นายกฯยันตั้งครม.ส่วนหน้าไม่ซ้ำซ้อน-แก้การเมืองแทรก ปลุกสู้โจรห้าร้อย
ในที่สุดรายชื่อ ครม.ส่วนหน้า หรือคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้รับการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ตรงตามที่ศูนย์ข่าวอิศรารายงานเอาไว้ทั้ง 13 ชื่อ
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะประธาน ครม.ส่วนหน้า บอกว่า เตรียมเชิญคณะผู้แทนพิเศษฯ เข้าหารือนัดแรกที่กระทรวงกลาโหม ในวันพฤหัสบดีที่ 6 ต.ค.59 เพื่อกำหนดแนวทางและกรอบการปฏิบัติงาน
เบื้องต้นคาดว่าจะใช้พื้นที่ภายในค่ายพระสุริโยทัย ที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ 15 จ.ปัตตานี เป็นสถานที่ทำงาน โดยจะลงพื้นที่ครั้งแรกทันทีในสัปดาห์หน้า
การตั้ง ครม.ส่วนหน้า มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ออกมาชี้แจงในรายละเอียด ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 4 ต.ค.
“หลังจากนี้ ครม.ส่วนหน้าจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 9 ข้อ ทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง ความปลอดภัย การพูดคุยสันติสุข และอื่นๆ เพราะแต่เดิมยังไม่มีการบูรณาการ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. บางช่วงก็อยู่ในการควบคุมของฝ่ายการเมือง ซึ่งหากเล่นการเมืองจะแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ เพราะจะมีทั้งผู้พอใจและไม่พอใจ วันนี้ประเทศชาติกำลังเดือดร้อน มีคนใช้วิธีการสกปรก บิดเบือนเรื่องต่างๆ เช่น เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่อยากเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ เพราะต้องแก้ไขทั้งระบบ หากปล่อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองจะไม่มีความคืบหน้า
ดังนั้นจึงให้แต่ละหน่วยงานได้กลั่นกรองแผนดำเนินการก่อนจะเสนอ ครม. ให้มีความสอดคล้องระหว่างแผนงานดำเนินการกับนโยบาย และจะเพิ่มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย มีการเฝ้าระวังโดยกล้องซีซีทีวี (กล้องโทรทัศน์วงจรปิด) ที่ผ่านมาการทำงานกระจัดกระจาย จึงต้องส่งคนลงไปทำงาน
ส่วนด้านเศรษฐกิจ ได้มอบหมายให้หาแนวทางป้องกันความซ้ำซ้อนของงบประมาณ โดยต้องดูแลทั้งฝ่ายความมั่นคงและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ประชาชนต้องได้รับประโยชน์ โดยจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความมั่งคั่ง แต่การจะลงทุนในพื้นที่ได้ ต้องมีความปลอดภัยเกิดขึ้น
ฉะนั้นต้องช่วยให้ประชาชนเกิดความเข้มแข็ง ไม่หวาดกลัวอิทธิพลของโจรห้าร้อย ไม่ใช่มัวแต่ติดปัญหาประเด็นสิทธิมนุษยชน เพราะเวลาที่คนเหล่านี้ฆ่าทหาร ตำรวจ ประชาชนทั้งไทยพุทธ มุสลิม ทำไมไม่ประท้วงเขาบ้าง ต้องมองว่ารัฐกำลังแก้ปัญหา แต่กลับเอาปัญหาอื่นมาจับรัฐ ไม่ไปจับคนทำ ไม่ดูว่าประชาชนเดือดร้อน ขณะที่การลงทุนก็รออยู่ 1.6 หมื่นล้านบาท มีการเสนอมาแล้ว ทั้งอุตสาหกรรมยางพารา เกษตร อาหารฮาลาล แต่ก่อนหน้านี้ให้สิทธิพิเศษ 3 เท่าก็ยังไม่ไปเลย จะลงไปได้หรือไม่ เขาให้ผมรับรองความปลอดภัย
ปัญหาภาคใต้ถ้าทหารทำอย่างเดียวคงไม่ได้ สังคมต้องเรียนรู้ คนในภาคใต้ 2 ล้านกว่าคน แล้วโจรมีกี่คน รู้จักกันก็เตือนกันให้มาสู้กันตามกฎหมาย รัฐบาลมีมาตรา 21 (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) โครงการพาคนกลับบ้าน ดูแลอยู่แล้ว อดีตเป็นอะไรผมจะพยายามไม่พูดถึง แต่จะหาประเด็นความร่วมมือ เพราะความขัดแย้งมีอยู่แล้ว
เรื่องคณะผู้แทนพิเศษฯ (ครม.ส่วนหน้า) ได้ลงนามแต่งตั้งไปแล้ว โดยทั้งหมดมีมาตรา44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวคุ้มครอง จากนั้นกระทรวงกลาโหมจะจัดทำรายละเอียดกรอบการทำงานให้มีความสมบูรณ์ เพียงแต่วันนี้เปลี่ยนจากการสั่งการในกรุงเทพฯ ให้ไปทำงานในพื้นที่ เพราะผมและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอยู่มาก จึงลงพื้นที่ได้น้อย
ผู้แทนพิเศษสามารถลงไปปฏิบัติหน้าที่ได้ในสัปดาห์หน้า โดยก่อนหน้านี้ทั้งรัฐมนตรีช่วยกลาโหมและรัฐมนตรีช่วยศึกษาฯ (หมายถึง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) ซึ่งอยู่ในคณะผู้แทนพิเศษฯ ได้ทำหน้าที่ลงไปในพื้นที่อยู่แล้ว และการทำงานก็ต้องมีการประเมินผล
เรื่องความซ้ำซ้อน ผมเขียนโครงสร้างเองจะซ้ำซ้อนได้อย่างไร เข้าใจคำว่าบูรณาการหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่การบังคับบัญชา ผู้แทนพิเศษฯจะเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ นักศึกษา นักวิชาการด้วย
ประเทศมหาอำนาจยังทำไม่ได้อย่างเราเลย ถ้าเขาทำก็คงเอากำลังไปกวาดล้าง ผมจะทำแบบนั้นให้เอาไหม เอาทหารทั้งกองพันไปลุยมันทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เอาไหม”
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย