“เก็บสามสิบบาท” กันพวกชอบฟรีไม่มีหลักการ หรือ กีดกันคนจน
การเก็บสามสิบบาท เพื่อป้องกันพฤติกรรมการมาใช้บริการโดยไม่จำเป็น ขณะเดียวกันอาจทำให้คนจนจริงๆไม่มารับบริการทั้งๆที่จำเป็น แต่ “30บาท” คือกำแพงกันพวกชอบของฟรีแต่ไม่มีหลักการจริงหรือ?
ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก สหภาพยุโรป และล่าสุดนายบันคีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้มาเยี่ยมประเทศไทยภายหลังน้าท่วมกล่าวชื่นชม
ระบบบริการสุขภาพของไทยเราได้พัฒนาจากระบบรัฐช่วย หมายถึง การสงเคราะห์ผู้ป่วยรายได้น้อย หรือ ผู้ป่วยอนาถา มาเป็นระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ที่เราเรียกแบบไทยว่า ระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีแนวไปทางประเทศสหราชอาณาจักร มากกว่า สหรัฐอเมริกา ที่เป็น แบบประกันสุขภาพ
ตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่าย คือ ประกันรถยนต์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพจากบริษัทประกันเอกชน แต่คนไทยซื้อประกันสุขภาพน้อยมาก และไม่น่าที่ระบบนี้จะขยายไปแบบสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเรา แต่อาจจะขายได้กับคนจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งที่มีฐานะพอจ่ายได้ ทิศทางรวมน่าจะเป็นแบบระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือ ระบบหลักประกันสุขภาพมากกว่า แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็กำลังแสวงหาเส้นทางแบบนี้เพื่อคนส่วนใหญ่
เนื่องจากระบบหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องของภาพรวมในเรื่องสิทธิประชาชน ภาพรวมประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ภาพรวมการพัฒนา ความต่อเนื่องยั่งยืน และการมีหลักประกันของระบบหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนเป็นการทดสอบทฤษฎี สมมติฐานและความรู้ทางวิชาการ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์สุขภาพที่ท้าทายเอาชีวิตประชาชนเป็นเดิมพัน เวลาคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเข้าไปใส่ไว้ในระบบหลักประกันสุขภาพที่เราเรียกชื่อเล่นว่า สามสิบบาท(รักษาทุกโรค) หรือ บัตรทอง จึงจำเป็นต้องมองในภาพรวม
ว่ากันว่าการเก็บสามสิบบาท เป็น โค ชนิดหนึ่ง เรียกว่า โคอินชัวรัน (coinsurance) แต่คงไม่ใช่ตามนิยามในวิกิพีเดีย เพราะไม่ได้เก็บหลังการได้ประโยชน์เกินเพดานประโยชน์ และมักจะเก็นเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือ สัดส่วนต่อค่าใช้จ่ายภายหลังได้ประโยชน์เค็มเพดาน พูดแบบชาวบ้านก็คือได้ประโยชน์ไปแล้วแสนหนึ่ง โดยก้าหนดเพดานไว้แสนหนึ่ง ถ้ามากกว่านี้ จ่ายเพิ่มมาร้อยละสิบ ร้อยละยี่สิบ ร้อยละสามสิบ เป็นต้น วิธีการนี้เหมาะกับการประกันรถยนต์ เพราะความเสี่ยงจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขับรถของคนขับเป็นหลัก ซึ่งป้องกันได้ แต่ความเจ็บป่วยหลายโรคมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และท้าให้สิ้นเนื้อประดาตัว ดังนั้นเราอาจเรียก coinsurance ว่าเป็นการจ่ายร่วมแบบมีสัดส่วนหลังได้รับประโยชน์เกินเพดานแล้ว
