เปิดบันทึก 3 ชิ้น 'ต้นตอ' สั่งจ่ายเงินค่าตอบแทน จนท. ธพว.200 คน ก่อน สตง.เรียกคืน
สาวลึกต้นตอ ปม ธพว.จ่ายเงิน พนง.ขัด พรบ.ธนาคาร พบหลักฐาน 3 ชิ้น ระบุชัดต้องการอัดฉีดเพื่อเร่งผลงาน ถูกทักท้วงแต่ไม่ฟัง สุดท้าย กจ.ต้องเซ็นอนุมัติ ผู้เกี่ยวข้องจงใจทิ้งร่องรอยให้เห็นในบันทึกขออนุมัติ อ้างเป็นนโยบาย ปธ.บอร์ด สตง.ให้เรียกคืนโดยไม่เอาผิด แต่ยังทำซ้ำ
กรณี สำนักตรวจสอบการเงินที่ 1 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ถึง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) แจ้งว่า ธพว. จ่ายเงินโดยไม่มีระเบียบรองรับ และขัดกับ พรบ.ของ ธพว. ซึ่งมีพนักงานที่ได้รับเงินไปโดยไม่ถูกต้อง จำนวนเกือบ 200 คน ตั้งแต่คนละไม่ถึงหมื่นบาท จนถึงมากกว่า 1 แสนบาท จึงสั่งให้ ธพว.เรียกเงินคืนจากพนักงานที่ได้รับเงินในช่วง ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2558 รวมเป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท
(อ่านประกอบ:สตง.สั่งเรียกคืน‘เงินประจำตำแหน่ง’ จนท.สินเชื่อ-ผู้จัดการ ธพว. 200 คน กว่า 6 ล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเอกสาร 3 ชิ้น เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินค่าตำแหน่ง ให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้บริหารในหน่วยงานวิเคราะห์สินเชื่อ พร้อมกับค่าเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเดือนละ 2 ครั้งสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสินเชื่อ ที่โยกย้ายไปทำงานต่างจากพื้นที่เดิม เป็นบันทึกของผู้บริหารในสายงานบริหารความเสี่ยง ที่กำกับดูแลงานด้านวิเคราะห์สินเชื่อ และผู้บริหารในสายงานปฏิบัติการ ที่กำกับดูการทำนิติกรรมสัญญาหลังการอนุมัติสินเชื่อ โดยในบันทึกทุกฉบับอ้างถึงนโยบายของประธานกรรมการ ธพว.ที่ให้ไว้ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 ให้ดูแลเจ้าหน้าที่ด้านวิเคราะห์สินเชื่อ และด้านปฏิบัติการสินเชื่อ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายพิเศษ ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทางเพื่อเยี่ยมบ้าน และค่าตำแหน่งสำหรับเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ
บันทึกฉบับแรก ลงวันที่ 15 กันยายน 2557 ลงนามขออนุมัติโดยนางจงรักษ์ โปลิตานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่ผู้รับผิดชอบสายงานบริหารความเสี่ยง นำเสนอต่อรักษาการกรรมการผู้จัดการ (นางสาวปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์) เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติค่าตำแหน่งงานด้านการวิเคราะห์สินเชื่อ สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านการวิเคราะห์สินเชื่อประจำศูนย์วิเคราะห์สินเชื่อ โดยเนื้อหาในบันทึกได้อ้างถึง ประธานกรรมการ ธพว. มีนโยบายในการประชุมติดตามงาน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 ให้สายงานบริหารความเสี่ยงดูแลเกี่ยวกับค่าตำแหน่งงานสำหรับเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ โดยในบันทึกได้นำเสนอจำนวนเงินค่าตำแหน่งงานของเจ้าหน้าที่แต่ละระดับ ซึ่งรักษาการกรรมการผู้จัดการพิจารณาแล้วก็ได้ลงนามอนุมัติ
