ชุมชนริมน้ำย้ายขึ้นแฟลต 'ประวิตร' ยันกันงบฯ 1.4 หมื่นล.สร้างแลนด์มาร์คเจ้าพระยาแล้ว
พล.อ.ประวิตร ส่งมอบแฟลตให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 64 ครัวเรือน ยันนายกฯ หวังอยากให้เรื่องนี้สำเร็จ เตรียมงบฯ 1.4 หมื่นล้านบาทไว้แล้ว
วันที่ 7 ต.ค เวลา 09.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย พร้อมด้วยพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และคณะ ได้เดินทางมาที่ชุมชนเขียวไข่กา เขตดุสิต เพื่อเยี่ยมชาวชุมชนเขียวไข่กาที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และก้าลังย้ายเข้าอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ที่ทางรัฐบาลจัดเตรียมเอาไว้ให้ที่แฟลตขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ย่านเกียกกาย
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า รวมระยะทาง 14 กิโลเมตร กระทรวงความมั่นคงมนุยษ์รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินการดูแลผู้ที่ได้ผลกระทบจากการเวนคืนพื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 12 ชุมชน 309 ครัวเรือน ได้ทำการจัดหาที่อยู่ใหม่ให้กับประชาชนเป็นแฟลตขส.ทบ.ที่ตั้งอยู่ย่านเกียกกาย
สำหรับแฟลต ขส.ทบ. ขณะนี้มีจำนวน 64 ห้อง สามารถรองรับชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา 3 ชุมชน คือ ชุมชนเขียวไข่กา วัดสร้อยทอง และปากคลองบางเขนใหม่รวมจำนวน 40 ครัวเรือนและยังรองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างรัฐสภาใหม่ จำนวน 2 ชุมชน คือ ชุมชนองค์การทอผ้าและริมไทร รวมจำนวน 24 ครัวเรือน โดยรวมจำนวนผู้ที่อยู่อาศัยจำนวน 64 ครัวเรือน และจะเน้นให้ชุมชนเดิมอยู่ใกล้กันมากที่สุด
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการทำสัญญาเช่าระหว่างสหกรณ์ฯ กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยสมาชิกจะต้องชำระเงินจำนวน 27,033 บาท ประกอบด้วย 1. ค่าธรรมเนียมการให้เช่า 3 ปี 24,030 บาท 2. หลักประกันล่วงหน้า 3 เดือน 3,003 บาท ซึ่งผู้เช่าจะเสียค่าเช่าเดือนละ 1,001 บาท ยังไม่ร่วมค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เป็นสัญญาเช่าระยะเวลา 30 ปี
ขณะที่พลเอกประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายอย่างชัดเจนในการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถให้คนมาออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ในอนาคต
“ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจริงๆแล้วเขาก็ไม่อยากอยู่ แต่ที่ต้องอยู่เพราะความยากจน กระทรวง พม.ก็ใช้งบประมาณต่างๆเพื่อมาตกแต่งแฟลตให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้เข้ามาอาศัย ทั้งหมดคือความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นั่นก็คือประชารัฐ โครงการนี้เป็นงานที่นายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างมาก และก็อยากให้เรื่องนี้สำเร็จ โดยท่านได้เตรียมเงินไว้แล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อที่จะมาทำโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและเพื่อมาชดเชยให้กับประชาชนที่เดือดร้อน"
พลเอก ประวิตร กล่าวถึงกระแสส่วนน้อยที่มาต่อต้านโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา โดยคิดว่าโครงการนี้จะไปทำลายทัศนียภาพและทำลายแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งความจริงแล้วมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับแม่น้ำนี้น้อยมาก ไม่ได้ทำให้ความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลง เมื่อรัฐสามารถรื้อถอนที่ที่ประชาชนบุกรุกออกไปได้จะมีพื้นที่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น
เมื่อถามถึงงบประมาณแฟลตขส.ทบ. รองนายกฯ กล่าวว่า ใช้งบประมาณไม่มากในการปรับปรุง ครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดี ลองไปเทียบกับชุมชนที่อยู่ริมน้ำว่า อยู่กันอย่างไร ความปลอดภัยของแฟลตขส.ทบ. มีมากกว่าแน่นอนและโครงการนี้ระยะยาวถึง 30 ปี ผ่อนเพียงพันบาทและเป็นที่อยู่อาศัยที่ถูกต้องของตัวเอง ไม่ต้องหลบซ่อนเกรงว่ารัฐจะมาไล่
ส้าหรับชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีจำนวน 10 ชุมชน รวม 285 ครัวเรือน คือ (1.) ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ (2.) ชุมชนวัดสร้อยทอง เขตบางพลัด (3.) ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี (4.) ชุมชนเขียวไข่กา (5.) ชุมชนซอยศรีคาม(แนวเขื่อนไม่ชัดเจน) (6.) ชุมชนราชผาทับทิม (7.) ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม (8.) ชุมชนมิตรคาม 1 (9.) ชุมชนมิตรคาม 2 (10.) ชุมชนวัดเทวราชกุญชร นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ จ้านวน 2 ชุมชน ซึ่งอยู่ในแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยของ พอช. ด้วย คือ (1.) ชุมชนองค์การทอผ้า และ (2.) ชุมชนริมไทรรวม 24 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างที่พลเอก ประวิตร กำลังให้สื่อสัมภาษณ์ ได้มีตัวแทนของชุมชนป้อมมหากาฬได้มายื่นหนังสือถึงพลเอก ประวิตร เพื่อต้องการนำเสนอแผนการปฎิบัติงานรูปแบบใหม่ โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 โดยมีพล.อ.ประวิตร เป็นประธาน แต่ทางชุมชนป้อมมหากาฬกลับไม่ได้มีโอกาสเข้าไปชี้แจงและนำเสนอมหากาฬโมเดล ซึ่งการประชุมครั้งนั้นรับฟังแต่เหตุผลของทางกทม.เพียงฝ่ายเดียว ทางชุมชนเลยอยากให้พลเอกประวิตรได้ฟังข้อมูลจากทางชุมชนป้อมมหากาฬฯบ้าง โดยตัวแทนชุมชนยังบอกอีกว่าต้องการที่ให้มีการเปิดเวทีเพื่อพูดคุยเจราจรกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการตั้งพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหา และพลเอกประวิตรได้รับมอบหนังสือไว้พิจารณา