คำถามที่ชวนปวดหัว คือ เพดานควรจะเป็นเท่าไร ซึ่งมักจะได้จากการศึกษาวิจัย และ ข้อมูลสถิติ
การเก็บสามสิบบาท น่าจะเป็น โคเป (copayment) หรือ การร่วมจ่าย โดยวิกิพีเดียนิยามว่า เป็นการจ่ายโดยผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิทุกครั้งที่มารับบริการสุขภาพ
ที่ต้องทำเช่นนี้ อธิบายว่า เพื่อป้องกันพฤติกรรมเบี่ยงเบนในการมารับบริการอย่างขาดคุณธรรม คือมาใช้โดยไม่จ้าเป็น ทำให้สิ้นเปลือง อาจเรียกว่า “พวกชอบของฟรีที่ไม่มีหลักการ”
แม้ว่าการกำหนดเช่นนี้ อาจป้องกันคนแบบนั้นได้บ้าง แต่ก็ไม่เคยมีการแสดงข้อมูลที่แน่นอนว่ามีมากน้อยเพียงใด และก็ไม่เคยมีการศึกษาด้วยว่า หากเปลี่ยนจำนวนเงินมากขึ้นหรือน้อยลงแล้ว คนที่มีนิสัยชอบของฟรีที่ไม่มีหลักการจะมีนิสัยที่ดีขึ้น
การเก็บสามสิบบาทแม้เล็กน้อย อาจทำให้คนจนจริงๆเลยไม่มารับบริการ ทั้งที่จำเป็น เพราะไม่มีเงิน บางคนบอกว่ามีทางออก คือ ให้ไปสงเคราะห์หรืออนาถาแบบที่เคยทำ แต่คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นการแบ่งแยกประเภทคน เป็นพวกที่มีเงินจ่าย และ พวกที่ต้องสงเคราะห์
จำนวนเงินมีความหมายเช่นกัน จะทำให้เหมาะสมอย่างไร สำหรับราคาในการจ่ายร่วมระหว่างราคาการจ่ายร่วมที่สูงพอที่จะป้องกันค่าใช้จ่ายจากบริการที่ไม่จำเป็น กับที่พอที่จะไม่กีดกันการเข้าถึงบริการ สรุปแล้ว สามสิบบาท คือ กำแพงที่จะมีไว้กันคนชอบของฟรีแต่ไม่มีหลักกการ
อันที่จริงกำแพงของการเข้ารับบริการ ไม่ได้มีแค่การจ่ายเงิน การกำหนดเวลาเฉพาะที่จะให้บริการ การทำให้บริการยุ่งยาก ขั้นตอนมาก แออัด ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ก็สามารถเป็นกำแพงได้หมด การกันคนป่วยที่จะเข้ารับบริการจึงมีมากมายอยู่แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือหากการเก็บสามสิบบาทหรือเท่าไรก็แล้วแต่ เป็นหลักคิดหลักการสำคัญที่จะไว้กันคนชอบของฟรีแต่ไม่มีหลักกการแล้ว ทำไมจึงไม่เคยมีการนำไปใช้กับระบบประกันสุขภาพอื่น ทั้งระบบสวัสดิการราชการ หรือ ระบบประกันสุขภาพของประกันสังคม หรือว่าระบบดังกล่าวไม่มีคนพันธุ์ดังกล่าว
หากมีคนบอกว่า ก็เป็นมาอย่างนั้นมาตั้งนานแล้วก็จงเป็นเช่นนั้นต่อไป วันนี้ระบบสามสิบบาทหรือ บัตรทอง หรือระบบหลักประกันสุขภาพ ก็ไม่ได้เก็บสามสิบบาทมานานานจนคนรู้ไปหมดแล้วว่าไม่ต้องจ่าย แล้ว จะย้อนกลับไปเพื่อให้เกิดความแตกต่างของสามระบบอย่างไม่เท่าเทียมได้อย่างไร
ดังนั้นหากจะเก็บสามสิบบาท เพราะ เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขแล้ว จึงหนีไม่พันที่จะต้องเก็บทุกระบบ จ่ายเมื่อมารับบริการสามสิบบาทเท่ากัน
อย่างไรก็ตามในเรื่องจำนวนเงิน มีข้อพิจารณาว่าการเก็บเงินที่มีจำนวนมาก ก็จะกีดกันคนจนในการเข้าถึง และการเก็บเงินน้อยไปก็ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไร เพราะไม่ได้กันอะไรใคร
แล้ว “สามสิบบาท” ไปกัน คนชอบฟรีไม่มีหลักการได้แค่ไหนกัน ช่วยบอกผมหน่อย ว่าทำไมต้องเก็บสามสิบบาท .
ที่มาภาพ : http://thaipublica.org/2011/09/thai-health-part1/