ไทยแพนสุ่มตรวจผักผลไม้ช่วงกินเจ-ฤดูฝนพบ 'ส้ม คะน้า' ครองแชมป์ไม่ปลอดภัย
เครือข่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สุ่มตรวจผักและผลไม้ ช่วงหน้าฝน พบคะน้า ส้มสายน้ำผึ้งครองแชมป์ สารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน เจอมากสุดในห้างโมเดิร์นเทรดมากกว่าตลาดค้าส่ง ตรารับรอง Q -Organic Thailand ใช่ปลอดภัย 100%
วันที่ 6 ตุลาคม เครือข่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (That-PAN)แถลงข่าว ผลการสุ่มตรวจครั้งที่ 2/59 “สารพิษตกค้างในผักและผลไม้” ช่วงเทศกาลกินเจ ณ ห้อง Sapphire 1 โรงแรมริชมอนด์
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แผนงานอาหารปลอดภัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่นิยมบริโภค 16 ชนิด ระหว่างวันที่ 23-29 สิงหาคม ได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาดปลี กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ และผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร รวม 158 ตัวอย่าง จากห้างโมเดิร์นเทรด 3 ห้างหลัก ได้แก่ บิ๊กซี แมคโคร เทสโก้โลตัส และตลาดค้าส่ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดไท ตลาดปฐมมงคล จังหวัดนครปฐม และตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี อีกทั้งเก็บตัวอย่างผักผลไม้ที่ติดฉลากปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์จากห้างและซุปเปอร์มาเก็ตหลายแห่ง อาทิ กูร์เมต์มาร์เก็จ ท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท และแม็กซ์แวลูวิลล่ามาร์เก็ต เลมอนฟาร์ม โกลเด้นเพลส ฟู้ดแลนด์ โดยส่งวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) พบว่า ผักและผลไม้โดยรวมมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน (MRLs) ถึง 56%
น.ส.ปรกชล กล่าวว่า การสุ่มตรวจและส่งวิเคราะห์จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ยึดแหล่งจำหน่ายหลักห้างที่คนนิยมซื้อหาผักผลไม้ มีสาขาจำนวนมาก และ ตลาดค้าส่ง ตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) โดยใช้ห้องปฏิบัติการที่ประเทศอังกฤษ วิเคราะห์สารตกค้างได้มากกว่า 480 ชนิด
สำหรับแหล่งจำหน่ายหลักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุด คือผักและผลไม้จากห้างโมเดิร์นเทรดเจอตกค้างมากที่สุดถึง 70% โดยเทสโก้โลตัสพบไม่ปลอดภัย 12 จาก 16 ตัวอย่าง รองลงมาได้แก่ แมคโคร 11 จาก 16 บิ๊กซี 10 จาก 15 ตัวอย่าง
ส่วนตลาดค้าส่งพบตกค้างเกินมาตรฐาน 54.2% โดยตลาดไทพบ 10 จาก 16 ตัวอย่าง ตลาดปฐมมงคง 9 จาก 16 ตัวอย่าง และตลาดศรีเมือง 7 จาก 16 ตัวอย่าง
"จะพบว่า แนวโน้มพบการตกค้างในห้างโมเดิร์นเทรดมากกว่าตลาดค้าส่ง"
น.ส.ปรกชล กล่าวถึงสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ช่วงเทศกาลกินเจ ผักผลไม้ชนิดใดไม่ปลอดภัยมากที่สุด พบว่า คือ คะน้า และส้มสายน้ำผึ้ง โดยผลไม้มีการตกค้างของสารพิษสูงกว่าผัก
"ผลไม้ครองแชมป์คือส้มสายน้ำผึ้ง รองลงมาแก้วมังกร ขณะที่ผักคะน้าแชมป์ในรอบนี้ รองลงมาพริกแดง ถั่วฝักยาว และกะเพรา"
สำหรับผลการตรวจผักที่ได้รับตรารับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบสารพิษตกค้างเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยฉลากสินค้า Q พบการตกค้างเกินมาตรฐษน 16 จาก 26 ตัวอย่าง สูงกว่าการตรวจสอบในการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนผักผลไม้ที่ติดฉลากว่า เป็นสินค้าปลอดภัย โดยไม่มีตรารับรองมาตรฐาน พบเกินมาตราฐาน 5 จาก 10 ตัวอย่าง รวมถึงผักผลไม้ที่มีตรารับรอง Organic Thailand ซึ่งกำกับดูแลโดย มกอช. พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRLs 2 จาก 10 ตัวอย่าง ขณะที่ตรารับรองอินทรีย์อื่น พบใกล้เคียงกัน
น.ส.ปรกชล กล่าวถึงสิ่งที่น่าตระหนก คือการพบว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งยกเลิกใช้แล้ว ได้แก่ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส รวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตทะเบียน 2 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล รวม 6 ชนิด ตกค้างอยู่ในผลผลิตรวม 29 จาก 158 ตัวอย่าง
น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มกินเปลี่ยนโลก กล่าวถึงการสุ่มตรวจของไทยแพน ครั้งนี้ เป็นการเก็บผักผลไม้สุ่มตรวจกลางฤดูฝน และตรวจตรารับรองมาตรฐาน หรือฉลากรับรองที่หลากหลาย รวมถึงจากแหล่งจำหน่ายประเภทต่างๆ
"หลังการเก็บตัวอย่างรายงานผล ถือว่าเราได้ทำการชี้ปรากฎการณ์ของปัญหาความปลอดภัยผักผลไม้ระดับหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต้องมีระบบตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 3 ครั้งทุกฤดูกาล และเข้าตรวจสอบในห้องปฏิบัติการที่เชื่อถือได้ ส่วนข้อมูลสารอันตรายต้องห้ามที่ไม่ควรใช้ ไทยแพนจะส่งข้อมูลส่งไปยังกรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองบังคับการปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) หน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานฉลากต่างๆ และจะติดตามการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป"
น.ส.กิ่งกร กล่าวถึงบทบาทผู้บริโภคด้วยว่า ต้องจับตาดูยี่ห้อและแหล่งจำหน่าย โดย ไทยแพนจะนำเสนอรายงานผ่านเว็บไซต์อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และอยากให้ผู้บริโภคส่งเสียงเรียกร้องผู้ประกอบการให้ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย
อ่านประกอบ: รายงานผลการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ครั้งที่ 2-2559