ป.ป.ช.ยันไม่ต้องเพิกถอนตั้ง ขรก.-ศาล ปค.ชี้ให้ประเมินเลื่อนขั้นใหม่ได้
ป.ป.ช. ยันไม่ต้องเพิกถอนตั้ง ขรก. 35 ราย ตามที่ ‘วีระ’ ร้อง เผยคำพิพากษาแค่ให้ถอนคำสั่งในส่วนที่ไม่เลื่อนตำแหน่งผู้ฟ้องคดี หารือแล้ว ศาล ปค. ชี้เสมือนยังไม่มีการประเมิน ให้ ขรก.ป.ป.ช. ผู้ชนะคดี ประเมินใหม่ได้
จากกรณีนายวีระ สมความคิดเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่นยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนข้อเท็จจริง นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีผ่านมาประมาณ 1 ปีเศษ แต่ไม่เพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 เลื่อนตำแหน่งข้าราชการ 35 ราย ที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแล้วว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบตั้งแต่กลางปี 2558 นั้น
(อ่านประกอบ : เปิดคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดมัด! คำสั่ง ป.ป.ช.เลื่อนตำแหน่ง ขรก.มิชอบ, ร้องสอบ เลขาฯป.ป.ช.ละเว้น! ไม่เพิกถอนคำสั่งเลื่อนตำแหน่ง 'วิทยา-35 ขรก.' มิชอบ)
ล่าสุด นายยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีนี้ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวมี 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ศาลเห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ขึ้นดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 2/2546 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประธาน ป.ป.ช. ไม่ลงนาม และไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 2.ศาลเห็นว่า ควรเพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ที่เลื่อนตำแหน่งข้าราชการ 35 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดี
หลังจากมีคำพิพากษาดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. ได้หารือต่อศาลปกครองว่าควรทำอย่างไรต่อไป 3 ประเด็น คือ เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. เพิกถอนคำสั่งที่ 141/2548 เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว จะดำเนินการออกคำสั่งเลื่อนผู้ฟ้องคดี โดยไม่ประเมินเพื่อเลื่อนระดับได้หรือไม่ หรือให้ผู้ฟ้องคดีเข้ารับการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 2550 หรือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ โดยให้มีผลย้อนหลัง
ต่อมาศาลปกครองตอบกลับมาว่า คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยให้มีผลนับแต่วันที่ออกคำสั่ง ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ศาลวินิจฉัยแล้วว่า ไม่อาจบังคับใช้ได้ ดังนั้นกระบวนการประเมินเพื่อเลื่อนระดับผู้ฟ้องคดีทั้งสองขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงของสำนักงาน ป.ป.ช. จึงไม่ชอบด้วยกฏหมายไปด้วย แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดี จึงถือเสมือนว่า ยังไม่มีการประเมินผู้ฟ้องคดี เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงชอบที่จะดำเนินการประเมินผู้ฟ้องคดีทั้งสองใหม่ตามระเบียบและกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2559 คณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ โดยให้ดำเนินการประเมินผู้ชนะคดีทุกรายใหม่ โดยให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ปี 2550 มาใช้ในการประเมิน ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. เสนอรายชื่อคณะกรรมการประเมินต่อคณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผู้ฟ้องคดีทุกรายต่อไปแล้ว
“จะเห็นได้ว่าเมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับทราบคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้วก็ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น หารือแนวทางปฏิบัติไปยังสำนักบังคับคดีปกครอง เมื่อได้รับแจ้งแนวทางปฏิบัติแล้ว ก็ได้ตั้งคณะกรรมการประเมินผู้ฟ้องคดีทุกราย ดังนั้นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดระบุชัดเจนว่าเพิกถอนคำสั่งเฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดี ไม่กระทบกับบุคคลในคำสั่งทั้ง 35 ราย” นายยงยุทธ กล่าว