“สุนทร กริชแก้วศิริ”จากวิทยุชุมชนสู่เมืองพอเพียง
น้อยคนนักที่จะคิดว่าคำว่า “ชุมชน”สามารถเกิดขึ้นได้ท่ามกลางเมืองที่เร่งรีบ แต่เป็นจริงแล้วที่ชุมชนวัดบางขุนเทียนนอก ไปสัมผัสเรื่องราวผ่าน “สุนทร กริชแก้วศิริ” ประธานชุมชนผู้ให้กำเนิดวชช.และกำลังสร้างเมืองพอเพียง
ท่ามกลางเมืองใหญ่ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนและการแข่งขัน กระแสการไหลบ่าวัตถุนิยมไม่มีทีท่าจะผ่อนแรงลง ตรงกันข้ามกลับเชี่ยวกรากรุนแรงเป็นร้อยเท่าพันทวีผ่านการโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกประโคมตามสื่อแขนงต่างๆอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
นาทีนี้หากใครแข็งขืนต้านกระแสถ้าไม่ถูกมองว่าบ้าก็คงถูกเหล่าสาวกลัทธิบริโภคชี้หน้าหาว่าโง่ แต่สำหรับ “สุนทร กริชแก้วศิริ” ประธานชุมชนวัดบางขุนเทียนนอก เขตจอมทอง กรุงเทพฯและผู้ก่อตั้งวิทยุชุมชนคนจอมทอง 99.25 เมกกะเฮิร์ซ กลับสวนกระแสยุคใหม่อย่างกล้าหาญ ควักทุนลงแรง ประสานความร่วมมือกับสมาชิก สร้างสวนเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริให้เกิดขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน โดยอาศัยสื่อวิทยุชุมชนเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง สร้างฐานคิดที่ถูกต้องดีงามให้เกิดขึ้นกลางเมืองใหญ่ที่วุ่นวาย
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” จับเข่าคุยกับผู้นำชุมชนฯคนเก่งถึงแนวทางทำงาน แรงบันดาลใจกับเป้าหมายและความฝันใฝ่ที่อยากเห็น
ก่อนจะเกิดเป็นชุมชนเลือดตาแทบกระเด็น
“ชุมชนวัดบางขุนเทียนนอกถือกำเนิดเกิดขึ้นจากเหตุผลประการเดียวคือบทบาทนักการเมืองที่ชอบใช้เงินซื้อเสียง รับปากจะทำนั่นทำนี่ให้ แต่เมื่อได้รับเลือกตั้งก็ไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ ผมจึงชักชวนชาวบ้านในละแวกเดียวกันขอตั้งเป็นชุมชน เพื่อจะได้เป้าหมายทิศทางพัฒนาตัวเองได้ง่ายขึ้น”เขาเริ่มเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของชุมชนฯก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า ชุมชนฯใช้เวลากว่า 4 ปีจึงตั้งได้สำเร็จความยากลำบากจากนักการเมืองพยายามให้ใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อชุมชน แต่ชาวบ้านไม่ยอม
“เริ่มจากปี42ผมไปพูดทุกเวทีที่มีโอกาสในความจำเป็นที่เราต้องตั้งชุมชนของเราเองขึ้นมา จนกระทั่งปี45จึงสามารถเปลี่ยนชื่อจากชื่อนักการเมืองเป็นชื่อ “ชุมชนวัดบางขุนเทียนนอก”สำเร็จ ผมเป็นประธานชุมชนคนแรกจนถึงปัจจุบัน”
กว่าจะเป็นวิทยุชุมชนคนจอมทอง
“สุนทร”ฉายภาพชัดเจนมากขึ้นเมื่อตั้งเป็นชุมชนสำเร็จ การขับเคลื่อนพัฒนาก็เริ่มขึ้น และความมุ่งหวังที่จะมีสื่อท้องถิ่นของตัวเองก็เป็นจริง เขาบอกว่าการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชนที่เขากับเพื่อนร่วมกันปลุกปั้นขึ้นมากับมือ เกิดจากการต้องการรักษาสิทธิ์ตัวเองตามรัฐธรรมนูปี2540 แม้ว่าตอนเริ่มต้นจะอยากมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นของตัวเองเพราะหลงใหลในกลิ่นหมึก แต่ก็มาจบลงที่เสาอากาศและเครื่องส่งในห้องสี่เหลี่ยมภายใต้ชื่อ “วิทยุชุมชนคนจอมทอง” ด้วยทุนเริ่มต้นไม่กี่หมื่นบาท
