ส.วิศวกรรมฯ เชื่อทุ่งรับน้ำทำไม่ทัน เตือนเตรียมอ่วมอีกรอบ
วสท.วิพากษ์ 6 แผนเร่งด่วนจัดการน้ำ กยน. ระบุทุ่งรับน้ำ-องค์การน้ำทำไม่ทัน ก.พ. เตือนประชาชนเตรียมอ่วมอีกรอบ แนะฟลัดเวย์ไม่ควรที่ต้นน้ำนครสวรรค์ เสนอกระจายอำนาจ อปท.
วันที่ 20 ม.ค.55 สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(วสท.) จัดสัมมนา“วิเคราะห์แนวทางเพื่อเสนอยุทธศาสตร์บริหารจัดการลุ่มน้ำ” โดยนายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายก วสท. กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ(กยน.) จัดทำ 6 แผนเร่งด่วนแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยจะเริ่มดำเนินการภายใน ก.พ. 55 นั้น แผนข้อ 1-4 นั้นรัฐบาลสามารถดำเนินการทันก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ได้แก่ 1.การระบายน้ำจากเขื่อนหลัก 2.การฟื้นฟูและปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง อาทิ การขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงคันกั้นน้ำ 3.การปรับปรุงข้อมูลระบบเตือนภัย 4.แผนงานเผชิญเหตุน้ำท่วมเฉพาะที่ เช่น การจัดการด้านคมนาคมช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ส่วนข้อ 5-6 ได้แก่ 5.แผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำ และ 6.การปรับปรุงองค์กรบัญชาการวิกฤตน้ำท่วม ไม่สามารถจัดการได้ทันภายในไม่กี่เดือน โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่รับน้ำที่ต้องอาศัยข้อมูลนำมาวิเคราะห์เพื่อนำสู่กระบวนการจัดการ ดังนั้น วสท.เชื่อว่าประชาชนคงต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับอุทกภัยในปีนี้อีก
นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า การขุดลอกคูคลองไม่สามารถทุเลาปัญหาการระบายน้ำได้สูงนัก ขณะที่แนวทางกำหนดพื้นที่รับน้ำและทางด่วนระบายน้ำ(ฟลัดเวย์) ช่วงฤดูน้ำหลากเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ควรดำเนินการช่วงปลายน้ำ ไม่ควรเริ่มตั้งแต่นครสวรรค์ มิเช่นนั้นจะไม่มีแหล่งกักเก็บในฤดูแล้ง ควรกำหนดให้ภาคกลางตอนบนเก็บน้ำ ตอนกลางชะลอน้ำ และกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดภาคกลางตอนล่างระบายน้ำ
“สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เห็นในแผนของรัฐบาลคือการป้องกันพื้นที่โรงพยาบาล คลองประปา และสนามบิน ซึ่งควรกำหนดอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจในสายตานานาชาติ” นายก วสท. กล่าว
ด้านนายเรืองวิทย์ โชติวิทย์ธานินทร์ สมาชิก วสท. กล่าวว่ารัฐบาลต้องหันมาให้ความสำคัญกับชุมชนอย่างจริงจัง โดยกระจายอำนาจการบริหารสู่หน่วยงานท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ให้มีอำนาจจัดการน้ำอย่างทันท่วงที ภายใต้บริบทที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น
“ชุมชนต้องจัดทำแผนพึ่งพาตนเอง กำหนดพื้นที่ดอนสำหรับแหล่งพักพิงยามวิกฤต มีวิทยุสื่อสาร ห้องสุขา อาคารยกสูง เรือ สิ่งอำนวยสะดวกที่เอื้อต่อผู้ประสบภัย โดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ ที่สำคัญควรส่งเสริมให้เกษตรกรภาคเหนือปลูกพืชขั้นบันไดเพื่อชะลอน้ำ” นายเรืองวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ วงเสวนาได้สรุปแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำร่วมกัน เพื่อเสนอเป็นยุทธศาสตร์ต่อรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่น โดย แผนระยะเร่งด่วน 5 เดือน ม.ค.–พ.ค.55 เช่น จัดเวทีให้ความรู้ด้านภัยพิบัติ, รวบรวมข้อเท็จจริงน้ำท่วมปี 54, ปรับปรุงอาคารบ้านเรือน, ตั้งคณะกรรมการชุมชนติดตามน้ำ แผนระยะกลาง ภายใน 5 ปี 2555 -2560 เช่น ขุดลอกคูคลอง จัดการการบุกรุกคูคลอง, ศึกษาระบบคันกั้นน้ำแบบบูรณาการตามสภาพพื้นที่, ศึกษาระบบคันปิดล้อมที่สอดคล้องกัน ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล คลองเหนือ คลองใต้, จัดระบบการปลูกพืชให้สอดคล้องกับน้ำหลาก และปรับปรุงผังเมืองและการใช้ที่ดินบริเวณนิคมอุตสาหกรรม
ส่วน แผนระยะยาว นานกว่า 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป เช่น ส่งเสริมให้หยุดตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจัง, ศึกษาและจัดทำมาตรการตัดยอดน้ำที่มาจากส่วนบน ปิง วัง ยม น่าน และศึกษาจัดทำมาตรการชะลอน้ำ การเชื่อมต่อสายน้ำ .