“อภิสิทธิ์” เตือนระวัง "ตัวเลขลวง" รวม 3 กองทุนสุขภาพ ไม่แก้เหลื่อมล้ำ
“อดีตนายกฯอภิสิทธิ์” เตือนรวม 3 ระบบสุขภาพ รบ.ยิ่งลักษณ์ จับตาตัวเลขลวง แนะให้มีทั้งบริการพื้นฐานฟรีเท่าเทียม และบริการเสริมที่ต้องจ่ายเป็นทางเลือก
วันที่ 23 ม.ค.55 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ตอนหนึ่งถึงกรณีที่รัฐบาลมีแนวความคิดในการรวม 3 กองทุนสุขภาพ คือประกันสังคม-ข้าราชการ-บัตรทอง ว่ามีการถกเถียงกันมานานแล้ว แต่ขอเตือนว่าจะต้องระมัดระวังเรื่องตัวเลขกับข้อเท็จจริง
1. เรื่องตัวเลข ซึ่งเป็นเรื่องของการเอางบประมาณ หารด้วยจำนวนผู้ใช้บริการ อย่างกรณีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารักษาฟรีนั้น ตัวเลขดังกล่าวรวมเงินเดือนของแพทย์และบุคลากรแล้วหรือไม่ ซึ่งกรณีของประกันสังคมนั้นไม่ได้รวม 2. เรื่องจำนวนผู้ใช้บริการในระบบสวัสดิการข้าราชการนั้นเป็นการคาดคะเน เพราะไม่เคยรู้ว่าคนที่อยู่ในระบบนี้มีจำนวนเท่าใด แต่ค่าใช้จ่ายต่อหัวนั้นสูงมาก ขณะที่หลายโรงพยาบาลนำเงินที่ได้จากสวัสดิการราชการมาช่วยอุดรูรั่วที่เกิดขึ้นได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าทุกคนควรจะมีสิทธิได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน แต่การที่บอกว่าเหลือระบบเดียวอะไรจะตามมา ความเป็นธรรมก็ต้องมองกันในอีกหลายแง่มุม เช่น คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมก็บ่นเพราะต้องจ่ายเงินสมทบและจ่ายภาษี แล้วภาษีก็ไปช่วยระบบรักษาฟรีของชาวบ้านกับของข้าราชการ ดังนั้นระบบประกันสังคมจึงเป็นการจ่ายให้ตัวเอง และจ่ายให้อีก 2 ระบบด้วย ขณะที่ข้าราชการก็บอกว่าที่ต้องได้สวัสดิการดีเพราะรับราชการ ยอมได้เงินเดือนต่ำเพื่อแลกกับสวัสดิการ
“การจะยุบรวมกันจะเกิดความเป็นธรรมหรือไม่นั้น ต้องไปดูว่าทำอย่างไรกับเงินของผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคมที่จ่ายเข้าไปแล้ว จะคืนให้หรือเปล่าหรืออย่างไร ดังนั้นการมีมากกว่า 1 ระบบก็มีข้อดี เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งผมพยายามผลักดันและเห็นว่าคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมควรจะมีสิทธิ์เลือกว่าจะจ่ายเงินสมทบเพื่ออยู่ในประกันสังคม หรือจะไม่จ่ายแล้วมาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
นายอภิสิทธิ์ แนะนำว่าหากต้องการจะทำเรื่องนี้ ก็ควรมีการปฏิรูปให้เป็นเรื่องใหญ่ โดยรัฐบาลที่แล้วได้เริ่มต้นด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่มี ดร.อัมมาร์ สยามวาลา เป็นประธาน เพื่อทำการศึกษาแนวทางที่เหมาะสม และตนมองว่าเรื่องนี้น่าจะมีการนำไปสู่ระบบที่นิยามบริการพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับฟรีเท่าเทียมกัน และระบบอื่นจะเข้ามาเสริม ด้วยการเปิดให้เป็นทางเลือก
“ถ้าเอาทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อบอกว่าทุกคนเสมอภาค แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะจะมีความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพเกิดขึ้น ถ้าระบบนี้เป็นระบบที่ไม่เป็นที่พอใจ คนที่มีสตางค์ก็ไม่ใช้ระบบนี้แต่ไปจ่ายเงินในโรงพยาบาล แล้วสุดท้ายพอจ่ายเงินโรงพยาบาลมากๆ เหมือนที่เราเห็นการบริการชาวต่างชาติอยู่ มีค่าตอบแทนสูงมาก ก็จะดึงหมอออกไปจากระบบที่มาดูแลบริการทั้งหมดด้วย แต่การเอาตัวเลข 3 ตัวแล้วเอาเงินมาหารจำนวนผู้อยู่ในแต่ละระบบ แล้วบอกว่าต้องยุบเป็นกองทุนเดียว มันง่ายเกินไปที่จะไปสรุปอย่างนั้น” .
ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/member/login