เปิดสูตรคำนวณเยียวยาผู้ชุมนุม 7.75 ล้าน ใต้เล็งจ่าย 200 ศพแรก 4 เหตุการณ์ใหญ่
เรื่องราวร้อนๆ ที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากที่สุดในสังคมไทยตั้งแต่เปิดศักราชปี 2555 เป็นต้นมา คือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่เห็นชอบในหลักการให้ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง โดยขีดกรอบเวลาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 จนถึงการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553
ประเด็นที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุด คือ ตัวเลขเงินเยียวยาที่เตรียมมอบให้กับผู้เสียชีวิตถึง 7.75 ล้านบาท (เสียชีวิตรายละ 4.5 ล้านบาท บวกเงินเยียวยาจิตใจ 3 ล้านบาท และค่าจัดการศพ 2.5 แสนบาท) ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บและทุพพลภาพก็จะได้รับลดหลั่นกันไป แต่ก็เรียกว่ามากมายกว่าเกณฑ์ที่รัฐเคยจ่ายมากนัก
คำถามที่ยังคงระเบ็งเซ็งแซ่อยู่จนถึงปัจจุบันคือ รัฐบาลใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณา จนเป็น "ที่มา" ของตัวเลขที่ปรากฏต่อสาธารณชน ขณะเดียวกันก็มีคำถามถึงผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงกรณีอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะจ่ายกันอย่างไร ในอัตราเท่าเทียมกันด้วยหรือไม่
คำถามเหล่านี้มีคำตอบระดับหนึ่งจากเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ราคาชีวิต...ผู้เสียหายจากความรุนแรงโดยรัฐ สองมาตรฐานจริงหรือ?" ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา
คอป. : ต้องเยียวยาพิเศษ
นายสมชาย หอมลออ กรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า ประสบการณ์ของต่างประเทศ ผู้ที่เป็น "เหยื่อ" ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในกระบวนการสร้างความปรองดอง เพราะตราบใดที่เหยื่อยังคับข้องใจ ยังระทมขมขื่น การปรองดองก็เกิดยาก
แต่ปัญหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นี้ เพราะถูกหยิบมาเป็นประเด็นทางการเมืองในห้วงที่สังคมไทยยังแตกแยกเป็นฝักฝ่าย แม้แต่ผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเองก็ยังแยกเป็นฝักฝ่าย และแต่ละฝ่ายก็มีผู้สนับสนุนนับล้านๆ คน
อย่างไรก็ดี คอป.เชื่อว่าการเยียวยาบุคคลเหล่านี้จะเป็น "เงื่อนไขเบื้องต้น" ไปสู่การปรองดอง แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ต้องปลดอีกมากและต้องทำงานต่อไป
"หลักการก็คือ รัฐต้องเคารพสิทธิของประชาชนทุกคน ทั้งสิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน หากรัฐล้มเหลว ดูแลไม่ได้ ก็ต้องชดเชยเยียวยา ยิ่งเป็นความขัดแย้งทางการเมืองแล้วเกิดความรุนแรงขึ้นมา ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ข้อเสนอของ คอป.คือให้ใช้มาตรการเยียวยาเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้กำหนดตัวเลขและวิธีการจ่าย ฉะนั้นมติ ครม.ที่ให้จ่ายเงินเยียวยาเป็นมติ ครม.ตามข้อเสนอของ ปคอป.(คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป.) ไม่ใช่ข้อเสนอของ คอป."
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองไปแล้วระดับหนึ่ง แต่เป็นการเยียวยาตามเกณฑ์ของกฎหมายตามปกติ ไม่ใช่เกณฑ์จากความขัดแย้งทางการเมืองหรือสถานการณ์ที่เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วในอดีตประเทศไทยก็เคยมีมาตรการพิเศษเยียวยากรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งดำเนินการอย่างเป็นระบบพอสมควร นอกจากตัวเงินที่รัฐชดเชยให้แล้ว ยังจัดรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพที่ท้องสนามหลวง ใช้พื้นที่สี่แยกคอกวัวสร้างอนุสรณ์สถาน และบันทึกเหตุการณ์ไว้ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเยียวยารูปแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน
สำหรับเรื่องอัตราการจ่ายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เป็นประเด็นที่เคยคุยกันใน คอป.เช่นกัน เห็นว่าบนพื้นฐานที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียชีวิตและร่างกายของประชาชน โดยเฉพาะเพื่อนำไปสู่การปรองดอง ถ้ารัฐบาลได้พิจารณาโดยมีหลักเกณฑ์ที่สามารถอ้างอิงได้ ก็เห็นว่าสมควร ปัญหาคือมีหลักเกณฑ์อ้างอิงได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีคำชี้แจง
"ผมรู้สึกแปลกใจที่สังคมไทยสนใจตัวเงินกันมาก แต่เชื่อว่าเป็นประเด็นที่หยิบยกมาทางการเมือง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือผู้กระทำผิดต้องถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการยุติธรรมไทยทำงานล้มเหลว จึงอยากให้สังคมช่วยกันดู คอป.กำลังศึกษาเรื่องนี้ เพราะเปอร์เซ็นต์การยกฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองมีสูงมาก คนที่ติดคุกฟรีมีสูงมาก ติดคุกเกินกว่าโทษที่ศาลตัดสินก็มีสูงมาก"
"ส่วนตัวคิดว่าคดีอาญาทุกคดีที่อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวนี้ต้องได้รับการเยียวยาทั้งหมด มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้วิธีเอาคนไว้ในกระบวนการยุติธรรมโดยไม่มีหลักฐาน ตำรวจก็เตะลูกไปให้อัยการ อัยการก็เตะลูกไปให้ศาล และศาลล่างก็เตะลูกไปศาลสูง"
ปคอป. : เปิดสูตรคำนวณเยียวยา
นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ โฆษก ปคอป. กล่าวว่า กติกาสากลไม่ได้บอกจำนวนเงินเยียวยาว่าต้องเท่าใด แต่ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าการเยียวยาไม่ใช่การชดเชยเมื่อมีการกระทำผิด ไม่มีการชี้ถูกชี้ผิด แต่เป็นเรื่องของนโยบายรัฐ เป็นดุลพินิจ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะแสดงความรู้สึกร่วมในความเป็นห่วงเป็นใย มีส่วนร่วมในความเสียหายที่เกิดขึ้น และทำให้ผู้สูญเสียรับรู้ว่าสังคมเจ็บปวดไปพร้อมกับผู้สูญเสีย
ทั้งนี้ การเยียวยาความเสียหายจากความขัดแย้งทางการเมืองเป็นคนละเรื่องกับการเยียวยาน้ำท่วม เพราะมีเรื่องของสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้อง มีมาตรการของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ใช้หลักเกณฑ์ตามปกติไม่ได้ จะไปอ้างเรื่องถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้วฟ้องศาลไม่ได้ เพราะใช้เวลานานมาก
โจทย์คือต่างประเทศทำอย่างไร ปคอป.ได้ศึกษาจากอเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ เช่น อาร์เจนติน่า ชิลี ใช้วิธีนำเงินเดือนของข้าราชการระดับสูงมาเป็นตัวตั้ง นั่นก็เป็นโมเดลหนึ่ง สำหรับวิธีคิดของ ปคอป.คือใช้รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีของปี 2553 (ปีที่เกิดเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง) ตัวเลขอยู่ที่ 1.5 แสนบาท จากนั้นก็มาหาอายุเฉลี่ยของผู้ร่วมชุมนุมซึ่งมีอายุระหว่าง 25-40 ปี อายุเฉลี่ยก็น่าจะอยู่ที่ 35 ปี คนเหล่านี้ถ้าไม่เสียชีวิต ยังมีเวลาทำมาหาเลี้่ยงชีพดูแลตัวเองและครอบครัวได้อีกราวๆ 30 ปี ก็นำ 30 มาคูณกับ 1.5 แสนบาท ได้คนละ 4.5 ล้านบาท
