ป.ป.ช.มติเอกฉันท์! ตีตกกราวรูดสารพัดคดี‘ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์-บิ๊กโอ๋-กรณ์’
ป.ป.ช. มติเอกฉันท์ ตีตกสารพัดข้อกล่าวหากราวรูด ‘ยิ่งลักษณ์’ ปมไม่ทำตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. เปิดราคากลางจัดซื้อจัดจ้าง ‘บิ๊กโอ๋’ ถอดยศอภิสิทธิ์ ‘มาร์ค-กรณ์-ศิริโชค’ ซื้อไทยคมเอื้อประโยชน์พวกพ้อง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตีตกข้อกล่าวหาแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง และนายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในคดีต่าง ๆ 3 คดี ได้แก่
หนึ่ง ตีตกข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 เนื่องจากไม่มีมติคณะรัฐมนตรีให้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.
กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำรายงานถึงคณะรัฐมนตรี ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้หน่วยงานของรัฐเร่งจัดทำข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาตามโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ให้คำนึงว่าการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่สำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 103/7 จึงขอให้ทบทวนอีกครั้ง
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาข้อหารือของคณะรัฐมนตรี กรณีสำนักงาน ป.ป.ช. ขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี โดยเห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งได้ สิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงมาตรการที่เสนอแนะตามมาตรา 19 (11) เท่านั้น หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้ให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปหารือข้อกำหนดดังกล่าวอีกครั้ง กระทั่งปี 2556 คณะรัฐมนตรีมติให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ถือปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ พ.ร.บ.ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ส่อกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สอง ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.อ.สุกำพล กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการบรรจุเข้ารับราชการ การขึ้นทะเบียนกองประจำการ และแต่งตั้งยศทหารของ ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ ออกจากราชการโดยมิชอบ รวมทั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการได้สอบสวนกรณีบรรจุเข้ารับราชการ และแต่งตั้งยศทหารของ ร.ต.อภิสิทธิ์ โดยมิชอบ
โดยจากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.อ.อ.สุกำพล ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ร้องเรียนขอให้ถอดยศของ ร.ต.อภิสิทธิ์ และเรียกคืนเงินเดือน เบี้ยหวัด โดยผลการสอบสรุปได้ว่า เอกสารมีความถูกต้องว่า นายอภิสิทธิ์ เข้าบัญชีทหารกองเกิน เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2529 แต่ในการขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ ได้ใช้เอกสารใบ สด.9 แทนฉบับที่ชำรุดสูญหาย ลงวันที่ 8 เม.ย. 2531 ไม่ใช่ฉบับลงวันที่ 4 ก.ค. 2529 จึงเป็นการไม่ถูกต้อง
ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาฯดำเนินการต่อไป ซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาฯ ได้หารือข้อกฏหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเป็นไปโดยชอบด้วยกฏหมาย และได้ให้โอกาสนายอภิสิทธิ์เข้าชี้แจงแล้ว และไม่ได้คัดค้านบุคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาฯแต่อย่างใด โดยขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ ยังเป็นนายทหารนอกราชการ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2552 จึงเป็นนายทหารประเภทที่ 5 ตามข้อบังคับทหารฯ และสามารถถูกดำเนินการทางวินัย และถูกปลดออกจากราชการได้ ซึ่งผลการสอบสวนของคณะกรรมการพิจารณาฯ พบว่า นายอภิสิทธิ์ ได้กระทำผิดวินัยทหารร้ายแรง จึงเสนอให้สมควรปลดออกจากราชการ โดยเป็นไปตามขั้นตอน ประกอบกับคำพิพากษาของศาลแพ่งเห็นว่า เป็นคำสั่งโดยชอบแล้ว และไม่ปรากฏพฤติการณ์ของ พล.อ.อ.สุกำพล เข้ามาแทรกแซงแต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาฯ และการมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ ออกจากราชการ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สาม กรณีตีตกข้อกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ นายกรณ์ นายศิริโชค กรณีแพร่ข่าวสู่สาธารณชนเมื่อปี 2553 ว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะซื้อกิจการดาวเทียมไทยคม หรือหุ้นของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) คืนจากบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเอื้อให้บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคมฯ โดยมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า มีสาระสำคัญที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 การเดินทางไปหารือกับบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด เกี่ยวกับเรื่องแนวคิดที่รัฐบาลจะซื้อคืนกิจการดาวเทียมไทยคม เป็นการปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่
จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า แม้การซื้อคืนกิจการดาวเทียมไทยคมไม่ได้กำหนดไว้ในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และกิจการดาวเทียมไทยคมอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็ตาม แต่กรณีการเดินทางไปหารือกับผู้บริหารของบริษัท เทมาเส็กฯ มีเหตุผลจากการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ในการให้มีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เนื่องจากพบว่า สถานีโทรทัศน์พีเพิ้ล ชาแนล ซึ่งใช้บริการช่องสัญญา Ku-Band ดาวเทียมไทยคม 5 ของบริษัท ไทยคมฯ ได้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศอฉ. จึงมีหนังสือขอให้กระทรวงไอซีทีแจ้งบริษัท ไทยคมฯ ยุติการส่งสัญญาณ และ ศอฉ. มีหนังสือแจ้งบริษัท ไทยคมฯ ยุติการส่งสัญญาณอีกทางด้วย แต่บริษัท ไทยคมฯ อ้างว่า ไม่สามารถระงับการออกอากาศของสถานีได้ โดยมีเหตุผลด้านเทคนิค และมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาคัดค้านการระงับสัญญาณออกอากาศดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้นายอภิสิทธิ์ มีบัญชาให้นายกรณ์ และนายศิริโชค ในฐานะเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ ไปประเทศสิงคโปร์ เพื่อชี้แจงสถานการณ์ให้ผู้บริหารบริษัท เทมาเส็กฯ รับทราบสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ และได้มีการหารือร่วมกันเพิ่มเติมว่า แนวทางหนึ่งอาจจะเป็นการซื้อสินทรัพย์ดาวเทียมไทยคมคืน ซึ่งเป็นเพียงการพูดคุยในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมหลายประเด็น และได้กลับมารายงานให้นายอภิสิทธิ์ทราบ โดยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ หรือปรึกษาเพิ่มเติมกับบุคคลอื่น ๆ อีก และผลที่สุดแล้วรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการซื้อกิจการดาวเทียมไทยคมคืนจากบริษัท เทมาเส็กฯ แต่อย่างใด ดังนั้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าทั้ง 3 รายปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล
ประเด็นที่ 2 การให้สัมภาษณ์ข่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย เป็นการเอื้อให้บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือไม่
จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าสภาพการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคมฯ ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากทั้งด้านราคาและปริมาณการซื้อขาย ส่วนการให้สัมภาษณ์ข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เกิดขึ้นภายหลังจากที่ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว จึงน่าเชื่อว่าสภาพการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคมฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากข่าวที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการให้สัมภาษณ์ของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
นอกจากนี้จากการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย รวมถึงบุคคลในคณะรัฐบาล ไม่พบว่า มีการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคมฯ พบเพียงบุคคลที่มีนามสกุลคล้ายกับบุคคลในคณะรัฐบาลซื้อขายหุ้นจำนวน 16 ราย แต่ตรวจสอบพฤติกรรมการซื้อขายแล้ว ไม่เข้าข่ายเป็นการใช้ข้อมูลภายในแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่มีผู้ต้องสงสัยที่ซื้อหุ้นบริษัท ไทยคมฯ จำนวนมากในลักษณะน่าสังเกต จำนวน 2 รายนั้น ตรวจสอบแล้วไม่มีมีข้อมูลบ่งชี้ว่าฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาแล้ว เห็นว่า เป็นไปตามกลไกปกติของตลาดที่มีผู้ลงทุนจำนวนมากสนใจซื้อจากอิทธิพลของข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนขณะนั้น แต่ไม่แสดงว่ามีการสร้างราคาหลักทรัพย์โดยบุคคลใด จึงเห็นควรให้ยุติการตรวจสอบดังกล่าว ดังนั้นจากพยานหลักฐานดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าการให้สัมภาษณ์ข่าวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เป็นการเอื้อให้บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นบริษัท ไทยคมฯ โดยมิชอบ ข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูล
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเอกฉันท์ว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป