‘วิษณุ’ ปลุกคนไทยเป็นพระเอกนางเอกร่วมปฏิรูป
รองนายกฯ แนะคนไทยโดดร่วมวงปฏิรูป หยุดเถียงเรื่องที่มานายกฯ พร้อมย้ำ รธน. เขียนยุทธศาสตร์ชาติ ไว้ชัด รัฐบาลไหนบิดพลิ้วไม่ทำ เสี่ยงถูกถอดถอน
วันที่ 7 ตุลาคม 2559 ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษ ‘เรื่องการปฏิรูปประเทศไทย : สู่ประเทศไทย 4.0 กับการพัฒนาที่ยั่งยืน’ จัดโดยสมาคมวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม 401 อาคารประชุมสุข อาชวอำรุง(อาคาร3) คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.ดร.วิษณุ กล่าวตอนหนึ่งถึงการพัฒนายุค 4.0 ว่า ไม่ใช่ตัวเลขไร้สาระ แต่เป็นห้วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ ที่มีพัฒนาการเป็นไปตามสภาวะ เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่การพัฒนายุค 1.0 หรือ 2.0 โดยยุค 4.0 นี้บางคนอาจเรียกว่า ยุคนวัตกรรม สังคมผลิตภาพก็ได้
สำหรับการพัฒนาของประเทศไทยที่ผ่านมา ศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า พบว่ามีวาทกรรมหลากหลาย เช่น มั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน โรดแมป ปฏิรูป หรือยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ยังไม่มีการนำมาใช้เป็นชิ้นเป็นอัน รัฐบาลจึงระบุเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลให้ทุกรัฐบาลต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติจะนำไปสู่การถอดถอนหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่างจากเดิมที่ไม่มีโทษใดๆ
ทั้งนี้ ภายในเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 คาดว่าจะมีการออก พ.ร.บ.กำหนดวิธีการทำยุทธศาสตร์ชาติ และจากนั้นต้องเขียนยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา ซึ่งทันในรัฐบาลนี้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ยุทธศาสตร์ชาติ ถูกโจมตีจากฝ่ายการเมืองว่า รัฐบาลมีวาระ 4 ปีหมดวาระก็ไป จะเขียนยุทธศาสตร์คลุม 20 ปีได้อย่างไร ตรงนี้ยืนยันว่า ฝ่ายการเมืองที่เข้ามาสามารถทบทวน เปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้เป็นทิศทางของประเทศ
ศ.ดร.วิษณุ กล่าวถึงการปฏิรูป คือกระบวนการขับเคลื่อนขนาดใหญ่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การพัฒนา 4.0 ที่มั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน ซึ่งจะปฏิรูปได้นั้น ต้องเกิดจากความพร้อมใจของมวลมหาชน มีกระบวนการในการขับเคลื่อน และต้องมีเป้าหมาย ตอบโจทย์ปัญหา
“เรื่องปฏิรูปประเทศไทยในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะประกาศนี้ มาตรา 258 พูดถึง 7 ด้าน ที่รัฐบาลต้องทำ ถ้าไม่ทำอะไรอยู่ไม่ได้ ต้องถูกอภิปราย คือ 1.ปฏิรูปพรรคการเมือง นักการเมือง 2.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 3.ปฏิรูปกฎหมาย 4.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ 5.ปฏิรูปการศึกษา 6.ปฏิรูปเศรษฐกิจ เรื่องเกษตร ภาษี 7.ปฏิรูปด้านอื่น ๆ เช่น สาธารณสุข ทรัพยากร การจัดการน้ำ ขยะมูลฝอย แพทย์ ระบบที่ดิน ซึ่งการปฏิรูปทั้งหมดนี้ กำหนดเส้นตายไว้ที่ 5 ปี
สำหรับเป้าหมายของการปฏิรูป รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อตอบสนองประเทศใน 8 ส. คือ 1.เพื่อให้ประเทศไทยมีความสงบเรียบร้อย ในมิติทางการเมือง 2.มีความสามัคคีปรองดอง 3.มีความสถาพร หรือพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 4.มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางวัตถุและจิตใจ 5. ประเทศไทยสงบสุข 6.มีความเสมอภาค 7.ทำให้คนไทยมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 8.มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“หัวใจสำคัญของการปฏิรูปอยู่ที่เรื่องการศึกษา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสนใจมาก อีกทั้งเรื่องของการปฏิรูป เป้าหมายการปฏิรูปในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ยาวมาก แต่คนกลับไม่ค่อยสนใจ ทั้งที่ความจริงหมวดเรื่องของการปฏิรูป เป็นเรื่องที่คนทั่วไปกระโดดไปเล่นได้เต็มตัว เป็นพระเอกนางเอกชูโรงได้ แต่ไปสนใจแต่เรื่องคำถามพ่วง นายกฯ คนในคนนอก ส.ว.อยู่กี่ปี เลือกนายกฯเลือกอย่างไรเท่านั้น”