เนื้อหาแรง! หนังสือเวียนแจ้ง อัยการทุกระดับ หลังเกิดเหตุวิจารณ์ 'บิ๊กตู่'
"..การเขียนเรื่องหรือบทความเผยแพร่ทางสื่อมวลชนให้กระทำได้ แค่จะต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายหรือระเบียบ ทั้งนี้ เรื่องหรือบทความนั้นต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุด บุคคลใด หรือหน่วยงานใด และไม่มีลักษณะเป็นการให้ข่าว และบริการข่าวสารของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยผู้เขียนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ.."
จากกรณีที่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธ์ภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด มีคำสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวเผยแพร่สู่สาธารณะวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมลงนามคำสั่งย้าย นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ไปรักษาการในตำแหน่ง รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.2559 เป็นต้นไป
(อ่านประกอบ : สั่งเด้งซ้ำ! 'รองอธิบดีอัยการ' โพสต์วิจารณ์กรณี 'น้องบิ๊กตู่' หลังถูกตั้งกก.สอบ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ภายหลังจากที่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ได้โพสต์ข้อความวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดังกล่าว นายอาทร สิขัณฑกนาค รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งถึงผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุด และอัยการทุกระดับ เรื่อง การปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสาร พ.ศ.2554
ระบุเนื้อหาว่า ด้วยสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ประกาศใช้ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารฯ ดังกล่าว ตั้งแต่ 23 ธ.ค.2554 เป็นต้นมา โดยระเบียบข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 11 ของระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดถึงบุคคลที่จะเป็นผู้ให้ข่าวและบริการข่าวสาร อีกทั้งการให้ข่าวและบริการข่าวสารจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเชื่อถือของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นสำคัญ กับเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด หรือขัดแย้งกับหน่วยงานอื่น หรือทัศนคติที่ไม่ดีต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ตามระเบียบข้อ 9 ได้กำหนดไว้ว่า ในการให้ข่าว การแถลงข่าว และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ ควรระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ หรือ กิริยาท่าทาง อันจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น ควรใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางเพื่อไม่ให้เป็นการประจาน หรือดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น และควรจัดเตรียมเอกสารข่าวแจกประกอบการแถลงข่าว
โดยเอกสารข่าวนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น เพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นประโยชน์ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และให้ประชาชนได้รับทราบข่าวที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความจริงและตามระเบียบข้อ 13 กำหนดว่า การเขียนเรื่องหรือบทความเผยแพร่ทางสื่อมวลชนให้กระทำได้ แต่จะต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายหรือระเบียบ ทั้งนี้ เรื่องหรือบทความนั้นต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุด บุคคลใด หรือหน่วยงานใด และไม่มีลักษณะเป็นการให้ข่าว และบริการข่าวสารของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยผู้เขียนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ
จึงเรียนมาเพื่อถือปฏิบัติ พร้อมกำชับบุคลากรในหน่วยงานของท่านให้ถือปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวโดยเคร่งครัด ทั้งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานอัยการสูงสุด (ดูหนังสือเวียนประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อความวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ของ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2559 ระบุว่า “วันก่อนได้ยินมาว่าท่านนายกกล่าวถึง คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และคุณศรีสุวรรณ จรรยา ที่ร้องให้มีการสอบสวนกรณีพลเอกปรีชา จันทร์โอชา และวงศาคณาญาติในหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องฝาย เรื่องการใช้เครื่องบิน การใช้บ้านพักทางราชการตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน และการประมูลงานราชการ ว่าทั้งคุณเรืองไกรและคุณศรีสุวรรณนั้นทำมาหากินอะไรถึงได้ร้องได้ทุกเรื่อง เดี๋ยวท่านจะตรวจสอบทั้งสองคนนี้บ้าง ผมอยากจะเรียนว่าทั้งสองคนนั้นท่านก็เป็นประชาชนคนไทยที่รักชาติไม่แพ้ท่านหรอกครับ เขากำลังทำหน้าที่ของ “พลเมืองดี” ที่ตรวจความไม่ชอบมาพากลตามที่ “กฎหมาย” ให้อำนาจเขาไว้ กล่าวคือ เมื่อมีกรณีน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาอย่างหนึ่งขึ้น เขาซึ่งเป็นบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ “ผู้เสียหาย” ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น ซึ่ง “ข้อร้องเรียน” ของเขานั้น นักกฎหมายเราเรียกว่า “คำกล่าวโทษ” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (8) เพื่อให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจทำการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นบทบาทของพลเมืองดีโดยทั่วไปที่จะปกปักษ์รักษาบ้านเมืองของตน จะต่างกับท่านนายกตรงที่ท่านมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 สั่งเลื่อนลดปลดย้ายข้าราชการต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำทุจริตทั้งที่ยังไม่มีการสอบสวน แค่สงสัยเท่านั้น..จนครอบครัวเขาเสียชื่อเสียงไปมากมายก่ายกองและเสียหายไปชั่วลูกชั่วหลาน พอคนในตระกูลจันทร์โอชาโดนเข้าบ้าง ท่านจะไปโวยวายทำไม เหมือนกันแหละครับ ไม่โดนเองไม่รู้สึก พอท่านรู้สึกท่านก็จะสั่งตรวจสอบเขาบ้างว่าสองท่านนี้ทำมาหากินอะไร..ท่านเป็นนายกต้องระมัดระวัง คิดได้แต่อย่าคิดดัง เพราะสิ่งที่ทำคือเกียรติภูมิของประเทศนะครับ ไม่ได้สอนนะ แต่ว่าผมว่าท่านไม่เข้าใจหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย ไม่เชื่อลองถามอาจารย์วิษณุก็ได้ ว่าพูดถูกหรือเปล่า แต่ต้องขอให้อาจารย์ตอบแบบ “ครูกฎหมาย” นะครับ อย่าตอบแบบ “เนติบริกร นะครับ”