เดนิส เกรย์ : พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้โดดเด่นในประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่
ความทรงจำเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ต่างไปจากเรื่องราวในหนังสือกษัตริย์ไม่เคยยิ้มหรือภาพลักษณ์ของพระองค์ในฐานะธรรมราชา ความทรงจำของเขาเกี่ยวกับพระองค์ ยังคงเด่นชัดและตราตรึงไม่เสื่อมคลาย
เดนิส เกรย์ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอพีที่คร่ำหวอดอยู่ในไทยและภูมิภาคมากว่า 40 ปี เคยเขียนเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยได้รับพระราชทานสัมภาษณ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และเคยตามเสด็จในระหว่างที่พระองค์ท่านออกเสด็จเยี่ยมราษฎร ไว้หลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวาน (14 ต.ค. 2559) เขาได้นำประสบการณ์ดังกล่าวมาเขียนเป็นข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลกอีกครั้ง
เขาเริ่มบทความด้วยการนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเรื่อง กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม ที่ผู้เขียนอ้างว่าพระองค์ท่านเคร่งขรึมและไม่ค่อยแย้มพระสรวล
อย่างไรก็ตามเกรย์เขียนว่า พระองค์ทรงมีภาพลักษณ์เป็นธรรมราชาด้วย โดยเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ปรากฏพระองค์ต่อหน้าพสกนิกรหรือเสด็จในพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งทางรัฐและศาสนา พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในฐานะธรรมราชา ซึ่งเป็นแนวคิดในพระพุทธศาสนาที่สืบทอดมาเป็นเวลา 800 ปี พระราชกรณียกิจในฐานะธรรมราชาทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้โดดเด่นในประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่
แต่สำหรับเขาเอง ความทรงจำเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ต่างไปจากเรื่องราวในหนังสือกษัตริย์ไม่เคยยิ้มหรือภาพลักษณ์ของพระองค์ในฐานะธรรมราชา ความทรงจำของเขาเกี่ยวกับพระองค์ ยังคงเด่นชัดและตราตรึงไม่เสื่อมคลาย
“ผมได้เข้าเฝ้าพระองค์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2551 ทรงฉลองพระองค์ในชุดสูทแบบตะวันตก มีพระอิริยาบทแบบสบาย ๆ บนพระที่นั่ง และทรงแย้มพระสรวล ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงเพลิดเพลินในการสนทนาแบบที่ตอบโต้กันรวดเร็วและใช้ไหวพริบกับผู้สื่อข่าวต่างชาติกลุ่มเล็ก ๆ ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มันไม่เหมือนกับตอนที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสต่อหน้าพสกนิกรเลย พระองค์ทรงเล่าเรื่องตลกและเรื่องที่มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างมีสีสันในภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยม มันกินเวลากว่า 2 ชั่วโมงที่พระองค์ทรงตรัสถึงเรื่องดนตรีแจ๊ส พระราชวงศ์กับสุนัขตัวโปรดของพระองค์ พระชนมายุที่เพิ่มขึ้นกับข้อเสียของสนามกอล์ฟและเขื่อน”
