คนพื้นที่ตั้งความหวังกับ "ครม.ส่วนหน้า" อดีตแกนนำพูโลติงไม่มีมุสลิมร่วมวง
การตั้งองค์กรหรือคณะทำงานเฉพาะกิจชุดใหม่เข้าไปช่วยจัดการปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทางทฤษฎีย่อมถือเป็นเรื่องดี แต่ผลสัมฤทธิ์ที่จะออกมาดีเหมือนในทฤษฎีหรือไม่ ยังมีปัจจัยอีกหลายๆ อย่างเป็นองค์ประกอบ
ผศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า การตั้ง “ครม.ส่วนหน้า” ที่มีนายทหารเป็นส่วนใหญ่ มองว่ามีทั้งข้อดีและข้อน่ากังวล
ข้อดี คือ ครม.ส่วนหน้าตั้งขึ้นมาเพื่อประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับรัฐบาลให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า ส่วนนี้ถ้าแก้ไขได้ ก็จะเป็นเรื่องดี
ข้อน่ากังวล คือ ในพื้นที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหลักอยู่แล้ว การทำหน้าที่ของ “ครม.ส่วนหน้า” จะมาทับซ้อนสองหน่วยงานเดิมหรือไม่
“ถ้าสามารถทำให้มีความชัดเจนในภาระหน้าที่ และไม่ทับซ้อนกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะในอดีต ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ส่งคุณถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยในขณะนั้น มาทำงานในพื้นที่คล้ายๆ ครม.ส่วนหน้าเหมือนกัน” ผศ.ดร.สามารถ กล่าว
ขณะที่ความเห็นของอดีตคนที่เคยจับปืนต่อสู้กับรัฐ อย่าง นายมะแอ สะอะ หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำขบวนการพูโล มองว่าส ดูจากคำสั่งตั้ง “ครม.ส่วนหน้า” บอกว่าจะมาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่เมื่อดูรายชื่อบุคคลที่จะมา ไม่มีใครเลยเป็นคนพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลาม
“อย่างน้อยน่าจะมีจังหวัดละ 1 คนก็ยังดี แต่เมื่อเป็นแบบนี้แล้วจะทำงานอย่างไร ทั้งที่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายพล ก็มีหลายคนที่เป็นคนสามจังหวัดและเป็นคนอิสลาม ฉะนั้นคิดว่า ครม.ส่วนหน้าคงมีแค่ชื่ออย่างเดียว ไม่สามารถทำอะไรได้”
เสียงจากชาวบ้านในพื้นที่มีทั้งตั้งความหวัง และเฉยๆ
นายสมเกียรติ อมรแก้วกล่ำ ชาวจังหวัดยะลา บอกว่า ปัญหาในพื้นที่มีความซับซ้อนมากกว่าที่จะแก้ปัญหาจากคนๆ เดียวหรือคณะเดียว การมีคนหลายคนจากหลายองค์กรมาร่วมกันแก้ปัญหา ร่วมกันพัฒนา ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ สำหรับพื้นที่นี้ ขออย่างเดียวอย่ามาแค่ตำแหน่งก็พอ
นายอับดุลเลาะ เจะตาเละ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการความสงบสุขและอาชีพที่มั่นคง สามารถให้ลูกมีการศึกษาที่ดี ใครจะมาใครจะไปก็ไม่ว่า ขอให้มาร่วมกันแก้ปัญหาจริงๆอย่ามาสร้างเงื่อนไขเพิ่ม มั่นใจว่าทั้ง 13 คนสามารถทำอะไรได้มากถ้าจะทำ เพราะแต่ละคนเคยผ่านงานในพื้นที่และรู้ปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ทำแค่นั้นเอง
นายสูไฮมี เจะมูซอ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทุกคนในพื้นที่ยังมีความหวังเสมอ แต่หน่วยงานรัฐทุกส่วน จะเป็น ศอ.บต.หรือทหารต้องมีความตั้งใจแก้ปัญหา สิ่งสำคัญอยู่ที่ความตั้งใจ
ขณะที่ นายมะนาเซ สาเมาะ ชาวจังหวัดยะลา มองต่างมุมว่า ใครจะมาใครจะไปไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน เพราะถึงอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้อยู่แล้ว ถึงอย่างไรชาวบ้านก็แย่เหมือนเดิม
“ปัญหาของชาวบ้านที่สำคัญคือปากท้อง อาชีพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ในพื้นที่วันนี้ เป็นเรื่องของใครพวกใคร ใครเส้นใครเท่านั้น คนมีพวก มีเส้นถึงจะได้รับการดูแล” นายมะนาเซ กล่าว
เป็นเสียงจากคนในพื้นที่แท้ๆ ที่ภาครัฐควรรับฟัง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “ครม.ส่วนหน้า”
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพต้นฉบับโดย แวลีเมาะ ปูซู