“จริงๆแล้วส่วนตัวไม่เคยคิดเคยฝันจะมาเป็นนักจัดรายการ เพราะชอบทางดนตรีและเล่นดนตรีมาเกือบจะทั้งชีวิต ปัจจุบันก็เป็นครูสอนดนตรี แรกๆก็ชวนเพื่อนทำหนังสือพิมพ์แต่ก็ติดขัดในเหตุผลบางประการไม่สามารถทำได้ จึงคุยกันว่าจะทำวิทยุชุมชน เพื่อนก็ถามว่าทำทำไมเพื่อธุรกิจหรือเพื่อสังคม ผมก็บอกว่าเพื่อสังคมสินั่นคือจุดเริ่มต้นของวิทยุชุมชนคนจอมทอง”
ปฏิบัติตามกฎหมายคือไม่ให้มีโฆษณา แต่ก็หารายได้สำหรับนำมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟจากค่าขอบคุณเดือนละประมาณ 2-3 พันบาทก็พออยู่ได้ ซึ่งมีช่วงหนึ่งฟ้าผ่าเสาอากาศพังต้องใช้เงินจำนวนมากในการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายตัดสินใจทอดผ้าป่าได้เงินมาจำนวน 90,000 บาท ลมหายใจสถานีจึงกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
“คนทำวิทยุชุมชนต้องทำด้วยใจรักจริงๆถึงจะอยู่ได้ ก่อนหน้านี้สถานีเรามีคนจัดเยอะมาก แต่หลายคนต้องการค่าตอบแทนซึ่งทางสถานีไม่มีให้ก็เลยออกไป ทุกวันนี้เหลือคนช่วยกันทำงานจริง 4-5 คน พระในชุมชนก็เข้ามาช่วย ซึ่งด้วยจำนวนคนน้อย ข่าวสารที่จะนำมาออกอากาศไม่มีคนทำ จึงใช้วิธีดึงเอาคลิปเสียงข่าวจากหน้าเว็บไซต์โต๊ะข่าวชุมชน สำนักข่าวอิศรามาเปิดออกอากาศหรือเอาข่าวหน้าเว็บมาอ่าน บางทีก็เอาจากไทยพีบีเอสบ้างซึ่งก็ช่วยได้เยอะเหมือนกัน”
เศรษฐกิจพอเพียงต่อยอดจากวชช.
เขาเล่าให้ฟังต่อว่า ระยะเวลาผ่านไปประมาณ 7 ปีกับอายุของวิทยุชุมชนคนจอมทอง 99.25 เมกกะเฮิร์ ตลอดเวลามี “สุรสิทธิ์ กระแสญาณ” อีกหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญเป็นผู้บริจาคให้ใช้อาคารสถานที่เป็นที่ตั้งสถานี รวมทั้งเป็นคนจัดหารายได้เข้ามาช่วยเหลือและสื่อแขนงนี้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดี
“บทบาทของวิทยุชุมชนถือว่าชัดเจนมากในเรื่องของการให้บริการคนในชุมชนตรงนี้ ปัจจุบันจึงมีการต่อยอดที่จะทำศูนย์การเรียนรู้ ทำห้องสมุด ทำศูนย์ประสานงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ในชุมชนให้เกิดขึ้นรวมทั้งการทำสวนเกษตรด้วย”
ประธานชุมชนวัดบางขุนเทียนนอก กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่นเอาจริงเอาจังก่อนจะเล่าให้ฟังถึงการเริ่มต้นการทำเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่ 7ไร่ที่ซุกตัวอยู่กลางเมืองใหญ่ เดิมทีพื้นที่เป็นสวนลิ้นจี่ถูกเจ้าของปล่อยทิ้งร้างจึงรวบรวมเงินทุนกับสมาชิกในชุมชนไปขอเช่ามาในจำนวน 5,000 บาททำเป็นสวนเกษตรเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งได้ร่วมแรงร่วมใจกันพลิกผืนดินทำร่องสวนปลูกผักเลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ดซึ่งช่วงสารทจีนที่ผ่านมาขายเป็นได้เงินมาเป็นทุนเพิ่มเติมจำนวน 8 พันกว่าบาท
“เราลงทุนซื้อพันธุ์ไก่พันธ์ปลาดุกปลานิลนับหมื่นตัวมาปล่อยแต่เสียดายจากเหตุน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้ปลาหายไปหมดแต่อย่างไรก็จะทำต่อไปเพราะอยากให้สถานที่ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในหลวงรวมทั้งอยากปลูกผักปลอดสารพิษทำให้เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นครัวของชุมชน”
ซึ่งการทำงานตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิทยุชุมชนมีบทบาทค่อนข้างสูงต่อการเป็นสื่อกลาง นำเสนอแนวความคิด ส่งสารไปยังสมาชิกให้รับรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในชุมชนและสมาชิกจะเข้าร่วมได้อย่างไรบ้าง
“วิทยุชุมชนเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับคนในชุมชนและคนรอบนอกได้เป็นอย่างดี บางคนรู้ข่าวก็นำพันธุ์พริก พันธุ์กระเพรา พันธุ์ตะไคร้มาให้ปลูก และที่สำคัญขอขอบคุณกองรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือกรุงเทพฯที่เห็นความสำคัญ จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยถางหญ้า ช่วยขุดลอกคลองจนทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา”
ยกสวนเป็นแหล่งเรียนรู้เป็นวัตถุดิบทำอาหารกลางวันให้แก่เด็ก
อย่างไรก็ตาม “สุนทร” ยังบอกอีกด้วยว่า เนื้อที่จำนวน 7 ไร่ที่เขาร่วมกับสมาชิกในชุมชนปลุกปั้นขึ้นมาจะยกให้เป็นแหล่งเรียนรู้จากประสบการณ์จริงให้กับเด็กในโรงเรียนของชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงใช้เป็นห้องเรียนที่มีชีวิตและนำผลผลิตที่ได้เป็นอาหารกลางวัน “จากการพูดคุยหารือกับผู้บริหารสถานศึกษาในชุมชน เห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งเป็นครัวของโรงเรียน เรื่องผักปลอดสารพิษ ซึ่งนอกจากคณะผู้บริหารจะให้เด็กมาศึกษาหาประสบการณ์จริงจากวิทยุชุมชนด้วยการมาจัดรายการ ต่อไปที่ตรงนี้ก็จะเป็นอีกมิติหนึ่งของความร่วมไม้ร่วมมือระหว่างชุมชนกับโรงเรียนที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้
แรงบันดาลใจก่อนเดินบนเส้นทางคนทำสื่อ-นักพัฒนา
“นับตั้งแต่ปี 2518 ผมยึดอาชีพเป็นนักดนตรีหาเลี้ยงตัวเอง ส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือ จนมาแต่งงานพอปี 2537-38 คิดว่าอายุเราก็มากขึ้น อาชีพเราก็ถอยลง ก็เลยไปสมัครเป็นครูสอนดนตรีที่สยามกลกาลอยู่ประมาณ 3-4 ปี จากนั้นทางกทม.ขอให้มาช่วยสอนที่วัดบางปทุมนอก และวัดนางนอนก็เลยยึดอาชีพเป็นครูสอนดนตรีควบกับการทำงานกับชุมชนมาจนถึงปัจจุบันนี้”
“สุนทร” ประมวลภาพจากการทำงานที่ผ่านมาพร้อมกับย้อนอดีตให้ฟังด้วยแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุข ก่อนจะมาทำอะไรหลายอย่างเพื่อคนอื่นอย่างทุกวันนี้ ซึ่งความเป็นครูสามารถใช้ได้ดีกับการทำงานวิทยุชุมชนและการทำงานพัฒนา
“การทำงานวิทยุชุมชนก็เหมือนเป็นครู เพราะถ้าเราต้องการเป็นชุมชนที่แท้จริง อยากจะเป็นวิทยุชุมชนที่แท้จริงเราต้องให้ความรู้ให้ประสบการณ์จริงให้สิ่งดีๆกับชาวบ้านก็เหมือนกับการเป็นครูที่ต้องมอบสิ่งดีๆให้กับเด็ก”
เขาเล่าและกล่าวต่อว่า ความสุขอยู่ที่การได้ทำ ได้เห็นสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชุมชน อีกไม่นานชุมชนวัดบางขุนเทียนนอกจะมีความพร้อมทั้งสาธารณูปโภค ถนนหนทาง แหล่งเรียนรู้ รวมถึงคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หาเช้ากินค่ำจะได้เรียนรู้และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
เสาส่งสัญญาณวิทยุชุมชนตั้งเด่นตระหง่านบนหลังคาตึกสองชั้นที่ซุกตัวอยู่ก้นซอยแยก19 พระราม2ที่28 ป้ายชื่อ “วิทยุชุมชนคนจอมทอง” บุบเบี้ยวชำรุดตามกาลเวลาถูกห้อยแขวนไว้ตรงกลางเสาไฟฟ้าด้านหน้าอาคารอวดสายตาแก่ผู้สัญจรผ่านไปมา ภายในห้องส่ง “สุนทร กริชแก้วศิริ” ยังคงทำหน้าที่ของเขาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เฉกเช่นเดียวกับสวนเศรษฐกิจพอเพียงที่นับวันจะงอกงามให้ดอกผล ให้ผลผลิตแก่ผู้คน เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างเพียงพอ ท่ามกลางยุคสมัยบริโภควัตถุนิยม กำลังกลายเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ของคนเมือง.