เกรย์เล่าว่าที่ปรึกษาส่วนพระองค์บางคนสังเกตว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงรู้สึกสบาย ๆ มากขึ้นกับคนต่างชาติ เพราะไม่มีพิธีรีตองมาเป็นอุปสรรคแบบในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
“ค่ำวันนั้นเป็นอีกหนึ่งในหลายครั้งที่ผมเห็นถึงพระบุคลิกภาพซับซ้อนที่ตัดกัน พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงยึดมั่นในจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัดกับความทันสมัย เป็นกันเองไม่ถือพระองค์ พระจริยวัตรที่เคร่งขรึมกับพระอารมณ์ขันที่ทรงมีอยู่อย่างเหลือเฟือ การดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของพระองค์กับรายงานข่าวที่ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มั่งคั่งที่สุดในโลก และพระองค์ทรงหลอมรวมความเป็นพุทธมามกะแบบไทยกับพระบุคลิกภาพแบบตะวันตก บางทีเรื่องนี้อาจเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะพระองค์ประสูติในรัฐแมสซาชูเซตส์ และเมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงอาศัยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับพระมารดาที่เป็นสามัญชน ซึ่งอาจถ่ายทอดการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายให้กับพระองค์”
เกรย์เผยถึงเรื่องราวที่พระองค์ท่านเคยพระราชทานเมื่อปี 2525 ว่า “แม่ของฉันชมฉันเมื่อฉันทำดี และไม่ทันไร แม่จะบอกว่า “อย่าเหลิง” แม่จับฉันใส่ในบอลลูนและจากนั้นก็ทิ่มมัน”
เกรย์เห็นว่า “ในการพระราชทานสัมภาษณ์ เมื่อปี 2551 และก่อนหน้านั้น มีความรู้สึกเศร้าใจแฝงอยู่ในถ้อยคำที่พระองค์กล่าวถึงทิศทางของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยได้ละทิ้งค่านิยมด้านศีลธรรมที่มีมาแต่ตั้งเดิม และไปให้คุณค่ากับสังคมที่ยึดตัวเองเป็นหลัก ที่เห็นว่ายิ่งโลภยิ่งดี อย่างไรก็ตาม ในที่สาธารณะพระองค์ได้ตรัสเรื่องนี้เพียงแบบอ้อม ๆ เท่านั้น”
เกรย์มองว่าสภาพสังคมไทยในเมื่อช่วงปี 2551 แตกต่างไปมากเมื่อเทียบกับตอนที่เขาได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านเป็นครั้งแรกราวปี 2520 “ผมติดตามพระองค์ท่านที่เสด็จไปเยี่ยมพสกนิกรตามภูเขาในภาคเหนือ ตามนาข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชุมชนชาวมุสลิมในภาคใต้ ในบางแง่พระองค์ท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ในตอนนั้นประชากรไทยราว 80% ยังคงอาศัยอยู่ตามชนบท และประเทศไทยยังไม่มีพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่โยงกับความเคลื่อนไหวโลกและยังไม่มีนักท่องเที่ยวนำรายได้เป็นล้าน ๆ เข้าประเทศ” เกรย์เห็นว่า ทศวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513- พ.ศ. 2522) เป็นทศวรรษสุดท้ายของประเทศไทยแบบเก่า ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีเสน่ห์ และมีชนบทที่สวยงามพร้อมกับความยากจนที่กระจายอยู่ทั่วไป
