นักผังเมือง แนะรัฐตั้งกก.พาหุภาคี ทำหน้าที่อนุรักษ์ชุมชนเมือง ให้เวลา 6 เดือนทำงาน
นักวิชาการผังเมืองแนะรัฐควรตั้งพหุภาคีพูดคุยแก้ปัญหาไล่รื้อชุมชนป้อนมหากาฬฯ ด้านประธานชุมชนเผยหากคนในชุมชนสมัครใจให้รื้อถอนทางชุมชนก็ยินยอม ผู้สมัครใจเผยที่ยอมให้รื้อเพราะไม่ใช่ที่ของตน
เมื่อวันที่ 5ต.ค.59 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งในการประชุมมีวาระการหารือกรณีปัญหาการรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬ โดยมีตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) เข้าชี้แจง
มีรายงานว่า หลังจากที่กทม.ได้รายงานเรื่องต่อที่ประชุมแล้ว ในที่ประชุมได้มอบหมายให้เดินหน้ารื้อย้ายบ้านเรือนทั้งหมดตามแผนเดิม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย(มท.)เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีกรุงเทพมหานคร(กทม.)กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ทหารและตำรวจ เป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะทำอย่างไรนั้น มท.จะเป็นผู้กำหนดภารกิจหน้าที่และวันเวลาต่อไป เพื่อวางแผนให้แต่ละหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการต่อไป
ล่าสุด วันที่ 6 ตุลาคม ชุมชนป้อมมหากาฬ พร้อมนักวิชาการและเครือข่าย ออกแถลงการณ์ มีเนื้อหาโดยสรุป ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจ และขอโอกาสในการเข้าร่วมพัฒนาเมืองและพื้นที่ป้อมมหากาฬตามแนวทางประชารัฐต่อไป ณ ลานกลาง ชุมชนป้อมมหากาฬ
นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมืองอิสระ กล่าวถึงการมีข้อเสนอไปยังกทม. เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ สร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตชุมชนป้อมมหากาฬ สู่การพัฒนาย่านเมืองเก่าอย่างยั่งยืน โดยใจความสำคัญสรุปได้ว่า ให้หยุดการรื้อถอนบ้านหลังอื่นๆในชุมชนที่ไม่ได้มีควาสมัครใจในการย้ายออก และเสนอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหา และอนุรักษ์ พัฒนา ชุมชนป้อมมหากาฬ รวมถึงพื้นที่เมืองเก่าอื่นๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ โดยคณะกรรมการพหุภาคี จะมีหน้าที่ในการดำเนินการจัดทำแผนอนุรักษ์ชุมชนป้อมมหากาฬ พัฒนาให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับการดูแลโบราณสถานและที่สาธารณะ รวมถึงการพัฒนาชุมชนด้วย และเชื่อมโยงชุมชนเมืองย่านเมืองเก่าเข้าด้วยกัน ทำหน้าที่วางแผนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำหรับชุมชนป้อมมหากาฬ
นางภารนี กล่าวว่า การจะแก้ไขปัญหา ณ ตอนนี้คือต้องทำให้การรื้อถอนหยุดลงก่อนเพื่อเดินหน้าต่อ ควรมีการคุยแบบเปิดเผย ไม่ใช่ว่ามีการรื้อต่อเรื่อยๆ โดยจะเสนอไปทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อความเท่าเทียมกัน
"แม้กทม.จะมีอำนาจรัฐ แต่ตอนนี้ประชาชนไม่มีอะไรเลย และประชาชนเองก็ยังไม่ได้มีโอกาสเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงกับพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง พร้อมขอเวลาให้คณะกรรมการพาหุภาคีนี้ได้ทำงานอย่างน้อย 6 เดือน"
นักวิชาการผังเมืองอิสระ กล่าวอีกว่า ที่ทางกทม.บอกว่าจะทำสวนสาธารณะให้คนออกกำลังกายได้ปีละ 19 ล้านบาท ถ้าเราทำให้ชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เรามั่นใจว่าหาได้มากกว่า 19 ล้านบาทแน่นอน และเงินเหล่านี้ก็จะกลับมาอยู่ในชุมชนเป็นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แทนที่จะไปอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่ให้ประมูลพื้นที่น่าจะเป็นประโยชน์ในภาพรวมกับราชการมากกว่า
ด้านนายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ในวันนี้ที่มีการรื้อบ้านเลขที่ 195 นั่นเป็นความยินยอมของเจ้าของบ้าน ซึ่งอยู่ในรายชื่อบ้านที่จะทำการรื้อเมื่อวันที่ 3-4 กันยายนอยู่แล้ว ทางชุมชนจึงยินยอมให้รื้อและคิดว่า บ้านหลังนี้จะเป็นหลังสุดท้ายในการรื้อถอน หลังจากนี้ก็ยังยืนยันว่า จะเดินหน้าต่อในแนวทางที่เคยทำมาคือการพัฒนาชุมชนต่อไป
"ส่วนเรื่องที่ทางกทม.บอกว่า มีบ้านอีกประมาณ 10 หลังแสดงความสมัครใจในการรื้อถอนเพิ่มเติมเราจะมีการประชุมกันเย็นนี้อีกครั้งเพื่อหาทางออก แต่หากเจ้าของบ้านประสงค์จะให้รื้อจริงๆทางชุมชนก็ไม่ขัดข้องอะไร แต่มีเงื่อนไขว่าจะขอมีการเชิญเจ้าของบ้าน กทม. และตัวแทนชุมชน มาคุยกันก่อน"
นางอัมพร สำเภาเงิน อายุ 63 ปี เป็นเจ้าของบ้านหมายเลข 195 อาชีพค้าขายบริเวณป้อมมหากาฬ กล่าวว่า แม้จะอยู่ที่มาตั้งแต่เกิด แต่ที่ยินยอมให้กทม.รื้อเพราะที่ดินนี้เป็นของกทม.พอถึงกำหนดที่ทางกทม.ต้องการที่จะใช้พื้นที่ก็ต้องยอมคืนเพราะได้รับเงินจากทางกทม.มาแล้ว ปัจจุบันตนได้ย้ายไปอยู่ที่วัดเทวราชกุญชร จ่ายค่าเช่าเดือนละ 5 พันบาท และต้องนั่งรถจากวัดเทวราชกุญชรมาขายของที่ป้อมมหากาฬเช่นเดิม
"ถ้าคิดอีกมุมหนึ่งคือที่ดินไม่ใช่ของเราและเจ้าของที่ดินต้องการที่เราก็ต้องคืนที่ให้กับเจ้าของถึงแม้ว่าจะเสียดาย แต่ถ้าเราไม่ย้ายออก ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โดยก่อนจะย้ายออกก็ได้มีการพูดคุยกับคนในชุมชนทุกคนก็เข้าใจและยินยอม ทำยังไงได้ในเมื่อที่ดินมันไม่ใช่ของเรา"