บันทึกฉบับที่สอง ลงวันที่ 17 กันยายน 2557 ลงนามขออนุมัติร่วมกันระหว่าง นางจงรักษ์ โปลิตานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่ผู้รับผิดชอบสายงานบริหารความเสี่ยง กับนายพงษ์ประยูร เติมเตชาติพงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ดูแลงานด้านปฏิบัตการสินเชื่อ นำเสนอต่อรักษาการกรรมการผู้จัดการ (นางสาวปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์) เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายกรณีพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านวิเคราะห์สินเชื่อ และด้านปฏิบัติการสินเชื่อ โดยเนื้อหาในบันทึกได้อ้างถึง ประธานกรรมการ ธพว. มีนโยบายในการประชุมติดตามงาน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 ให้สายงานบริหารความเสี่ยงดูแลเกี่ยวกับผู้ที่เสียสละเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัด สำหรับงานด้านวิเคราะห์สินเชื่อ และงานด้านปฏิบัติการสินเชื่อ เป็นกรณีพิเศษ โดยได้นำเสนอเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เสียสละเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัด ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทางสำหรับเดินทางไปปฏิบัติงานครั้งแรก และเงินพิเศษเพื่อกลับมาเยี่ยมบ้าน ซึ่งรักษาการกรรมการผู้จัดการพิจารณาแล้วก็ได้ลงนามอนุมัติ
บันทึกฉบับที่สาม ลงวันที่ 18 กันยายน 2557 ลงนามโดย นางจงรักษ์ โปลิตานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่ผู้รับผิดชอบสายงานบริหารความเสี่ยง แจ้งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเนื้อหาในบันทึกได้อ้างถึง ประธานกรรมการ ธพว. มีนโยบายในการประชุมติดตามงาน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 ให้สายงานบริหารความเสี่ยงดูแลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายพิเศษ ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทางเพื่อเยี่ยมบ้าน สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านสินเชื่อ กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสินเชื่อ และค่าตำแหน่งงานด้านการวิเคราะห์สินเชื่อ สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านการวิเคราะห์สินเชื่อประจำศูนย์วิเคราะห์สินเชื่อ เป็นกรณีพิเศษ
จากบันทึกทั้งสามฉบับ ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2557 โดยบันทึกแต่ละฉบับได้อ้างว่าเป็นนโยบายของประธานกรรมการในการประชุมติดตามงานในวันดังกล่าว แต่หลังจากนั้นได้มีผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายคนได้ทักท้วงว่าไม่ควรจ่ายเงินพิเศษเหล่านี้ให้กับพนักงาน เพราะอาจจะทำให้เป็นสภาพการจ้างและยกเลิกไม่ได้ หรือการเบิกค่าเดินทางเยี่ยมบ้านแบบเหมาจ่าย โดยไม่ต้องใช้หลักฐานการจ่ายเงิน จะทำให้เบิกได้โดยไม่ได้เดินทางจริงผิดจากวัตถุประสงค์ของการจ่ายเงิน รวมทั้งความเป็นธรรมกับพนักงานกลุ่มอื่นที่ต้องทำงานหนักเช่นกันแต่ไม่ได้รับเงินพิเศษนี้ และยังมีข้อทักท้วงต่าง ๆ อีกหลายเรื่อง ทำให้หลังจากมีนโยบายให้จ่ายเงินพิเศษนี้แล้ว เวลาได้ล่วงเลยไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม 2557 ก็ยังไม่สามารถเบิกเงินให้กับพนักงานได้ ผู้มีอำนาจในระดับโยบายจึงขีดเส้นตายต้องเบิกให้ได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2557 ทำให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปฏิบัติตาม และก็เบิกจ่ายเรื่อยมาจนกระทั่ง สตง.ตรวจพบ
หลังจาก สตง.มีคำสั่งให้คืนเงิน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 แล้ว ซึ่ง ธพว.จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของ สตง.โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ผู้มีอำนาจในระดับนโยบายก็ยังคงสั่งให้หาวิธีการเยียวยา เพื่อไม่ให้พนักงานกลุ่มนี้ที่ได้รับเงินพิเศษไปแล้วกว่า 1 ปี ต้องได้รับผลกระทบ หรือก็คือหาวิธีทำให้พนักงานกลุ่มนี้ไม่ต้องนำเงินที่ได้รับไปโดยไม่ถูกต้องส่งคืนให้กับธนาคาร สุดท้ายจึงเป็นที่มาของการจ่ายโบนัสพิเศษให้กับกลุ่มพนักงาน 200 คน ที่อาจจะเป็นการกระทำผิดซ้ำอีกครั้งของผู้บริหาร ธพว.?
อ่านประกอบ: เจาะ ธพว.เรียก'ค่าตอบแทน'คืนจาก จนท. 200 คน ผ่าน‘โบนัสพิเศษ’ ชอบหรือไม่?