“มันเป็นช่วงเวลาที่รัชสมัยของพระองค์ท่านรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จที่สุด พระองค์ทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริมากมาย เช่น โครงการด้านสุขภาพ การศึกษา การขจัดความยากจน การบริหารน้ำและการปลูกพืชทดแทนฝิ่น”
เกรย์ย้อนเล่าถึงเรื่องที่พระองค์ตรัสในช่วงนั้นว่า “กล่าวกันว่า ราชอาณาจักรเปรียบเสมือนพีระมิด กษัตริย์อยู่ข้างบน ประชาชนอยู่ข้างล่าง แต่ในประเทศนี้กลับตรงกันข้าม” เกรย์เล่าต่อว่า พระองค์ทรงแย้มพระสรวลและตรัสว่า “นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้บางทีฉันปวดรอบ ๆ ตรงนี้” และก็ทรงชี้ไปที่พระอังสภาระ (ไหล่)
“ในช่วงพระชนมายุ 40 พรรษา พระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรง ทรงวิ่งจ๊อกกิ้งเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตรต่อวัน จากนั้นทรงวิดพื้นอีกหลายครั้ง น้ำหนักผมลดไปหลายกิโล ตอนที่ตามเสด็จท่านขึ้นเขาลงห้วยไปพร้อมกับบรรดาข้าราชการพุงพลุ้ยและเจ้าหน้าที่ในพระราชวังที่เหนื่อยหอบไปตามกัน”
นักข่าวผู้คร่ำหวอดของเอพียอมรับว่า มีหลายช่วงที่เขาเหน็ดเหนื่อยติดต่อกันหลายวัน และมีอยู่ครั้งหนึ่ง “พระองค์ท่าน สมเด็จพระราชินี และพระธิดาองค์โตเสด็จมาทางเฮลิคอปเตอร์ ถึงสถานทีทดลองการเกษตรแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ในตอนเช้า โดยในคืนก่อนนั้นพระองค์ท่านทรงงานถึงตีสอง เพื่อเตรียมงานสำหรับวันรุ่งขึ้น พระองค์ท่านทรงฉลองพระองค์ในเสื้อแจ็คเก็ตสปอร์ตสีเทาและฉลองพระบาทเป็นบูทแบบทหาร ทรงถือแผนที่ขนาด 1 ต่อ 50,000 กล้องถ่ายรูปขนาด 35 มิลและวิทยุติดต่อสื่อสาร”
“วันนั้นเป็นอีกวันที่ต้องขึ้นเขาลงห้วย มีทั้งเดินเท้าและใช้รถจี๊ปเพื่อเข้าไปเยี่ยมชาวเขาและรับฟังความเดือดร้อนของพวกเขา พวกเจ้าหน้าที่ประชุมกันและพระองค์ท่านสอบถามผลการประชุม มีทั้งพระสุรเสียงที่เด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจังและนุ่มนวล พอถึงตอนสองทุ่มครึ่ง พระองค์ท่านและพระราชวงศ์ท่านอื่นเสด็จกลับไปถึงพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศ สมเด็จพระราชินีก็ทรงต้องรีบเปลี่ยนฉลองพระบาทและฉลองพระองค์ที่เป็นแบบจ๊อกกิ้งเสียใหม่ เพื่อต้อนรับแขกเหรื่อร่วมร้อยคน”
เกรย์เล่าว่าบรรยากาศดี อาหารแบบฝรั่งเศสรสเลิศ แต่โต๊ะที่ประทับของพระองค์ท่านและพระราชวงศ์ มีการสนทนากันถึงเรื่องเขื่อน และที่แปลกคือ เรื่องสารในดินและปุ๋ย พระองค์ท่านตรัสในเวลาต่อมาว่า “ฉันคิดว่าสมเด็จพระราชินีอาจได้บอกพวกท่านไปแล้วว่า พวกเราไม่มีชีวิตส่วนตัว”
แม้ว่าความเป็นทางการได้ลดลงไปมากในการออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจในต่างจังหวัด แต่ในพระราชวัง ในงานเลี้ยงรับรองในกรุงเทพฯ บรรดาข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังและผู้ที่ต้องการให้พระองค์ท่านโปรดจะยังคงต้องหมอบคลานและคุกเข่า ก่อนที่จะสนทนากับพระองค์ด้วยการใช้คำราชาศัพท์ด้วย
หนึ่งเดือนหลังจากการเสด็จเยี่ยมราษฎรที่สถานีทดลองการเกษตร พระองค์ท่านได้เสด็จกลับไปยังหมู่บ้านชาวเขาในภาคเหนืออีก หนนี้มีชาวเขาเผ่าลาฮู 5 คน เข้าเฝ้าร้องเรียนว่าต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ เพราะชาวเขาอีกเผ่ารุกเข้ามาในที่ดินทำกิน ทำให้พวกเขาไม่มีที่ดินทำกิน
