ครม.ส่วนหน้า...ครม.ส่วนไหน
ผ่านคณะรัฐมนตรีและจัดประชุมนัดแรกกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ "ครม.ส่วนหน้า" หรือผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
น่าสังเกตว่า องค์ประกอบของ “ครม.ส่วนหน้า” 13 ชีวิต ในระดับหัวๆ ล้วนเป็นอดีตนายทหารระดับสูงซึ่งเป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 14 ถึง 3 คน คือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม อดีต ผบ.ทบ. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ อดีตรองเสนาธิการทหารบก และ พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตเสนาธิการทหารบก และหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
นอกจากนั้นยังมีอดีตแม่ทัพและรองแม่ทัพภาคที่ 4 อีกถึง 6 คน มีอดีตตำรวจเพียง 1 คน และอดีตผู้บริหารระดับสูงของ ศอ.บต.จำนวน 2 คน อีก 1 คนคืออดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
จะเรียกว่า “ครม.ส่วนหน้า” ชุดนี้เป็น “ครม.ท็อปบูท” ก็คงไม่ผิดอะไร เพราะมีอดีตทหารถึง 3 ใน 4 และไม่มีคนมุสลิมร่วมอยู่เลย
แต่ที่น่าจับตากว่านั้น คือ ทั้งหมดเป็นอดีตข้าราชการ!
การให้น้ำหนักกับอดีตข้าราชการ หรือข้าราชการเกษียณ ลงไปรับงานใหญ่ที่มีความอ่อนไหวและมีพลวัตสูงอย่างปัญหาชายแดนใต้ ทำให้มีเสียงเตือนจากนักวิชาการด้านความมั่นคงอย่าง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวอิศรา” เอาไว้
“ที่ปรากฏเป็นข่าวว่าจะให้ข้าราชการเกษียณทั้งทหารและพลเรือนไปทำหน้าที่ ‘ครม.ส่วนหน้า’ ต้องระวังว่าจะกลายเป็น ‘ชมรมข้าราชการเกษียณอายุ’ หรือเปล่า”
นอกจากนั้น อาจารย์สุรชาติ ยังบอกว่า แนวคิดตั้ง ครม.ส่วนหน้า ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เคยทำมาแล้วยุคอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ จึงหวั่นเกรงว่า “ครม.ส่วนหน้า” ที่ตั้งขึ้นใหม่อาจจะซ้ำรอยเดิม
ตั้งแต่ปี 2524 ประเทศไทยมี “องค์กรเฉพาะกิจ” หรือ “องค์กรพิเศษ” เพื่อทำหน้าที่ดับไฟที่ปลายขวานมาแล้วมากกว่า 10 องค์กร บางองค์กรตั้งมาแล้วก็ถูกยุบ สักพักก็ตั้งใหม่ ไล่เรียงรายชื่อได้ดังนี้
1 และ 2.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท.43) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และถูกยุบในปี 2545 รัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ
3.คณะกรรมการนโยบายเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ตั้งขึ้นในปี 2546 รัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ แต่ไม่เคยประชุมกัน
4.กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547
5 และ 6.กองอำนวยการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กสชต.) กับ คณะกรรมการบริหารจัดการในพื้นที่ตามนโยบายและยุทธศาสตร์เสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กบชต.) ตั้งขึ้นในปี 2548 เพื่อปรับโครงสร้าง กอ.สสส.จชต.
7 และ 8.ศอ.บต.กับ พตท. เป็นการฟื้นองค์กรเก่ายุค พล.อ.เปรม ขึ้นมาใหม่ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
9.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ตั้งแต่ปี 2551 หลังมี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รองรับอำนาจ กอ.รมน.
10.ศอ.บต.โฉมใหม่ที่มีกฎหมายรองรับ คือ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงนั้นมีการส่งรัฐมนตรีลงไปนั่งทำงานในพื้นที่ คือ นายถาวร เสนเนียม อดีต รมช.มหาดไทย กำกับดูแล ศอ.บต.
11.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
12.คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เป็นองค์กรพิเศษดับไฟใต้ในยุคที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง
น่าสังเกตว่าทุกองค์กรตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา และลดประเด็นที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการประสานงาน หรือระเบียบขั้นตอนที่ล่าช้าของทางราชการ
ตั้งมาแล้วนับสิบองค์กรยังแก้ไม่ได้ อาจารย์สุรชาติจึงทิ้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจ
“จนวันนี้ถ้าจะพูดกันแบบล้อเล่น คือปัญหาการบริหารจัดการในภาคใต้ เป็นเหมือนละครที่แต่งตัวไม่เสร็จเสียที พูดง่ายๆ คือไม่ได้ออกหน้าโรงสักที เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันไม่มีความชัดเจน ตกลงอะไรคือแกนของการบริหารจัดการ”
สรุปปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาของระบบราชการใช่หรือไม่?
หากคำตอบคือ “ใช่” ก็น่าคิดต่อว่า ครม.ส่วนหน้า ที่อัดแน่นไปด้วยอดีตข้าราชการจะไปช่วยแก้ปัญหาอะไร
ต้องไม่ลืมว่าข้าราชเกษียณเหล่านี้ เกือบทั้งหมดล้วนเคยเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงในพื้นที่ บางคนเพิ่งลุกจากเก้าอี้ไปหมาดๆ เช่น พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (เพิ่งเกษียณเมื่อ 30 ก.ย.59) แต่ละคนย่อมต้องมีอิทธิพลบารมี มีผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้องเก่าที่ยังสนิทสนมดูแลกันอยู่
การส่งอดีตบิ๊กราชการลงพื้นที่อีกนับสิบคน จะยิ่งทำให้สายการบังคับบัญชาที่ไม่ค่อยบูรณาการกันอยู่แล้ว (จนต้องตั้ง ครม.ส่วนหน้า ขึ้นมาบูรณาการ) ยุ่งเหยิง อิรุงตุงนังมากขึ้นไปอีกหรือเปล่า
ทุกวันนี้เวลาเกิดเหตุรุนแรงใหญ่ๆ ทหารหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่รับผิดชอบ นอกจากรายงานผู้บังคับบัญชาตามสายงานแล้ว ยังต้องคอยตอบคำถาม หรือรายงานไปยังอดีตผู้บังคับบัญชาที่เคารพนับถืออีกด้วย ซึ่งนั่นเป็นแค่การรายงานเพราะ “นายเก่า” อยากรู้ หรืออยากให้คำแนะนำด้วยความหวังดี
แต่นี่กำลังจะมีสายการบังคับบัญชาใหม่ผ่าน “ครม.ส่วนหน้า” แถมยิงตรงถึงนายกฯกับรองนายกฯความมั่นคงได้ คิดๆ แล้วยังนึกภาพไม่ออกว่าจะวุ่นวายกันขนาดไหน โดยเฉพาะระดับปฏิบัติในพื้นที่
ยิ่งบางกลุ่มเขามากันเป็น “ก๊วน” ส่งต่อตำแหน่งกันมา น่าหวั่นใจว่าจะกลายเป็น “ขั้วอำนาจใหม่” ทำไปทำมาคนทำงานจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าทำงานให้ ครม.ใหญ่ ครม.ส่วนหน้า หรือ ครม.ส่วนไหน
แต่ที่แน่ๆ คือไม่ใช่ประชาชนเจ้าของพื้นที่ตัวจริง!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การประชุม ครม.ส่วนหน้า นัดแรกที่กระทรวงกลาโหม
2 พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ (กลางภาพ) อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งใน ครม.ส่วนหน้า