"การจ่ายเยียวยาแบบนี้จะลงรายละเอียดมากไม่ได้ เพราะจะเกิดคำถามตามมาอีกมาก ฉะนั้นก็ต้องใช้หลักเกณฑ์กว้างๆ เพื่อให้เป็นธรรมมากที่สุด แต่ตัวเลข 4.5 ล้านบาทยังไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือเป็นความเสียหายทางจิตใจ ซึ่งไม่ได้บอกว่าฝ่ายใดผิด แต่เป็นมาตรการของรัฐ ก็จ่ายชดเชยให้อีกคนละ 3 ล้านบาท และมีค่าจัดการศพอีกรายละ 2.5 แสนบาท รวมทั้งหมดเป็น 7.75 ล้านบาท"
"ที่มีเสียงวิจารณ์ว่าเงินเยียวยาสูง เพราะเราไม่เคยจ่ายสูง จริงๆ แล้วเงิน 4.5 ล้านบาท นำมาหาร 30 ปี แล้วคิดออกมาเป็นวัน จะอยู่ที่วันละ 415 บาท ถ้าคิดจาก 7.5 ล้านบาท (ไม่รวมค่าจัดการศพ) ก็เท่ากับวันละ 694 บาท นี่เป็นการคำนวณโดยไม่ต้องคิดว่าในอนาคตอีก 30 ปีค่าจ้างขั้นต่ำจะไปอยู่ที่ระดับใด และตัวเลขไม่ว่าจะเท่าไร คนรับก็ไม่เคยรู้สึกว่ามาก แต่จะช่วยให้จิตใจพร้อมรับกับความทุกข์ยากได้มากขึ้น ให้รู้สึกว่ารัฐยังเป็นห่วงเป็นใย ไม่ทอดทิ้ง ตัวเลขนี้จึงมีที่มาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงรวมอยู่ด้วยกัน"
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการบ้าน รัฐบาลต้องทำให้ไม่มีสีในการเยียวยา จะเห็นได้ว่ามติ ครม.ตามข้อเสนอของ ปคอป.ไม่มีการเลือกปฏิบัติทั้งในแง่ของสี เพศ อายุ อาชีพ และยังมีมาตรการในรายละเอียดอีกเยอะ ไม่ใช่จบแค่นี้"
เทียบอิหม่ามยะผา 5.2 ล้าน
นายวีระวงค์ กล่าวอีกว่า หลักอีกประการหนึ่งที่ ปคอป.นำมาพิจารณา คือคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง (อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส) ซึ่งเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร (21 มี.ค.2551) คดีนี้ในทางแพ่งมีการเจรจายอมความกันที่ศาล กองทัพบกและกระทรวงกลาโหมยอมจ่ายค่าชดเชย 5.2 ล้านบาท ตัวเลขนี้คงได้รับการพิจารณามาอย่างรอบคอบแล้ว แต่นั่นเป็นความสูญเสียของคนคนเดียว ส่วนการชุมนุมเป็นเรื่องของรัฐ ดีกรีความรุนแรงจึงแตกต่างกัน
"วันนี้สังคมต้องมาคิดว่าจะอยู่ในบรรยากาศแบบนี้ต่อไปหรือร่วมกันนำไปสู่ความปรองดอง ฉะนั้นรัฐบาลต้องทำให้เกิดความรู้สึกร่วม ส่วนเรื่องสองมาตรฐานนั้น ต้องเป็นเหตุการณ์เดียวกันแต่ปฏิบัติต่างกันถึงจะเรียกสองมาตรฐาน กรณีนี้ถ้าจ่ายเฉพาะ นปช.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ถึงจะเรียกสองมาตรฐาน แต่นี่จ่ายหมดทุกคน ทุกสี ทุกอาชีพ ส่วนจะใช้กับกรณีอื่นอีกหรือไม่ ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี เรื่องนี้ไม่ใช่สองมาตรฐานแต่เป็นมาตรฐานใหม่"
ทวี : ขีดกรอบ 200 ศพแรก 4 เหตุการณ์ใหญ่
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง รัฐบาลไม่ได้คิดมาด้วยกัน เพราะการเยียวยาภาคใต้คิดมาก่อนด้วยซ้ำ เนื่องจากได้ประกาศไว้ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ทั้งสองเรื่องมีลักษณะเหตุการณ์บางส่วนที่คล้ายคลึงกัน
ปัญหาภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานาน เพราะยุทธศาสตร์ไม่มีความชัดเจน สถานการณ์ในพื้นที่จึงยังเหมือนเดิม และเชื่อว่าความไม่เป็นธรรมมีอยู่จริง รัฐจึงจำเป็นต้องเข้าไปเยียวยา หลายเหตุการณ์รัฐยังไม่ได้เยียวยาเลย เช่น เหตุการณ์กรือเซะ (ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 มีผู้เสียชีวิต 108 ราย)
"ภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเยอะ มีคนเสียชีวิตกว่า 5 พันคน บาดเจ็บอีกเกือบหมื่นคน มีคนพิการ มีเด็กกำพร้า และคนที่สูญเสียคู่สมรสอีกจำนวนมาก คนเหล่านี้รู้สึกว่ารัฐบาลไม่ดูแล หลายคนยังไม่ได้รับการเยียวยาเพราะกฎเกณฑ์หรือระเบียบเดิมไม่มี แต่ขณะนี้ ศอ.บต.ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากกฎหมาย (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) กำหนดให้เป็นภารกิจหนึ่งของ ศอ.บต.คือเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ"
"หากพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายและฐานคิดเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองจนเกิดความรุนแรง หลายกรณีของภาคใต้ก็คล้ายกับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เช่น เหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ (สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิตจากการสลายและเคลื่อนย้าย 85 ราย เมื่อ 25 ต.ค.47) เหล่านี้จึงได้เริ่มศึกษาว่าหากจะเยียวยาเป็นตัวเงินต้องใช้เท่าไร พบว่าตามหลักศาสนา อย่างประเทศซาอุดิอารเบีย ชดเชยด้วยอูฐ 100 ตัว คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 4.5 ล้านบาท"
อย่างไรก็ดี พ.ต.อ.ทวี ยอมรับว่า การพิจารณาต้องมีความละเอียดรอบคอบ คงไม่ใช่เอาตัวเลขคนตาย 5 พันคน คูณด้วย 7.5 ล้านบาท เพราะต้องใช้เงินถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นจะมีการขีดเส้นเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2547 และเลือกกรณีที่น่าจะมีมาตรฐานเยียวยาเหมือนกัน คือ เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย (กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 10 ราย เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552) และผู้ที่เสียชีวิตหรือสูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรืออยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมๆ แล้วประมาณ 200 กว่าคน
นอกจากนั้นจะพิจารณากรณีผลกระทบจากการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เช่น โรงเรียนปอเนาะ เมื่อถูกปิดล้อมแล้วมีนักเรียนลดลง หรือโรงเรียนถูกสั่งปิด ทำให้ได้รับความเสียหาย เหล่านี้ต้องนำมาพิจารณา ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการครู ข้าราชการฝ่ายปกครอง จะพิจารณาเป็นลำดับไป โดยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา เพราะมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมอีกมาก
อังคณา : ต้องคำนึงถึงสิทธิผู้เสียหายให้มาก
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกอุ้มหาย กล่าวว่า สังคมไทยตั้งคำถามเรื่องเงินเยียวยาเพราะอยากให้มีมาตรฐานหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนก่อนจะกำหนดตัวเลข แต่ ครม.กลับประกาศตัวเลขออกมาก่อน โดยที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐาน จึงทำให้เกิดปัญหา และเกิดคำถามว่าตัวเลขที่ประกาศนั้นมาจากฐานคิดอะไร
ทั้งนี้ มาตรฐานการเยียวยาจะต้องใช้มาตรฐานสากล ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และหลักการที่เคยวางไว้โดยศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป สหรัฐอเมริกา และศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลักการที่ว่าเงินเยียวยาไม่ได้มาจากผู้ร้องเรียนที่เป็นเหยื่อ ฉะนั้นแม้เหยื่อจะไม่ขอรับในเชิงปัจเจก รัฐก็ปฏิเสธการเยียวยาไม่ได้ นอกจากนั้นรัฐยังมีหน้าที่ตรวจสอบและเปิดเผยข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ได้เป็นความรับผิดชอบเฉพาะกับเหยื่อ แต่เป็นหน้าที่ที่มีต่อสังคมโดยรวมด้วย
"แม้การเยียวยาในบ้านเราจะยังมีปัญหาในเรื่องหลักเกณฑ์ แต่ก็ยังรู้สึกดีใจที่วันนี้สังคมไทยกลับมาให้คุณค่ากับชีวิตคน"
นางอังคณา กล่าวอีกว่า อยากให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับสิทธิด้านอื่นๆ ของผู้สูญเสียหรือผู้เสียหายด้วย นอกเหนือจากเรื่องเงินเยียวยาเท่านั้น โดยสิทธิที่ผู้สูญเสียต้องได้รับและเข้าถึงตามกติกาสากล คือ สิทธิในการเข้าถึงความจริง สิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม และสิทธิในการเข้าถึงการชดใช้เยียวยา
ขณะเดียวกัน ผู้สูญเสียหรือ "เหยื่อ" แบ่งกว้างๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐรู้เห็นเป็นใจ และกลุ่มที่ถูกละเมิดโดยเอกชน ซึ่ง 2 กลุ่มแรกรัฐไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย
"คำว่าเหยื่อมีความหมายกว้างมาก และมีสิทธิอันสัมบูรณ์ที่จะได้รับทราบความจริง และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเยียวยาจิตใจ ดิฉันอยากให้สังคมคิดถึงสิทธิของคนที่เป็นเหยื่อมากๆ เพราะคนที่ต้องสูญเสีย ต้องนอนฝันร้ายทุกคืนเป็นเวลา 8 ปี จ่ายเงินเท่าไรก็คงไม่พอ ซ้ำยังต้องสู้คดีในฐานะผู้เสียหาย โดยเป็นฝ่ายต้องพิสูจน์การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบนศาลด้วย เรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้สูญเสียอย่างมาก"
"สลากออมสิน"ไม่เหมาะให้พี่น้องมุสลิม
นางอังคณา ยังตั้งข้อสังเกตว่า การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองก็ตาม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และระมัดระวังไม่คิดแค่สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งแล้วจบไป เมื่อรัฐบาลชุดนี้ออกไป รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก็มารื้อ อย่างนี้ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา
ส่วนรูปแบบการจ่ายเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท (ไม่รวมค่าจัดการศพ) ที่มีข่าวว่า ปคอป.เสนอเป็น 2 ก้อน คือจ่ายเป็นเงินสดและสลากออมสินนั้น ในส่วนของสลากออมสินจะเหมาะสมหรือไม่กับพี่น้องมุสลิม และต้องระวังไม่ให้การจ่ายเงินสร้างความแตกแยกมากกว่าเดิม
คอลีเยาะ : เหยื่อไฟใต้ต้องได้เท่า"เหลือง-แดง"
น.ส.คอลีเยาะ หะหลี ญาติผู้สูญเสียจากกรณีกรือเซะ กล่าวว่า หากผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง เสื้อแดง ได้รับคนละ 7.75 ล้านบาท ผู้สูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคน ไม่มีสองมาตรฐาน แต่อยากฝากว่าหากรัฐตัดสินใจเดินหน้า ทำไปแล้วต้องคุ้มทุน ได้ใจ
"คอลีเยาะเสียพ่อไปในเหตุการณ์กรือเซะ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่รัฐให้เงินมา 2 หมื่นบาทเป็นค่าจัดการศพ และช่วยทุนการศึกษาของลูก ก็ได้มาแค่นี้ ฉะนั้นเรื่องเงินเยียวยาก้อนใหม่ ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าจะได้หรือไม่ได้ เพราะอยากได้ความจริงมากกว่า โดยเฉพาะความจริงของคดีซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน"
พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกประจำตัวแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การดูแลกำลังพลที่สูญเสียจากสถานการณ์ความรุนแรงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และกระทบไปหลายเรื่อง ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จึงให้นโยบายว่าไม่สามารถนำกรณีของกำลังพลไปเปรียบเทียบกับกรณีอื่นได้ เนื่องจากกองทัพมีระเบียบเฉพาะ และมีพื้นที่ปฏิบัติการหลายพื้นที่ เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับชายแดนภาคอื่น หลักเกณฑ์ก็ต่างกัน จึงต้องยึดตามระเบียบที่มีอยู่ และหากจะเยียวยาเพิ่มเติมก็ต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบรอบด้าน เพื่อไม่ให้กระทบกับกฎเกณฑ์เดิม
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟฟิกแสดงกรอบการเยียวยาเบื้องต้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2 นายสมชาย หอมลออ
3 กราฟฟิกแสดงสูตรคำนวณเงินเยียวยาที่เตรียมมอบให้กับญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง
4 นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ
5 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
6 บรรยากาศในเวทีราชดำเนินเสวนา
7 พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก
ขอบคุณ : กราฟฟิก 2 ชิ้นจากฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
อ่านประกอบ :
1 เปิดราคาชีวิต "ตร.-ทหาร-ชาวบ้าน" ชายแดนใต้ กับคำฝากจากใจ "รัฐอย่าสองมาตรฐาน"
2 เคราะห์ซ้ำที่ชายแดนใต้...เงินเยียวยายังไม่มา แต่มีนายหน้าขอหักหัวคิวแล้ว!
3 ศอ.บต.ล้อมคอก"หัวคิวเยียวยา" ญาติเหยื่อแฉซ้ำเจอไถ ใต้วุ่นบึ้มทหารรับตรุษจีน