มานิจ สุขสมจิตร:พระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสื่อมวลชน
"ท่านก็เปรียบว่า การพูดอะไรโดยไม่ระมัดระวังเหมือนเวลาหมอจะฉีดยาคนไข้เข้าไปในเส้นเลือด หมอจะไล่อากาศออกเสียก่อน ท่านบอกว่า ฟองอากาศเพียงนิดเดียวถ้าไปอยู่ในเส้นเลือดทำให้คนตายได้ และท่านก็เปรียบว่า คำพูดเพียงคำเดียว เหมือนเอาก้อนน้ำตาลหวานๆก้อนหนึ่งใส่ไปในถังน้ำมันรถ ถ้าไม่ระมัดระวังเอาน้ำตาลก้อนนี้ในไปในถังน้ำมันรถอาจทำให้เครื่องยนตร์ดับได้ เพราะฉะนั้นให้ระมัดระวังคำพูดให้มาก"
“ช่วงในหลวงสวรรคต วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ผมไปเยี่ยมลูกสาวที่ทำงานอยู่ที่ออสเตรเลีย แต่ครอบครัวเราก็ติดตามข่าวอยู่ตลอดเวลาทั้งไลน์ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ เราก็ไม่สบายใจ ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม แล้วแหละว่า จะจริงหรือเปล่า ผมก็ได้เช็คข่าวที่เมืองไทย ก็บอกว่ามีความชัดเจนอยู่ เราก็รู้แล้วว่า ไม่ดีแน่ ก็ไม่สบายใจทั้งผมและภรรยา ทั้งที่กำหนดกลับวันที่ 20 ตุลาคม จึงต้องรีบบินกลับมาประเทศไทยเพราะถึงอยู่ไปก็เที่ยวไม่สนุกแล้ว ลูกบอก เอาไว้พ่อกับแม่ค่อยไปใหม่ก็ได้ แล้วพอดีที่สายการบินมีการให้เลื่อนเวลากลับโดยยกเลิกค่าธรรมเนียม ผมก็ได้กลับมาร่วมทุกข์กับคนไทย”
เช้าของวันที่สี่ 17 ตุลาคม วันที่ประชาชนชาวไทยพร้อมใจแต่งชุดดำ ไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ‘มานิจ สุขสมจิตร’ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส และประธาน มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ขณะเดินทางมาค้นหาข้อมูล บทความเก่าๆ ณ ห้องสมุด สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน
“เป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตและก็ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการสื่อมวลชน เพราะพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสื่อมวลชนอยู่มาก
เรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ อาจารย์มานิจ เล่าวว่า มีรัฐบาลยุคหนึ่งได้เสนอแก้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท (แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11 ) พ.ศ. 2535 ให้ลงโทษผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทสูงขึ้น คือ
มาตรา 326 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทธรรมดา ซึ่งเดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำและปรับ "ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
และมาตรา 328 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ซึ่งเดิมกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็น "ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท"
กฏหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญานี้ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 13 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 โดยอ้างเหตุผลว่า "ด้วยปรากฎว่าในปัจจุบันมีผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทมากขึ้น ขณะเดียวกันบทบัญญัติเกี่ยวกับอัตราโทษที่ใช้บังคับกับผู้กระทำผิดไม่เหมาะ สมกับสภาวะการณ์จึงทำให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวไม่เกรงกลัวสมควรแก้ไขเพิ่ม เติมอัตราโทษให้สูงขึ้น"
เมื่อแก้กฎหมายอาญาแล้ว ต่อมารัฐบาลยุคนั้น ก็ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเกี่ยวด้วยค่าเสียหายเพื่อละเมิดที่สื่อมวลชนทุกแขนง หากกระทำละเมิดจะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาท โดยให้ศาลกำหนดค่าชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวน 20 เท่าของอัตราโทษปรับขั้นสูงที่กำหนดไว้ในมาตรา 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดไว้ 2 แสนบาท เว้นแต่จะมีการพิสูจน์ความเสียหายได้มากกว่านั้นอันเป็นการกำหนดอัตราให้สื่อมวลชนผู้กระทำละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นขั้นต่ำเอาไว้ตามตัวคือ 4 ล้านบาท ในทุกกรณี นอกจากผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์จะพิสูจน์ได้ว่าเขาเสียหายมากกว่า 4 ล้านบาทก็ต้องจ่ายมากกว่า 4 ล้านบาท
