อ.ปริญญา พานศ.ลงชุมชนป้อมมหากาฬ เสนอ 3 ทางออกด้านกฎหมาย
อ.ปริญญา พานศ.ธรรมศาสตร์ลงพื้นที่เสนอทางออกด้านกฎหมายให้กับชุมชนป้อมมหากาฬ 3 ข้อ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬเผยยินดีจ่ายค่าเช่า คืนค่ารื้อถอน และทำงานร่วมกับกทม.
วันที่ 11 ตุลาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองธิการฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. ปี 4 ที่ทำโครงงานกฎหมายบริการสังคม ลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อเสนอทางออกทางกฎหมาย ทางตันจริงหรือไม่ หรือยังมีทางไป
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬนี้มาจากพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในปีพ.ศ.2535 ในยุคสมัยของนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ที่ดินภายในชุมชนป้อมมหากาฬทั้งหมดกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของกทม.เพื่อนำไปสร้างสวนสาธารณะ และอนุรักษ์ป้อมมหากาฬเป็นโบราณสถาน ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลในยุคสมัยนั้น ดังนั้นหมายถึงว่า นโยบายสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
"หลังจากการได้กลับไปค้นคว้าร่วมกับกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ.ก็ได้พบแนวทางการแก้ไขปัญหาทางด้านกฎหมายมาเสนออยู่ 3 แนวทางด้วยกัน คือ
1.ออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่โดยเปลี่ยนวัตถุประสงค์ จากพระราชกฤษฏีกาเดิมที่ระบุไว้ว่า ให้ทำเป็นสวนสาธารณะและเพื่อการอนุรักษ์ เขียนในฉบับใหม่ให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ป้อมมหากาฬที่เหลืออยู่ เป็นชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ได้ โดยในยุคสมัยนั้นยังไม่ได้มีการระบุสิทธิชุมชนลงในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการระบุสิทธิชุมชนพึ่งมีเขียนในรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงสามารถนำมาเป็นข้อพิจารณาในการขอออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ได้
2. ออกโฉนดชุมชนให้กับชุมชนป้อมมหากาฬ โดยโฉนดชุมชนคือการออกเอกสารสิทธิให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของรัฐที่ชุมชนเคยตั้งอยู่ได้ และเพื่อให้ทางชุมชนสามารถบริหารจัดการภายในได้เองโดยการทำข้อตกลงกับรัฐบาล โฉนดชุมชนจะต่างจากโฉนดที่ดินตรงที่บ้านแต่ละหลังจะไม่มีโฉนดเป็นของตัวเองและซื้อขายไม่ได้
และ 3 คือให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ พระราชกฤษฎีกาพ.ศ.2535 ใหม่ แต่อันนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะนักกฎหมายประเทศเราชอบตีความตามตัวหนังสือ"
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ในเรื่องที่กทม.นำมาอ้าง ที่บอกว่าได้จ่ายค่าเวนคืนไปแล้วต้องทำการรื้อถอน หากไม่ทำตามจะโดนในเรื่องของการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่นั้น ค่าชดเชยแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือค่ากรรมสิทธิ์ ซึ่งการที่เสนอให้ออกพรฎ.ใหม่กรรมสิทธิในที่ดินยังเป็นของกทม.เหมือนเดิม ดังนั้นส่วนนี้จะไม่มีปัญหาคนที่รับเงินไปไม่ต้องจ่ายคืนให้กทม. ส่วนที่สองคือค่ารื้อถอนและค่าขนย้าย ตรงนี้ทางชาวชุมชนได้บอกเองว่า ยินดีคืนให้ทั้งหมด ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถคุยตกลงกันได้
"ที่ผ่านมาชุมชนคิดว่า ไม่มีทางออกใดๆเลยต้องทำการอารยขัดขืน แต่ว่าตอนนี้ทางออกมี ต้องเข้าไปพูดคุยกับทางกทม.เพื่อตกลงกันให้ได้ ชุมชนจะต้องมีชีวิตไม่ใช่แค่ปูนเปล่าๆ"
ในช่วงท้าย ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า การที่นำนักศึกษามาร่วมในการหาทางออกครั้งนี้เพื่อให้เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพราะบางครั้งการเรียนในห้องเรียนไม่เพียงพอ ต้องการให้นักศึกษาเรียนรู้การทำงานกับคนที่ลำบาก ปัจจุบันเรามีนักกฎหมาย 3 แสนกว่าคน อายุเกษียณของอัยการเพิ่มเป็น 70 ปี แต่ปัญหาความไม่ยุติธรรมยังมีอยู่ในสังคมเป็นเพราะอะไร อยากให้นักศึกษาได้มาเห็นและนำไปใช้ในการประกอบอาชีพละช่วยกันแก้ปัญหานี้ให้ได้ในอนาคต
ด้านนายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ยินดีที่จะปรับปรุงชุมชนตามที่กทม.เห็นว่าสมควร โดยปัจจุบันทางชุมชนได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมสถาปนิกสยามในการมาช่วยออกแบบชุมชนโบราณ และยินดีเปิดพื้นที่บ้านบางหลังให้เป็นสาธารณะ และยินดีที่จะจ่ายค่าที่อยู่อาศัยเป็นค่าเช่าให้กับทางกทม. ส่วนเรื่องค่ารื้อถอนที่กทม.ได้จ่ายมานั้น ทางชุมชนยินดีคืนเงินให้ทุกบาทโดยนำเงินมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ของชุมชนที่สะสมมานานกว่า 17 ปี