“คนหนึ่งใช้ฟางข้าวแคะฟัน อีกคนเคี้ยวหมากเสียงดัง ตอนที่พระองค์คุกเข่า วางแผนที่ลงกับพื้นเพื่อทอดพระเนตรและหาทางช่วงพวกเขา พระพักตร์พระองค์มีเหงื่อไหลและมีฝุ่นจากถนนดินแดงเกาะติดอยู่ ขณะเดียวกันชาวเขาเผ่าลาฮูก็เข้าล้อมรอบพระองค์แบบไม่มีพิธีรีตองอะไร เห็นได้ชัดว่าพระองค์ท่านจดจ่อกับการพบปะราษฎรและการได้ช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขา มีครั้งหนึ่งพระองค์ท่านประทานสัมภาษณ์เรื่องชายชาวเขาคนหนึ่งซึ่งเมียหนีตามชายชู้ไป ทั้งที่เขายอมจ่ายเงินซื้อหมูสองตัวให้เธอไปแล้ว และพระองค์ได้ทรงตัดสินว่า ฝ่ายสามีควรได้รับเงินชดใช้ ซึ่งเท่ากับให้ปล่อยให้ผู้หญิงเป็นอิสระ พระองค์เล่าแบบมีพระอารมณ์ขันว่า “แต่ปัญหาคือฉันเป็นคนจ่ายเงิน ดังนั้นผู้หญิงคนนั้นต้องเป็นของฉัน”
เกรย์เห็นว่าการที่พระองค์ทรงทุ่มเทให้กับพระราชกรณียกิจตามชนบท เพราะพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้ประเทศไทยพัฒนาตามหลักการเกษตรพอเพียงมากกว่าการให้คุณค่ากับการขยายตัวของสังคมเมือง
ช่วงปลายทศวรรษ 1980 (ระหว่างปีพ.ศ. 2523-2532) ผู้สื่อข่าวต่างประเทศไม่กี่คนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์อีกครั้ง ซึ่งพระองค์ได้ตรัสว่า ความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่ก้าวไปล้ำหน้ากว่าการพัฒนาทางสังคมและจิตใจ ย่อมนำไปสู่การกัดเซาะทางจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ยากจนและไร้อำนาจจะสูญเสียวิถีชีวิตแบบที่เคยเป็นมา เสียที่นาและความดีงามที่น่ายกย่องของพวกเขา พระองค์ตรัสว่า “ประเทศไทยอยู่มาได้จากความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน” หากยังคงมีป่าไม้ ผู้คนที่สัญจรไปมาจะยังมีที่พักฟรีและมีอาหารที่ผู้อื่นปันไว้ให้
ในการพระราชทานสัมภาษณ์นิตยสารแนชันแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 2525 พระองค์ตรัสว่าความสำเร็จของกษัตริย์ยุคใหม่ขึ้นอยู่กับบุคคลที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ไม่ใช่ตัวราชบัลลังก์ และความสำเร็จของพระองค์ในฐานะกษัตริย์มาจากการทำคุณความดี ความวิระยะอุตสาหะ มากกว่าจากมรดกที่ได้รับสืบทอดมา
พระองค์ยังทรงตรัสด้วยว่าราชบัลลังก์ตกต่ำมาก หลังการสละราชสมบัติเมื่อปีพ.ศ. 2475 “เมื่อฉันยังเยาว์วัย เราไม่มีอะไร พรมและเบาะโซฟาในวังมีรูพรุนไปหมด พื้นก็มีเสียงดังเอี๊ยด ๆ มีแต่ของเก่า ๆ เรามีเปียโนหลังหนึ่งที่กรมศิลปากรถวายให้ แต่เสียงมันเพี้ยนนะ ไม่มีอะไรเหมือนในตอนนี้” ซึ่งพระองค์หมายถึงเบาะโซฟาที่นั่งที่เป็นผ้าปักดอกฝีมือละเอียด ผ้าไหมกำมะหยี่ และหิ้งที่เต็มไปด้วยรูปภาพของผู้นำโลกที่พระองค์ทรงรู้จัก ห่างไปไม่กี่เมตรจากบริเวณที่พระองค์ประทับนั่ง มีเปียโนหลังใหญ่ สวยงามไม่มีตำหนิตั้งอยู่ เจ้าหน้าที่รับประกันว่าเสียงของมันตรงคีย์และไม่เพี้ยน
ถนอมจิต พานิชรัตน์ เรียบเรียง
พระราชทานสัมภาษณ์