ขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไม่ง่าย คณบดีคณะวิศวะฯ สจล.ชี้ผลงานนศ.นำไปต่อยอดได้ไม่ถึง 5%
4 องค์กรผนึกกำลัง ขับเคลื่อนดิจิตอลสตาร์ทอัพไทยสู่เวทีโลก ขานรับนโยบายรัฐ 'ไทยแลนด์ 4.0' SIPA ชี้ผลงานนวัตกรรมของประเทศไทยหลายชิ้นส่งประกวดได้รางวัล แต่หลังจากนั้นถูกยัดเข้าตู้เสื้อผ้า ไม่ได้นำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์
วันที่ 5 ตุลาคม 2559 สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด (STIU) และ Houston Technology Center (HTC) ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ จากสหรัฐอเมริกา แถลงความร่วมมือ “4 พลังขับเคลื่อน...สตาร์ทอัพไทยสู่เวทีโลก” ณ ห้องประชุม STIU เพื่อร่วมขับเคลื่อนสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้ได้รับการส่งเสริมพัฒนาและต่อ ยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์
รศ. ดร. คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงการพัฒนาของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า ถูกขับเคลื่อนด้วยการใช้เทคโนโลยี เช่น รับจ้างประกอบรถยนต์ แต่ไม่ค่อยมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นของตนเอง เพราะฉะนั้นในส่วนของสถาบันการศึกษา จึงเล็งเห็นว่า ควรลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมอย่างจริงจัง โดยหลังจากนี้การสร้างโปรเจคต่างๆ ของนักศึกษา จะเน้นต่อยอดและพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ร่วมถึงผลักดันให้เกิดกระบวนการสตาร์ทอัพขึ้นมา
“แต่ละปีนักศึกษามีการทำโปรเจคมากกว่า 600 โปรเจค ในจำนวนนี้พอเราจัดนิทรรศการและเชิญภาคเอกชนเข้ามาชม บางครั้งก็พบว่า ต่อยอดสตาร์ทอัพได้ไม่ถึง 5% การจะดันขบวนการเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าเราทำให้เกิดกระบวนการดังกล่าวได้ จะสามารถก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังต้องตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วย”
รศ. ดร. คมสัน กล่าวถึงตัวอย่างผลงานนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาเป็นสตาร์ทอัพ เช่น หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย ที่พัฒนาขึ้นเพื่อดูแลความปลอดภัย แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยหุ่นยนต์จะมีการติดกล้องและมีเครื่องตรวจจับสัญญาณ (Sensor) สั่งการ ทำให้สามารถมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้ เช่นกรณีผู้สูงอายุเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็จะแจ้งเตือน ทำให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที หรือกรณีนวัตกรรมเครื่องวัดความอ่อน-แก่ทุเรียน ก็เป็นการนำเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย ทำให้ผลไม้ที่จะส่งออกได้มาตรฐาน เป็นประโยชน์ทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร
ด้านนายมนต์ชัย ศรีเจริญศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการตลาด SIPA กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลงานนวัตกรรมของประเทศไทยหลายชิ้นส่งประกวดได้รับรางวัล แต่หลังจากนั้นมักถูกยัดเข้าตู้เสื้อผ้า ไม่ได้ถูกพัฒนาไปในเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันนวัตกรรม สตาร์ทอัพต่างๆ ก็พบว่า ไปต่อได้ไม่ไกล เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วน นักลงทุน ภาครัฐ หอการค้าฯ สถาบันการศึกษา ต้องเข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ในแก่ธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
นายมนต์ชัย กล่าวด้วยว่า การสร้างกลุ่ม Tech Startup ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นและสมาชิกกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคและด้านธุรกิจแล้ว ปัจจุบันยังขาดสื่อกลางที่จะนำผู้ที่มีศักยภาพ มีนวัตกรรมน่าสนใจ และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจมาพอเจอกัน เพื่อผลักดันเกิดสตาร์ทอัพ
ด้านมร.ซิด วินยาร์ด ผู้บริหารฮุสตัน เทคโนโลยี เซ็นเตอร์ กล่าวถึงภาพรวมของนวัตกรรมใหม่ๆ พบว่า 75% เกิดขึ้นจากนอกบริษัท ขณะที่ 50% เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นยุคใหม่นักศึกษาคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ส่วนสิ่งที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้นั้นมีหลายปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือจังหวะและเวลาการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ยกตัวอย่างUber (อูเบอร์) ที่เข้ามาแก้ปัญหาถูกที่ถูกเวลา ทั้งปัญหาจราจร ปัญหาการเรียกใช้บริการ ความสะดวกสบายผ่านแอพลิเคชั่น จึงประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้