ข้อเสนอ ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ปัญหาท้องถิ่นทุจริต ห้ามพรรค-‘บิ๊ก’นักการเมืองยุ่ง!
เปิดครบ 4 ข้อเสนอ ป.ป.ช. ชง ‘รบ.บิ๊กตู่’ แก้ปัญหาทุจริตของ อปท. ชัดเจนห้ามพรรคการเมือง-ส.ส.-ส.ว. เข้าไปยุ่มย่ามการเลือกตั้ง ใครทำผิดกฎหมายเลือกตั้งถูกเพิกถอนสิทธิตลอดชีวิตยกก๊วน ให้ ขรก.ประจำประเมินภาษีป้องเอื้อพวกพ้อง เลิกเงินอุดหนุนเฉพาะกิจป้อง ‘บิ๊กนักการเมือง’ แสวงหาผลประโยชน์
ปัญหาการทำงานไม่โปร่งใสในแวดวงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกรื้อฟื้นและพูดถึงมาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลกี่ชุด ก็มักแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ตก ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระหลักเกี่ยวกับการ ‘ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น’ มีภาระรับผิดชอบคดีเกี่ยวกับการทุจริตของ อปท. จำนวนมาก
กรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไต่สวนข้อเท็จจริงหลายคนยังเคยบ่นอุบว่า คดีเกี่ยวกับท้องถิ่นนั้น อยู่ในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมาก หลายพันคดี และคาดว่าต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเคลียร์ของเก่าทิ้งได้
ขณะที่คดีใหม่ก็เข้ามาเรื่อย ๆ ?
เพื่อป้องกันไม่ให้ ป.ป.ช. มีภาระหนักมากเกินไป และต้องการให้การบริหารราชการของหน่วยงานท้องถิ่นมีประสิทธิภาพ ไร้การทุจริตมากขึ้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของ อปท. แล้ว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญไว้ ดังนี้
ด้วยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนผู้บริหารท้องถิ่นว่า มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตเชิงนโยบายจำนวนมาก และเกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ปัญหา และสาเหตุอันสืบเนื่องมาจากเรื่องกล่าวหาร้องเรียนดังกล่าว และสมควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของ อปท. ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของ อปท. เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่
หนึ่ง มาตรการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการจัดตั้ง อปท.
มีการเสนอให้เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินเปิดเผยในที่สาธารณะให้ประชาชนทราบ นอกจากนี้ห้ามพรรคการเมือง ส.ส. ส.ว. หรือผู้บริหาร อปท. แห่งอื่น ให้การสนับสนุนทั้งทางตรง และทางอ้อมแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
ห้ามผู้สมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นแทรกแซงการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น เช่น สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งหากฝ่าฝืนจะต้องมีโทษทางอาญา
รวมไปถึงได้กำหนดบทลงโทษใหม่หนักขึ้น ซึ่งหากพบใครกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต และหากมีตัวการร่วมก็ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน
สอง มาตรการด้านการบริหาร
ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ของ อปท. โดยให้อำนาจข้าราชการฝ่ายประจำเป็นผู้พิจารณาประเมินภาษี เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้ในลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง และให้การพิจารณาอุทธรณ์ภาษีอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษี
ให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้าราชการในหน่วยงาน และองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องถิ่นเป็นกรรมการ และให้เสนอรายงานการติดตามผลดังกล่าวต่อสภาท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชน และติดประกาศให้ประชาชนทราบด้วย
ข้อเสนอสำคัญคือ ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้ อปท. ทั้งนี้ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในส่วนของรัฐบาลเองเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวเท่าที่จำเป็น และต้องมีการกำหนดวิธีการจัดสรรงบประมาณให้ชัดเจน เพื่อลดการวิ่งเต้น แสวงหาผลประโยชน์ และเป็นการตัดช่องทางไม่ให้นักการเมืองระดับชาติเข้ามาเรียกรับผลประโยชน์จาก อปท.
