โกศ มาจากไหน
การนำศพใส่ในโกศแบบเดียวกับที่ใส่ใส่โลงศพ (coffin) ก็พบว่ามีคนบางกลุ่มประมาณ 3,000 ปีก่อน ที่มีประเพณีฝังศพงอเข่าไว้กับอก บางทีเอาศพงอเข้าใส่ไหไปฝัง ซึ่งได้พัฒนามาเป็นประเพณีศพนั่งในพิธีศพของพระเจ้าแผ่นดินและชนชั้นปกครองของไทยในสมัยหลัง
หมายเหตุ : บทความเรื่อง"โกศ มาจากไหน" โพสต์โดยแฟนเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์
------
โกศมีพัฒนาการมาจากพิธีศพของชาวอุษาคเนย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ประมาณ 2,500-3,000 ปีก่อน
การเก็บศพลงในโกศนั้นสันนิษฐานว่ามีที่มาจาก "การฝังศพครั้งที่สอง" (secodary burial) ในยุคโบราณ
โดยการฝังศพครั้งที่หนึ่ง (primary burial) หลังจากเสียชีวิตจะมีการนำศพไปฝังดินจนกระทั่งเนื้อหนังย่อยสลายเหลือแต่กระดูก ครั้งที่สองคือการนำกระดูกทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนเช่นกะโหลกศีรษะบรรจุใส่ภาชนะ และอาจจะมีการบรรจุข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ลงไปด้วย เพื่อเป็นการอุทิศให้ผู้ตาย
การฝังศพแบบนี้น่าจะทำในเฉพาะชนชั้นนำของสังคม เช่นหัวหน้าเผ่าหรือหมอผี และการฝังศพมักจะทำในบริเวณเดียวกันซ้ำโดยถือว่าบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิที่คนในตระกูลหรือสังคมให้ความนับถือร่วมกัน
ประเพณีศพแบบนี้สามารถพบได้ในสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะยุคก่อนประวัติศาสตร์
ในประเทศไทยมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ที่ขอบทุ่งกุลา ที่บ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ดเป็นภาชนะใส่กระดูกรูปร่างเหมือน "แคปซูล" นอกจากนี้ยังพบในรูปแบบของหม้อดินเผาใส่กระดูกทั่วไป
ในประเทศเพื่อนบ้านยังพบไหหินรูปแบบใกล้เคียงกันที่ทุ่งไหหิน เชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับไหหินใส่ระดูกมนุษย์รูปแบบเดียวกันซึ่งพบในอินเดียเหนือ
(บน) ภาชนะดินเผาบรรจุศพแบบ "แค็ปซูล" เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว มีรูปร่างลักษณะต่างๆกัน นับเป็นต้นเค้าโกศ และประเพณีเก็บกระดูกใส่หม้อ หรือสถูปเจดีย์ในสมัยหลังๆ ขุดพบบริเวณขอบทุ่งกุลาร้องไห้ บ้านเมืองบัว อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด
(ล่าง) ไหหิน ใส่กระดูกศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ในลาว
หม้อ-ไหดินเผาใส่กระดูกศพ เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว มีรูปร่างลักษณะต่างๆ กัน นักโบราณคดีขุดพบบริเวณแหล่งฝังศพรอบๆ ทุ่งกุลาร้องไห้ในภาคอีสาน ล้วนเป็นหลักฐานแสดงความเป็นต้นเค้า “โกศ” และประเพณีเก็บกระดูกใส่หม้อ และสถูปเจดีย์ในสมัยหลังๆ จนถึงทุกวันนี้
ต่อมาสันนิษฐานว่าเมื่อภูมิภาคอุษาคเนย์ได้รับอิทธิพลจากอินเดียเข้ามาในยุคประวัติศาสตร์ ทำให้เปลี่ยนจากการฝังศพ (burial) มาเป็นการเผาศพ (cremation) แล้วนำเถ้ากระดูกมาบรรจุในโกศแทน ซึ่งพบได้ทั้งในวัฒนธรรมทวารวดีในไทย วัฒนธรรมปยูในพม่า วัฒนธรรมของจามในจามปาและฟูนัน ส่วนที่ยังนิยมฝังศพตามเดิมก็ยังพบได้ในบริเวณจีนตอนใต้
(ซ้าย) โกศ (ลองใน) (ขวา) พระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศ (ภาพจากหนังสือสารานุกรมไทยเล่ม 2 ของ อุทัย สินธุสาร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2516 หน้า 291)
ซึ่งวัฒนธรรมการเก็บกระดูกในภาชนะนั้นก็ได้พัฒนามาเป็นการเก็บอัฐิใส่โกศของคนไทยในสมัยหลัง รวมไปถึงการเก็บอัฐิไว้ตามสถูปเจดีย์หรอช่องในกำแพงวัด ซึ่งเป็นการสะท้อนความเชื่อในเรื่องของพื้นที่ศักดิ์สิทธิในยุคดึกดำบรรพ์
การนำศพใส่ในโกศแบบเดียวกับที่ใส่ใส่โลงศพ (coffin) ก็พบว่ามีคนบางกลุ่มประมาณ 3,000 ปีก่อน ที่มีประเพณีฝังศพงอเข่าไว้กับอก บางทีเอาศพงอเข้าใส่ไหไปฝัง ซึ่งได้พัฒนามาเป็นประเพณีศพนั่งในพิธีศพของพระเจ้าแผ่นดินและชนชั้นปกครองของไทยในสมัยหลัง
-----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
- การฝังศพครั้งที่สองที่ทุ่งกุลาร้องไห้. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
- พระเมรุ ทำไม ? มาจากไหน. สุจิตต์ วงษ์เทศ