เรนโบว์เทร้าต์ ปลาโครงการหลวง นักวิชาการ ชี้สร้างอาชีพ-ชาวเขามีรายได้งาม
นักวิชาการประมง สถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ โชว์ปลาเรนโบว์เทราต์ที่ในหลวงส่งเสริมให้เพาะเลี้ยง วันนี้สร้างรายได้สร้างอาชีพ ให้ชาวเขาบนพื้นที่สูง
ปลาเรนโบว์เทราต์ (rainbow trout) เคยถูกนำไปประกอบอาหารเมื่อครั้งงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ เนื่องในงานพระราชพิธีสำคัญๆ มาแล้ว โดยปลาเรนโบว์เทราต์ ที่ผลิตได้จากสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
นายสานนท์ น้อยชื่น นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ของสถานีวิจัยประมงน้ำจืดพื้นที่สูงอินทนนท์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถึง ปลาเรนโบว์เทราต์ เป็นปลาในโครงการหลวงอินทนนท์ ซึ่งกำเนิดโครงการเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ในครั้งนั้นอธิบดีกรมประมงได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระองค์ท่านได้ทรงรับสั่งให้หาพันธุ์ปลาที่เหมาะสมกับน้ำเย็นบนพื้นที่สูงมาเลี้ยง และทำวิจัยในพื้นที่
" ช่วงแรกของการนำปลาเรนโบว์เทราต์มาเพาะเลี้ยงไม่ประสบผลสำเร็จ จึงเริ่มวิจัยใหม่ในนามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมประมงและมูลนิธิโครงการหลวง"
นายสานนท์ กล่าวอีกว่า ระยะแรกนำปลาเรนโบว์เทราต์มาทดลองเลี้ยงที่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ โดย ดร.คุณหญิงโกมุท อุ่นศรีส่ง ผู้อำนวยการและคณะศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดเชียงใหม่ และ ดร.ประสาน พรโสภิณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์ประมงน้ำจืด จ.เชียงใหม่ ประมาณปี พ.ศ.2541 ผลการทดลองพบว่า ปลาเรนโบว์เทราต์สามารถเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ในประเทศไทย โดยได้ลูกปลารุ่นแรกในเดือนธันวาคม 2542 ถึง 3,300 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 – 7 เดือนก็นำไปประกอบเป็นอาหารได้ ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบต่างประเทศเรื่องระยะเวลาการเลี้ยงสั้นกว่า ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 18 เดือน ประกอบกับดอยอินทนนท์มีอากาศที่หนาวเย็นกำลังดี สามารถเลี้ยงปลาชนิดนี้ได้ตลอดปี
นายสานนท์ กล่าวว่า เนื่องจากพระองค์มีพระราชดำริที่ต้องการเปลี่ยนทรัพยากรน้ำเย็น ให้เป็นผลผลิตที่มีมูลค่า จึงได้กลายมาเป็นที่มาของงานวิจัยและส่งเสริมประมงบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง รวมถึงการส่งเสริมให้แก่เกษตรกรไทยบนพื้นที่สูงเลี้ยงเป็นรายได้ มีอาชีพ มีรายได้ แทนการปลูกฝิ่น
เมื่อถามถึงการวางจำหน่าย นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดฯ กล่าวว่า ปัจจุบันสามารถหาซื้อปลาเรนโบว์เทราต์ได้จากฝ่ายตลาดของมูลนิธิโครงการหลวง โดยราคาตกประมาณกิโลกรัมละ 350 บาท ซึ่งมีทั้งแบบสดและรมควัน
"คนทั่วไปรู้จักปลานิลที่พระองค์ทรงให้นำมาเพาะเลี้ยงจนแพร่หลาย ปลานิลไม่ต้องเลี้ยงในน้ำเย็น กระจายเลี้ยงได้ทั่วไป จึงทำให้คนรู้จักมากกว่าปลาเรนโบว์เทราต์ที่เลี้ยงได้ที่หน่วยวิจัยประมงบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ภายใน "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์" ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่เดียวในประเทศ ปลาชนิดนี้ชอบอยู่ในน้ำเย็น อุณหภูมิไม่เกิน 24 องศาเซลเซียส น้ำต้องใส สะอาดไม่สารเคมีใดเจือปน โดยน้ำที่หน่วยงานได้รับมาจากน้ำตกสิริภูมิ"
นายสานนท์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลวงด้วยว่า ดีใจที่ได้เข้ามาถวายงานให้พระองค์ ซึ่งพระองค์สร้างโครงการหลวงขึ้นมา ด้วยการมองการณ์ไกลอยากให้พวกชาวเขามีรายได้ เลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาที่พระองค์ทรงเมตตาแก่ประชาชน
"ชาวเขาทุกคนรักพระองค์มาก ทุกคนดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเพื่อถวายพระองค์ เป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ให้ความรู้เกษตรกร รวมถึงเล่าถึงปลาเรนโบว์เทราต์ว่า เป็นของพระองค์ท่าน"
ทั้งนี้ปลาเรนโบว์เทราต์ จัดเป็นปลาน้ำจืด รสชาติดี และเป็นที่นิยมบริโภค เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมกา 3 สูง ติด 10 อันดับแรกของปลาทั้งหมด หากรับปประทาน 100 กรัม จะได้โอเมกา 3 ระดับ 1.0 มิลลิกรัม โดยกรดไขมันโอเมกา 3 จะช่วยลดคลอเรสเตอรอลในร่างกายและในกระแสเลือด
ที่มาภาพ:จาก http://www.royal-inthanon.com/