นอกจากนั้น รัฐบาลต้องจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้ อปท. เพียงพอต่อการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่และการบริหารงานของ อปท. กำหนดกรอบเงินอุดหนุนที่มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรในพื้นที่ สถานะทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย
อีกข้อเสนอที่น่าสนใจคือ มาตรการป้องการทุจริตเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์จากเงินรางวัลประจำปี (โบนัส) ของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น โดยเสนอให้ออกกฎหมายหรือระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการกำหนดเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีที่เป็นมาตรฐาน โดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาผลการปฏิบัติงาน หรือใช้ระบบโบนัส ของข้าราชการพลเรือนมาเทียบเคียง
ทั้งนี้ในระว่างดำเนินการออกกฎหมายหรือระเบียบดังกล่าว ให้ชะลอการจัดสรรเงินให้เป็นประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินโบนัสของ อปท. ไว้ก่อน
ส่วนปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเป็นจำนวนมากนั้น ให้รัฐบาลดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 อย่างจริงจังกับผู้ประกอบการที่ร่วมมือกับผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในการฮั้วประมูลหรือทุจริต และสั่งให้เปิดเผยราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างแก่สาธารณะทุกครั้ง
ทั้งนี้ควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลาง (บอร์ด) บริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของ อปท. โดยปราศจากแทรกแซงจากอำนาจเมืองท้องถิ่น โดยให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง แต่ห้ามแต่งตั้งบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งวาระเดียว มีอำนาจหน้าที่ เช่น ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการใน อปท.
ซึ่งตรงนี้นับเป็นการแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างกรณี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ใน จ.มหาสารคาม หลายสิบแห่ง จัดสอบบรรจุแข่งขันคนเป็นพนักงานส่วนตำบลโดยมิชอบ ซึ่งปัจจุบันมี นายก อบต.-ข้าราชการระดับสูงในท้องถิ่น ถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. พักงานไปแล้ว และคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังไต่สวน และขยายผลไปยังพื้นที่ทั่วประเทศด้วย
(อ่านประกอบ : ปลัด-ขรก.สารคามโดน ม.44 ยกเข่งพันสอบฉาว-‘สรรเสริญ’นั่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์, เบื้องหลังคดีบรรจุ พนง.ส่วนตำบล อ.เมือง-สารคามฯฉาว ก่อนผู้ว่าฯไล่ออกยกเข่ง)
สาม มาตรการด้านการตรวจสอบ กำกับดูแล และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ได้ขอเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการถอดถอนให้ครอบคลุมถึงผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นในทุกวาระการดำรงตำแหน่ง เพื่อป้องกันการได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้ง รวมไปถึงให้ อปท. ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และให้ผู้แทนประชาคม และสมาชิกสภาท้องถิ่นเข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วย
สี่ มาตรการด้านคุณธรรม จริยธรรม
เสนอให้แก้ไขปรับปรุงประมวลจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนท้องถิ่น เช่น การหาเสียงเลือกตั้งที่ไม่นำนโยบายประชานิยมมาใช้โดยปราศจากข้อมูลหรือที่มาของงบประมาณที่จะดำเนินการ รวมถึงการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เข้าไปแทรกแซงระบบบริหารงานบุคคล ไม่มีพฤติการณ์แสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณของ อปท. เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ในการบริหารงานของ อปท.
ในช่วงก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ไม่จัดสรรงบประมาณหรือบริหารงบประมาณเพื่อการหาเสียงหรือคะแนนนิยมในลักษณะไม่สามเหตุสมผลและมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เช่น การจัดสรรงบประมาณให้หัวคะแนนศึกษาดูงานต่างประเทศ หรือการแจกสิ่งของให้แก่ผู้สนับสนุนตนเองโดยมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ทั้งหมดคือ 4 ข้อเสนอสำคัญที่อาจ ‘พลิกโฉม’ แวดวง ‘การเมืองท้องถิ่น’ ได้ ไม่มากก็น้อยหากรัฐบาลรับไปพิจารณา