กรุงเทพฯ คือตัวอย่างที่ดีของเมืองที่เลวที่สุดในโลก
“กรุงเทพฯ ถูกยกให้เป็นตัวอย่างที่ดีของเมืองที่เลวที่สุดในโลก” เพราะเป็นเมืองโตเดี่ยวที่มีพลังแม่เหล็กมากจนดูดซับความเจริญที่ควรจะเกิดกับเมืองอื่นในภูมิภาค อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพฯ กำลังจะประสบปัญหาใหญ่ คือ การเข้าใกล้ภาวะอัมพาต หรือเรียกอีกอย่างว่า เมืองเริ่มมีขนาดใหญ่เกินจัดการ
“น้ำรอการระบาย” กลายมาเป็นภาวะปกติที่คนกรุงเทพฯ จำใจต้องเผชิญ ดังเช่นล่าสุด ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ฝนตกฟ้าคะนองตลอดช่วงเย็นได้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูงสุดถึง 100 มิลลิเมตร ในหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ จนนำมาสู่วิกฤตการจราจรครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วทั้งกรุงเทพฯ ซ้ำอีกครั้ง
น้ำท่วมขัง นับเป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ ที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิผล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เดชา บุญค้ำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) อดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษานโยบาย กฎหมาย และโครงสร้างหน่วยงานการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง วุฒิสภา ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวไว้ในหนังสือ “การพัฒนาเมืองของไทยในอนาคต ทางออกเชิงนโยบาย” ที่ได้ตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ เผยแพร่โดยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจระบุว่า “กรุงเทพฯ ถูกยกให้เป็นตัวอย่างที่ดีของเมืองที่เลวที่สุดในโลก” เพราะเป็นเมืองโตเดี่ยวที่มีพลังแม่เหล็กมากจนดูดซับความเจริญที่ควรจะเกิดกับเมืองอื่นในภูมิภาค อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพฯ กำลังจะประสบปัญหาใหญ่ คือ การเข้าใกล้ภาวะอัมพาต หรือเรียกอีกอย่างว่า เมืองเริ่มมีขนาดใหญ่เกินจัดการ (Unmanageable Size)
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เลวจริงหรือ?
สถานะของกรุงเทพฯ ที่อยู่ใกล้ภาวะอัมพาตในปัจจุบัน ทำให้เมืองไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย จนกระทั่งบางเรื่องก็ไม่สามารถจัดการได้เลย ยิ่งสร้างเมือง ยิ่งขยายเมือง ยิ่งขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ การจัดการปัญหาที่มีความเร่งด่วนอย่างน้ำท่วมก็ยิ่งล้มเหลว
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เมืองของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมอยู่ตลอดนั้น ประกอบขึ้นด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่
1.การขาดการวางแผนเชิงพื้นที่ แม้การวางแผนเชิงพื้นที่อย่างระมัดระวังจะช่วยให้เมืองสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาจากภัยธรรมชาติอย่างได้ผลที่สุด แต่จนถึงขณะนี้แนวทางดังกล่าวก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย เมืองของไทยยังขาดการวางแผนเชิงพื้นที่ที่ถูกต้องเพื่อนำมาใช้กำหนดผังพัฒนาที่สอดรับกับธรรมชาติของพื้นที่และวัฒนธรรม
2.การใช้ที่ดินผิดลักษณะทางธรรมชาติ น้ำหลากท่วมที่ราบลุ่ม เป็นเรื่องปกติที่เกิดมานับแสนนับล้านปี พื้นที่ราบแบนจึงไม่ควรสร้างเมืองใหญ่ แต่ควรปล่อยไว้เป็นพื้นที่เกิดเกษตรกรรม ซึ่งตรงข้ามกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนท้องทุ่งนาให้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก กรุงเทพฯ เอง ก็เปรียบเสมือน “ก้อนของเมือง” บนที่ราบที่ขวางทางน้ำไหลลงทะเล ยิ่งขยายเมืองมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้น้ำท่วมพื้นที่ราบตอนบนนานขึ้นเท่านั้น