การที่ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดค่าเสียหายขั้นต่ำไว้ตายตัวสำหรับสื่อมวลชนที่จะต้องชดใช้แก่ผู้เสียหายถึง 4 ล้านบาท ในทุกกรณีนั้น นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ยืนยันว่า การแก้กฎหมายอาญา แก้เสร็จแล้ว เพิ่มโทษผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งหมายถึงหากไปหมิ่นประมาทใครเขาแล้วโทษก็จะหนักขึ้นกว่าเดิม เมื่อแก้กฎหมายอาญาแล้ว ก็ต้องการแก้กฎหมายแพ่งโดยเชื่อมโยงมาจากการกฎหมายการหมิ่นประมาททางอาญา เรียกว่า หมิ่นประมาททางแพ่ง คือ นอกจากผู้กระทำการหมิ่นประมาทจะต้องถูกจำคุกหนักขึ้นแล้วในทางแพ่งก็ต้องจ่ายค่าเสียหายมากขึ้นกว่าเดิมอีก
“เมื่อรัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อจะลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย ปรากฏปาฏิหาริย์เกิดขึ้น พระเจ้าอยู่หัวไม่ลงพระปรมาภิไธยที่จะให้แก้กฎหมายเพื่อจะมาเอาโทษหมิ่นประมาทในทางแพ่งสูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้กฎหมายนั้นยังไม่ประกาศใช้ โดยรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งกลับมายังรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลสามารถยืนยันก็ประกาศใช้ได้เลย แต่ปรากฎว่า รัฐบาลไม่ยืนยันและไม่กล้ายืนยันกฎหมายฉบับนี้
ผมไปถามนายกรัฐมนตรี รัฐบาลยุคนั้น ท่านบอกว่าเราไม่ได้ทูลเกล้าฯ แต่ผมรู้ว่า ท่านทูลเกล้าฯ ไปแล้ว พูดภาษาชาวบ้าน คือ พระองค์ท่านไม่เซ็น"
นี่เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ต่อวงการหนังสือพิมพ์เป็นอย่างมาก มิเช่นนั้น สื่อมวลชนที่สุจริตจะได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบสังคม และตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ และหากการตรวจสอบนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็จะถูกลงโทษด้วยกฎหมายที่มีเหตุผล ไม่ขัดต่อสามัญสำนึก โดยให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายหรือกำหนดโทษตามสัดส่วนความรุนแรงในการกระทำผิด
ในฐานะคนข่าวชั้นครู ‘มานิจ สุขสมจิตร’ บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช สอนมาตลอดเวลาว่า ให้ยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
มีพระบรมราโชวาทองค์หนึ่งที่สั่งสอนแล้วประทับใจที่สื่อมวลชนควรยึดถือและปฏิบัติคือ ตอนที่ท่านไปพูดที่สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ต่างประเทศก็โจมตีประเทศไทยว่า ประเทศไทยไม่มีเสรีภาพ สื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพ ท่านเสด็จไปหลายรัฐตั้งแต่ฮาวายเรื่อยมาจนกระทั่งถึงนครนิวยอร์ก โดยที่นครนิวยอร์กวันสุดท้ายพูดภาษาชาวบ้านก็คือมีการเลี้ยงส่ง เลี้ยงพระกระยาหารก่อนที่จะเสด็จกลับเมืองไทย
“ท่านก็รับสั่งกับใครต่อใคร มาถึงท่านมาเห็นหนังสือพิมพ์เจ้าของทีวียืนอยู่กลุ่มหนึ่ง ท่านก็บอกสื่อมวลชนนั้นทำหน้าที่อันสำคัญ เพราะฉะนั้นให้ระลึกถึงงานนี้เป็นงานที่มีเกียรติ แต่ว่าการที่จะเขียนอะไรลงไปนั้น ให้นึกถึงว่า คำพูดแต่ละคำนั้นจะไปทำลายความปรารถนาดีของผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลายเพราะฉะนั้นให้ระมัดระวังในการพูด ท่านก็เปรียบว่า การพูดอะไรโดยไม่ระมัดระวังเหมือนเวลาหมอจะฉีดยาคนไข้เข้าไปในเส้นเลือด หมอจะไล่อากาศออกเสียก่อน ท่านบอกว่า ฟองอากาศเพียงนิดเดียวถ้าไปอยู่ในเส้นเลือดทำให้คนตายได้ และท่านก็เปรียบว่า คำพูดเพียงคำเดียว เหมือนเอาก้อนน้ำตาลหวานๆก้อนหนึ่งใส่ไปในถังน้ำมันรถ ถ้าไม่ระมัดระวังเอาน้ำตาลก้อนนี้ในไปในถังน้ำมันรถอาจทำให้เครื่องยนตร์ดับได้ เพราะฉะนั้นให้ระมัดระวังคำพูดให้มาก”
นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้ถ่ายทอดถ้อยคำมาจากที่สมเด็จพระราชินีฯที่เขียนหนังสือเรื่องตามเสด็จที่อเมริกา ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยได้อ่าน
นี่เป็นอีกหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการหนังสือพิมพ์ไทย
สำหรับสิ่งที่ประทับใจไม่รู้ลืม เมื่อปี 2514 ‘มานิจ’ วัย 30 ต้นๆ มีตำแหน่งรองเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ มีโอกาสอยู่ในห้วงวันประวัติศาสตร์ของคนในวงการหนังสือพิมพ์
"คุณคิดว่าผมคนไหน" คนข่าวอาวุโส ถามไปพลางพลิกหนังสือที่กองอยู่หลายเล่ม เปิดดูภาพเก่าๆ ย้อนเวลาบอกเล่าเรื่องราวในอดีต "ที่เห็นในภาพไปกันหมดแล้ว น่าจะเหลือผมคนเดียว"
“เมื่อเราจะสร้างสมาคมนักข่าวฯ บนเนื้อที่ของสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี เนื้อที่ 5 งาน ปี พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่พิธีวางศิลาฤกษ์และวันเปิดสมาคมฯ ท่านก็เสด็จฯ อีกครั้ง
ขณะที่ในหลวงทรงเสด็จฯ มาวางศิลาฤกษ์อาคารสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายเสฐียร พันธรังสี นายกสมาคมนักข่าวฯ สมัยนั้น ได้แนะนำตัวผมว่านี่คือนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นรองเลขาธิการสมาคม ท่านก็ถามว่าทำงานอยู่ที่ไหน ผมก็ตอบว่าข้าพระพุทธเจ้าทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐพระพุทธเจ้าข้า ท่านก็ตรัสอีกว่า ทำอะไรอยู่ ผมก็บอกว่า ตอนนั้นข้าพระพุทธเจ้าเป็นนักข่าวหัวหน้าการศึกษา แล้วท่านก็บอกว่า เมื่อกี้นายกฯ บอกมีบทบาทสำคัญทำอะไร ผมก็ตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็ทำ
ทุกอย่างพระพุทธเจ้าข้าฯ นับตั้งแต่ร่างข้อบังคับสมาคมฯ เพราะว่าผู้ใหญ่เห็นว่าเรียนจบกฎหมายมาเลยให้เป็นร่างข้อบังคับสมาคม ส่วนเรื่องการก่อสร้างก็ช่วยกันทำช่วยกันดูแล แล้วในหลวงก็พยักพระพักตร์แล้วก็เสด็จฯ ต่อไป”
ต่อจากนั้นหลายครั้งหลายหนในชีวิตอาจารย์มานิจ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการส่วนพระองค์พร้อมกับชาวคณะหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
“ท่านก็ทรงเล่าอะไรให้ฟังหลายเรื่อง ในวันนั้น ข้าราชสำนักมาบอกว่า พระองค์ท่านไม่ค่อยสบายปวดพระปฤษฎางค์(หลัง) กระนั้นจึงขอกรุณาให้เข้าเฝ้าฯ ไม่เกิน 45 นาที พอถึง 45 นาที ผมก็ยกนาฬิกาขึ้นแล้วจะกราบถวายบังคมลา ในหลวงท่านก็รับสั่งว่า เดี๋ยวๆ ยังคุยไม่จบ ท่านก็คุยต่อ ในวันนั้นท่านก็พูดหลายเรื่อง
วันนั้น ชัย ราชวัตร นักวาดการ์ตูน นสพ.ไทยรัฐ ก็ไปด้วยก็กราบบังคมทูลว่า นี่ชัย ราชวัตร ท่านก็ทรงอ๋อ และตรัสว่า
“นี่เหรอไม่เคยเจอกันเลยนะ เขียนการ์ตูนเรื่องพระมหาชนกให้รู้ไหม รูปนางมณีเมขลาแก้ 5 ครั้ง เพราะว่า ไม่ได้สื่อตรงตัวกับชัยบอกคนอื่น มีคนมาพูดกับชัย และชัยแก้มา ก็บอกให้แก้ใหม่ ท่านบอกว่า ตอนแรกชัยวาดนางมณีเมขลาซะอ่อนช้อยเลย ท่านก็บอกว่า อ่อนช้อยแบบนี้จะไปอุ้มพระมหาชนกข้ามมหาสมุทรได้อย่างไร ก็ไปแก้ใหม่ และแก้มาซะอ้วนเลย ท่านก็บอกว่า อ้วนเกินไปไม่สวย หลังจากนั้นก็แก้ไปแก้มาอยู่ 5 ครั้ง ท่านก็บอกว่า เพิ่งเจอชัยวันนี้ขอบใจนะ
และท่านก็ยังเล่าถึงการแปลพระมหาชนกเป็นภาษาอังกฤษ โดยติดศัพท์อยู่หนึ่งคำคือเวียนทักษิณาวัตร ไม่รู้จะแปลยังไง แม้แต่ฝรั่งที่รู้ภาษาไทยก็ยังไม่รู้จะตอบท่านอย่างไร ท่านก็บอกถามใครก็ไม่รู้มีใคร ถามฝรั่งที่รู้ภาษาไทยดีก็ตอบไม่ได้
ผมก็กราบบังคมทูลถามว่า แล้วใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงทำยังไง พระพุทธเจ้าข้าฯ ท่านก็บอกว่า แต่งเองไง ทักษิณาวัตร ก็ดูลักษณะว่าหมุนทางขวา Dexterambulation และ DEXA เป็นภาษาลาติน หมุนขวาอย่างรวดเร็ว Dexterambulation กระทำทักษิณาวัตร นั่งเฝ้าอยู่เกินชั่วโมงผลสุดท้ายก็ยกนาฬิกาดูอีกทีท่านก็ทรงตรัสบอกกลับได้ๆ” อาจารย์มานิจ เล่าเรื่องในหลวงทิ้งท้าย พร้อมกับรอยยิ้มบางๆ…