่าง คือการที่ปลูกป่าขึ้นมาไม่ได้เน้นแค่เศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการปลูกส่วนหนึ่งไว้ใช้เพื่อเก็บผล อีกอันคือการใช้สอยภายในครอบครัวและต่อมาคือเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าสามารถทำสามอย่างได้อย่างเหมาะสมอย่างที่สี่ก็จะตามมาคือเรื่องของการอนุรักษ์เป็นการดูแลตัวทรัพยากร โดยพระราชดำริที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือก่อนที่จะเริ่มอะไรก็ตามแต่ต้องเริ่มการปลูกป่าในใจคนก่อน"
รศ.ดร. อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึษา ด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการสูญเสียพื้นที่ป่ากว่า 20 ล้านไร่ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าวิธีการแก้ไขแบบเดิมๆไม่ได้ผล ตัวทำลายพื้นที่ป่าเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ เมื่อสมัยหนึ่งก็เป็นพวกปลูกฝิ่น การทำไร่เลื่อนลอย อีกยุคก็มีการทำสัมปทานป่าไม้ แต่ทุกวันนี้จะพบปัญหาจากการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ป่า เพื่อนำผลผลิตไปส่งขาย เช่น ข้าวโพด
"ถ้าอยากจะแก้ไขปัญหาป่า จะต้องมีวิธีที่ดีเพื่อจะแก้ไขปัญหาให้ได้ นั่นคือการทำป่าเศรษฐกิจ นอกจากได้เนื้อไม้ไปขายแล้ว ยังได้ระบบนิเวศกลับคืนมา มีตัวช่วยในการไหลของน้ำ คลายน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าป่ามีประโยชน์มาก แต่อยากจะตั้งคำถามว่าป่าไปไหน ตรงนี้ถ้าคิดดีๆเหมือนจะมีกลไกอะไรบางอย่างขาดหายไป นั่นคือวงจรทางการเงิน"
"การปลูกป่าด้วยเงินบริจาคไม่มีผลอะไร เงินมาเมื่อไหร่ป่ามาเมื่อนั้น แต่พอเงินบริจาคหมดป่าก็จะหาย เพราะฉะนั้นการใช้เงินเป็นตัวกระตุ้นการอนุรักษ์ป่าเมื่อเงินหมดทุกอย่างก็จบ"
รศ.ดร. อดิศร์ กล่าวถึงแนวคิดที่จะทำพันธบัตรป่าไม้ขึ้น หลักการของพันธบัตรป่าไม้จะต้องมีองค์กรสักองค์กรเป็นเจ้าภาพออกพันธบัตรเงินกู้ แล้วก็จะมีประชาชนมาซื้อพันธบัตรป่าไม้นี้ โดยลักษณะเป็นพันธบัตรระยะยาว 20 ปีให้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 พอมีเงินเข้ามาจากพันธบัตร ก็จะนำไปปลูกป่าเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ แต่จะไม่ใช่การปลูกป่าอย่างเดียว จะต้องเกิดเป็นชุมชนป่าไม้คือมีชุมชนอยู่ในนั้น ชาวบ้านก็จะเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดมาเป็นปลูกป่าแทนซึ่งอาจได้เงินมากกว่าเดิม อีกทั้งจะได้เงินจากการปลูกป่า เงินตรงนี้ก็มาจากการขายพันธบัตร พอพื้นที่ป่าเริ่มให้ผลตอบแทน พอมีกระแสรายรับเข้ามาก็จะนำเงินไปจ่ายแก่ผู้ลงทุนคือผู้ที่ซื้อพันธบัตร เท่านี้ก็จะครบวงจร นอกจากจะได้ผลเป็นตัวเงินแล้ว ป่าไม้ยังให้ประโยชน์ด้านอื่นด้วย เช่น ระบบนิเวศ เป็นต้นน้ำ ดูดซับคาร์บอนไดออคไซด์ เป็นต้น
"ผมมองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่เราไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากคนที่ได้ประโยชน์จากป่าได้ อย่างเวลาเราปลูกต้นไม้ได้เนื้อไม้ไปขายได้ แต่จะไปเก็บเงินคนใช้น้ำด้วยเหตุผลที่ว่าเราเป็นคนปลูกต้นไม้เป็นการช่วยรักษาต้นน้ำ แบบนี้ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ หรือจะขอเก็บเงินจากพวกโรงงานนิคมอุตสาหกรรมที่บ่อยคาร์บอนออกมา เพราะเราปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับแทนให้ แบบนี้ก็ทำไม่ได้ มีแต่กฎหมายที่เขียนว่าใครทำลายต้นไม้ให้ไปปรับ ไม่มีการเขียนให้เรียกเก็บเงินไปดูแลป่าได้"