3.การกระจายตัวของประชากรที่ไม่สมดุล แม้กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่มีปัญหามากมาย แต่คนไทยสมัยใหม่ก็เลือกที่จะหลั่งไหลย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ที่น้ำท่วมถึงนี้ ด้วยเหตุผลที่กรุงเทพฯ มีช่องทางการสร้างรายได้ที่หลากหลาย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น โอกาสในเมืองใหญ่จึงมีมากกว่า จนหลายครั้งโอกาสที่มากล้นนี้ก็ไปบดบังโอกาสในเมืองอื่นที่เล็กกว่า ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพฯ จึงกลายเป็น “เมืองโตเดี่ยว (Primate City)” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (วัดจากจำนวนประชากร) โดยมีขนาดใหญ่กว่าเมืองอันดับสองของประเทศอย่างเทศบาลนครนนทบุรีถึง 22 เท่า และใหญ่กว่าเทศบาลนครแม่สอดถึง 161 เท่า
4.ปัญหาผังเมืองของไทย กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำผังที่ตั้งเมืองของประเทศไทย พ.ศ. 2600 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ทว่า กลับมีแผนกำหนดที่จะสร้างเมืองในพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำ อย่างไรก็ดี หากพื้นที่รับน้ำเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อุทกภัยที่เกิดประจำจะเป็น “คุณ” อย่างยิ่งกับพื้นที่เหล่านั้น แต่เมื่อใดที่พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นเมืองใหญ่ เป็นนิคมอุตสาหกรรม อุทกภัยที่นำปุ๋ยมาให้นาก็จะกลายเป็น “โทษ” ไปในทันที
ข้อเสนอเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำหลากท่วมเมืองที่เด็ดขาด
การป้องกันปัญหาน้ำหลากท่วมเมืองที่เด็ดขาดในระยะยาวนั้น คงไม่พ้นการหาที่ตั้งเมืองใหม่บนที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง แล้วค่อยๆ ขยายพื้นที่เมืองเดิมไปยังพื้นที่ลักษณะเดียวกัน แต่ในระยะสั้นและระยะกลาง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เดชา บุญค้ำ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบไว้ ดังนี้
1.กำหนดนโยบายการตั้งถิ่นฐานมนุษย์และการพัฒนาเมืองในระดับชาติ พร้อมทั้งจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการตั้งถิ่นฐานมนุษย์และการผังเมืองแห่งชาติเพื่อดูแลเรื่องแผนการพัฒนา นอกจากนี้ จะต้องแต่งตั้งกรรมาธิการการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง เพื่อรับผิดชอบด้านกฎหมายและปรับระบบผังเมืองให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
2.หลังตั้งคณะทำงานแล้ว จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติสู่เป้าหมาย (Road Map – Action Plans) โดยเน้นการกำหนดกฎหมายใหม่และปรับปรุงกฎหมายเดิมเพื่อลดอุปสรรคการบรรลุสู่เป้าหมาย รวมทั้งปรับรูปแบบองค์กรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมาย
3.นอกเหนือจากที่กล่าวมา ประเทศไทยควรจัดทำสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมนูญผังเมือง” เพื่อควบคุมกฎหมายต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับการวางแผนและพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศให้เป็นไปตามนโยบายการพัฒนาอย่างถูกต้องและสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาที่กรุงเทพฯ รวมถึงเมืองของไทยกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างยั่งยืน
กล่าวโดยสรุป ต้นตอสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ กลายมาเป็นต้นแบบเมืองเลวในทุกวันนี้นั้น มาจากการที่ประเทศไทยยังขาดการวางแผนล่วงหน้าที่ดีและการปฏิบัติตามแผนอย่างเป็นระบบ ตลอดทั้งยังขาดนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง ดังนั้น แนวทางการเยียวยาที่เป็นไปได้จึงควรเริ่มจากการปฏิรูปเชิงโครงสร้างนโยบายเพื่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาเมืองที่ชัดเจน ต่อเนื่อง และยั่งยืน มิใช่เป็นเพียงการไล่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุดังเช่นทุกวันนี้