สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ แจงเข็มพระราชทานในวโรกาสต่างๆ ติดได้
สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ออกแนวทางปฏิบัติ อันเกี่ยวเนื่องกับงานพระบรมศพ เพิ่มเติม แจงติดเข็มพระราชทานในวโรกาสต่างๆ ได้ ส่วนการออกพระนาม สามารถใช้ได้ทั้ง 3 แบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ออกแนวทางปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับงานพระบรมศพ ขอซักซ้อมแนวทางปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับงานพระบรมศพ (เพิ่มเติม)
ตามที่ได้มีประกาศสำนักพระราชวัง ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร สวรรคต นั้น
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับงานพระบรมศพ โดยมีข้อมูลรายละเอียด สรุปได้ ดังนี้
1. ให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธง ครึ่งเสาเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
2. ให้ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
สำหรับประชาชนทั่วไปขอให้พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือสถานบันเทิงและสถานบริการต่างๆ งดหรือลดกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ตามความเหมาะสม เป็นระยะเวลา 30 วัน
3. แนวทางการแต่งกายไว้ทุกข์ (ของข้าราชการ)
(1) กรณีไปร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ ให้แต่งเครื่องแบบตามหมายรับสั่งหรือหมายกำหนดการของสำนักพระราชวัง โดยใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งสีดำ (ปลอกแขนไว้ทุกข์) ขนาดกว้างระหว่าง 7 ถึง 10 เซนติเมตร พันแขนเสื้อซ้ายเบื้องบน
(2) กรณีไม่ได้ร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ ให้แต่งเครื่องแบบปฏิบัติราชการ (เครื่องแบบสีกากีคอพับ และเครื่องแบบสีกากีคอแบะ) ไม่ต้องใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งสีดำ (ปลอกแขนไว้ทุกข์) พันแขนเสื้อซ้ายเบื้องบน
(3) กรณีการแต่งกายทั่วไปในการปฏิบัติราชการ
1) ข้าราชการชาย
- การแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาวหรือสีดำผูกเนคไทสีดำ หากจะสวมเสื้อสูท หรือเสื้อคลุมให้ใช้สีดำ โดยอาจใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งสีดำ (ปลอกแขนไว้ทุกข์) ดังกล่าว พันแขนเสื้อซ้ายเบื้องบนได้ตามสมควร
- การแต่งกายด้วยชุดไทยพระราชทาน ให้ใช้เสื้อแขนสั้นหรือแขนยาวสีขาว กางเกงสีดำหรือสีขาวทั้งชุด หรือสีดำทั้งชุด ไม่ติดแขนทุกข์
2) ข้าราชการหญิง ให้แต่งกายสุภาพตามรัฐพิธี โดยให้ใช้เครื่องดำล้วน
(4) กรณีข้าราชการที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะให้แต่งกายตามนั้น
(5) กรณีแต่งกายของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ให้อนุโลมตาม ข้อ (2) และ (3)
4. การประดับพระบรมฉายาลักษณ์ และการใช้ถ้อยคำถวายความอาลัย ดังนี้
(1) พระบรมฉายาลักษณ์ ตามความเหมาะสม และที่เห็นสมควร ถ้อยคำถวายความอาลัย ให้ใช้ “ปวงข้าพระพุทธเจ้า
ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า......................”
5. การจัดโต๊ะหมู่บูชา ประกอบด้วย พระบรมฉายาลักษณ์ เครื่องทองน้อย พุ่มทอง พุ่มเงิน สำหรับการประดับผ้าระบายดำสลับขาว ให้ผ้าสีดำอยู่ด้านบน และสีขาวอยู่ด้านล่างในตำแหน่งที่เหมาะสม
6. การประดับธงให้งดการประดับธงตราสัญลักษณ์ทั้งหมด
7. การดำเนินการให้ความสะดวกแก่ประชาชนในการให้ข้อมูลข่าวสารให้พี่น้องประชาชนสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง
(1) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยศูนย์บริการประชาชน จัดให้มีสายด่วน 1111 ทำเนียบรัฐบาล
(2) ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567
8. การลงนามถวายความอาลัยพระบรมศพ
(1) ด้วยสำนักพระราชวังได้รับพระราชานุญาตในการเข้าถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนี้
1) พระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00น. ในการนี้ ได้จัดสมุดหลวงลงนามถวายความอาลัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
2) พระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคม พระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทภายหลังจากการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ครบ 15 วัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 16.00 น. ทุกวันเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2559 เวลา 13.00 น.
3) พระราชทานพระราชานุญาตให้ภาคต่าง ๆ ทั้งบุคคล คณะบุคคล ภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ภายหลังจากการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ครบ 50 วัน
(2) จังหวัดจัดสถานที่ให้ประชาชนถวายความอาลัย ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด
(3) กรุงเทพมหานครจัดสถานที่ให้ประชาชนถวายความอาลัย ณ สำนักงานเขตทุกเขต
9. การสนับสนุนอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่มแก่ประชาชน
สำหรับผู้ประสงค์จะสนับสนุนอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่ม เพื่อบริการประชาชน ที่มาร่วมลงนามถวายความอาลัยในบริเวณพระบรมมหาราชวัง และใกล้เคียง สามารถติดต่อ ประสานได้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สายด่วน 1111
10. เข็มพระราชทานในวโรกาสต่างๆ สามารถติดได้
11. เรื่องการออกพระนาม สามารถใช้ได้ทั้ง 3 แบบ ดังนี้
1) พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
2) หรือใช้พระนามย่อ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
3) ทั้งนี้ ในส่วนพระนาม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ”ก็สามารถใช้ได้ (ถือปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาล และสำนักพระราชวัง)