ปธ.ออกแบบรัฐสภาใหม่ค้านสร้าง "สะพานเกียกกาย" ชี้ทำลายความสง่างาม
ผู้ออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ย้ำชัด กทม.สร้างสะพายข้ามเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย บังทัศนียภาพรัฐสภาใหม่ ชี้เบี่ยงแนวสะพาน-ทำอุโมงค์ลอดใต้น้ำจ่ายแพงขึ้น แต่คุ้ม
นายธีรพล นิยม ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการรัฐสภาแห่งใหม่ และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) เปิดเผยกับ ‘สำนักข่าวอิศรา’ ถึงกรณีการออกมาคัดค้านแนวทางการสร้างสะพานเกียกกายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยชี้แจงสาเหตุการคัดค้านเรื่องนี้ว่า ไม่ได้ต้องการคัดค้านเรื่องการสร้างสะพาน เพื่อแก้ปัญหาจราจรของคนส่วนใหญ่ และไม่ได้ต้องการปกป้องอาคารรัฐสภา ซึ่งตนเองเป็นผู้ออกแบบ แต่เนื่องจากอาคารรัฐสภาเป็นอาคารสำคัญที่แสดงความเป็นชาติ สะท้อนภูมิปัญญา แสดงความภาคภูมิใจให้กับประชาชน และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ดังนั้น เมื่อมีสะพานมาอยู่ใกล้จึงไม่ใช่เรื่องของการบดบังทัศนียภาพอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องสิ่งสำคัญที่ไม่อยากให้มีสิ่งก่อสร้าง สิ่งกีดขวางมาทำให้คุณค่า ความสง่างามหมดไป
“เรายกตัวอย่างเสมอเรื่องวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นเส้นขอบฟ้า (sky line) ของแม่น้ำเจ้าพระยา หากเราไปสร้างสะพานจ่อใกล้ๆ ก็เท่ากับไปลดความศักดิ์สิทธิ์ ความสง่างาม เปรียบเปรยกับอาคารรัฐสภา ถึงแม้จะไม่ใช่วัดหรือวังก็ตาม แต่ก็เป็นสถานที่สำคัญในแง่นิติบัญญัติ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของชาติอันหนึ่ง”
นายธีรพล กล่าวย้อนถึงการเลือกทำเลที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่ มีการวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยว่า ทำไมถึงต้องมาเลือกทำเลนี้ ก็เพราะว่า หลักคิดในการสร้างรัฐสภา หรือสร้างอาคารสำคัญของเมือง (Civic Center) เช่น ทำเนียบรัฐบาล วัดหลวง ประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นจะเลือกสร้างในพื้นที่เมืองเก่า เพื่อจะได้ตอกย้ำความภาคภูมิใจที่เราสามารถรักษาความเป็นประเทศเอกราชมาได้ยาวนาน อย่างประเทศไทยก็ใช้แนวคิดนี้
ส่วนประเทศที่เคยเป็นประเทศราช เป็นเมืองขึ้นก็จะนิยมไปสร้างในพื้นที่อื่นเลย เพื่อลืม ลบอำนาจของเจ้าอาณานิคมที่เข้ามาปกครอง ฉะนั้น เมื่อเราเลือกทำเลด้วยหลักคิดเช่นนี้ ทำไมถึงจะเอาสะพานมาทำลายความสง่างาม ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ
ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการรัฐสภาแห่งใหม่ มองว่า การสร้างสะพานเกียกกายของ กทม.เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อสร้างไปแล้วเกิดปัญหาจะแก้ไขได้ยาก เพราะใช้เงินใช้ทรัพยากรไปมหาศาลแล้ว และเป็นการสร้าง'ตราบาป' ด้วยว่า ทำไมเมื่อมีคนคัดค้าน รัฐบาลซึ่งต้องการกระบวนการประชารัฐ กระบวนการทำงานที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ก็น่าจะมีวิธีการทำงานที่ศึกษากันอย่างละเอียด กอปรกับประเทศไทยเองก็มีผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ฉะนั้น น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของบ้านเมืองจริงๆ
“คือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องประนีประนอม (compromise) กันได้โดยที่ไม่มีหลักการ ต้องดูความจำเป็น ดูความสำคัญก่อนเป็นประการแรก และต้องอาศัยวิสัยทัศน์ด้วยว่า อาคารรัฐสภา ไม่ใช่อาคารเพื่อประโยชน์ใช้สอยธรรมดา (office building) แต่เป็นการสร้างบ้านสร้างเมือง ขวัญบ้านขวัญเมืองที่อยู่คู่ไปกับการเติบโตของเมือง เพราะฉะนั้นสะพานต้องมาสนับสนุน ไม่ใช่ทำลาย”
สำหรับแนวทางการแก้ไขนั้น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ชี้ว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เช่นกรณีการเบี่ยงแนวสะพานไปทางบางซื่อก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ซึ่งหากคำนวณดูง่ายๆ จะพบว่า เราสร้างรัฐสภาปัจจุบัน ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม 12,000 ล้านบาทเป็น 17,000 ล้านบาท และเมื่อรวมระบบไอทีจะตกอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท บวกกับค่าที่ดินที่ตั้งรัฐสภา อีกประมาณ 50,000 ล้านบาท ก็เป็น 70,000 ล้านแล้ว
ขณะที่ค่าก่อสร้างสะพาน กทม. ระบุว่าประมาณ 4,000 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินอีก 7,000 ล้านบาทรวมๆเฉียด 100,000 ล้านบาท แล้วทำไมเราจะมาสร้างสะพานทำลายความสง่างาม เสียประโยชน์กันทุกฝ่าย
ส่วนกรณีการสร้างอุโมงค์ที่มีการระบุว่า จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่านั้น นายธีรพล ระบุว่า เบื้องต้นได้เคยศึกษา โดยให้บริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าในบ้านเราประเมิน ระบุว่า จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ซึ่งก็ต้องศึกษาในรายละเอียดกันต่อไป
“สมมุติว่าค่าก่อสร้าง 4,000 ล้านบาทเพิ่มมา 2 เท่าก็ 8,000 ล้าน เพิ่มมาอีกแค่ 4,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดเกือบแสนล้านบาท ถือว่าไม่มาก การแก้ไขก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ทรัพย์กันบ้าง แต่ก็เพื่อไม่ให้ไปทำลายสิ่งที่เสียเกือบแสนล้านบาท”
นายธีรพล ย้ำชัดถึงการออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ไม่ได้เพราะตนเองเป็นผู้ออกแบบ หรืออยากรักษาชื่อเสียง แต่ต้องการปกป้องประโยชน์ของบ้านเมือง
“อาคารรัฐสภา ‘สัปปายะสภาสถาน’ โดยอุดมคติเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำงาน เพื่อประโยชน์ส่วนร่วม เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรมีสิ่งก่อสร้างอะไรที่มากระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์นี้ เราจึงต้องการให้มีการเบี่ยงแนวสะพานไปบางซื่อ หรือทำอุโมงค์ลอดใต้น้ำ ซึ่งในหลักการสามารถทำได้อยู่แล้ว”
สำหรับความคืบหน้าการคัดค้านโครงการนี้ หลังจากมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่านที่ตระหนักถึงความเสียหาย อาทิ ศ.ระพี สาคริก, ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส , ดร.การุญ จันทรางศุ อดีตรองผู้ว่ากทม. และศิลปินแห่งชาติหลายราย ร่วมกันลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อขอคัดค้านการสร้างสะพานเกียกกายตามแนวทางของ กทม. ซึ่งต่อมาทางสำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาเรื่องนี้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ บ้านเมืองเป็นสาระสำคัญ และนายกฯ ได้มอบหมายให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการติดตามโครงการก่อสร้างสะพานเกียกกาย
ขณะนี้หลังจากพลเอกประวิตร ได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาชี้แจง ก็ได้มีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาแก้ปัญหาดังกล่าว
และเมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจ้งแล้ว คาดจะนำความเห็นของทุกฝ่ายเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ภายหลังพลเอกอนุพงษ์ รับฟังความเห็นของทุกฝ่ายแล้ว ในการประชุมพบว่า ทาง กทม.ยังคงยืนยันจะดำเนินการตามแผนเดิม ขณะที่ด้านสภาสถาปนิก สมาคมสถาปนิกฯ สภาวิศวกร รวมถึงผู้ออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ ต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่างน้อยที่สุด ควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในรายละเอียด เพราะทั้งสองฝั่งยังมีความเห็นต่างกันอยู่ และเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่
นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังเปิดเผยด้วยว่า เคยมีสุ่มเสียงจากฝั่งบิ๊กทหาร ที่เห็นด้วยกับแนวทางการเบี่ยงสะพานไปทางคลองบางซื่อ เพราะเป็นพื้นที่ราชพัสดุที่ทหารใช้อยู่ แต่สุดท้ายดูเหมือนเรื่องจะเงียบไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สะพานเกียกกาย สร้าง หรือ ทำลายความสง่างามของเมือง
สร้างสะพานข้ามเจ้าพระยาเกียกกาย เสียหายใหญ่หลวง-กระทบรัฐสภาใหม่