- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะ ธพว.เรียก'ค่าตอบแทน'คืนจาก จนท. 200 คน ผ่าน‘โบนัสพิเศษ’ ชอบหรือไม่?
เจาะ ธพว.เรียก'ค่าตอบแทน'คืนจาก จนท. 200 คน ผ่าน‘โบนัสพิเศษ’ ชอบหรือไม่?
เปิด 5 ข้อสังเกต ปม ธพว.เรียกเงิน 'ค่าตอบแทน'คืนจาก จนท.สินเชื่อ-ผู้จัดการ ธพว. 200 คน ตามคำสั่งของ สตง. หลังสอบพบทำผิดระเบียบ ใช้กรรมวิธีจ่าย‘โบนัสพิเศษ’ ชอบหรือไม่?
กรณี สำนักตรวจสอบการเงินที่ 1 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ถึง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) แจ้งข้อสังเกตประกอบการสอบทานข้อมูลทางการเงิน ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2558 พบว่า ธพว. จ่ายเงินโดยไม่มีระเบียบรองรับ และขัดกับ พรบ.ของ ธพว. ซึ่งมีพนักงานที่ได้รับเงินไปโดยไม่ถูกต้อง จำนวนเกือบ 200 คน ตั้งแต่คนละไม่ถึงหมื่นบาท จนถึงมากกว่า 1 แสนบาท จึงสั่งให้ ธพว.เรียกเงินคืนจากพนักงาน รวมเป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท
แต่ปรากฎว่า ธพว.ไม่ได้ดำเนินการในทันที ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเป็นเวลาหลายเดือน โดยมีความพยายามที่จะทำให้พนักงานไม่ต้องคืนเงินจำนวนนี้ โดยครั้งแรกจะนำเงินจากกองทุนสวัสดิการพนักงานมาใช้เพื่อจ่ายคืนแทนพนักงาน แต่ได้รับการทักท้วงผู้บริหารบางคนว่าจะกระทบกับพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้อง และทำให้เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เป็นการเรียกคืนจากพนักงานตามคำสั่งของ สตง.
ต่อมาทางธพว.จึงหาวิธีการที่จะทำให้สามารถนำเอาเงินจากหมวดค่าใช้จ่ายประเภทใดประเภทหนึ่งของธนาคาร จ่ายเข้าไปอยู่ในบัญชีของพนักงานเสียก่อน แล้วจึงหักออกมาจ่ายคืนธนาคาร ซึ่งเห็นว่าการจ่ายโบนัส เป็นวิธีการที่เป็นไปได้ โดยจะต้องเป็นโบนัสที่จ่ายเพิ่มพิเศษ นอกเหนือจากที่พนักงาน 200 คนนั้น จะได้รับตามปกติอยู่แล้ว (อ่านประกอบ:สตง.สั่งเรียกคืน‘เงินประจำตำแหน่ง’ จนท.สินเชื่อ-ผู้จัดการ ธพว. 200 คน กว่า 6 ล.)
กรณีดังกล่าวมี ข้อสังเกตดังนี้
1.สตง.สั่งให้เรียกเงินคืนจากพนักงานโดยเร็ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 แต่ ธพว.เพิ่งคืนเงินในเดือนสิงหาคม 2559 เนื่องจากผู้บริหารของธนาคารไม่ต้องการเรียกเงินคืนจากพนักงาน แต่จะใช้วิธีจ่ายคืนจากเงินของธนาคาร โดยการจ่ายโบนัสพิเศษเพิ่มขึ้นให้กับพนักงานกลุ่มนี้ นอกเหนือจากโบนัสปกติอีกเท่ากับจำนวนเงินที่จะต้องคืน ซึ่งพนักงานกลุ่มที่ต้องคืนเงินจะได้รับโบนัสพิเศษอีกคนละ ตั้งแต่ไม่ถึง 1 หมื่นบาท จนถึง มากกว่า 1 แสนบาท แล้วแต่ว่าใครจะต้องคืนเท่าไร รวมแล้วเป็นเงิน 6.06 ล้านบาท จึงทำให้ต้องรอเวลาการออกหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสแล้ว จึงมีการคืนเงินตามคำสั่ง สตง.
2.การกันเงินงบประมาณการจ่ายโบนัส ออกมา จำนวนประมาณ 6 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ
138 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง เพื่อจ่ายเป็นโบนัสพิเศษให้กับเฉพาะพนักงานกลุ่มนี้ที่มีประมาณ 200 คน จากจำนวนพนักงานของ ธพว.ทั้งหมด 1,500 คน ทำให้พนักงานอีก 1,300 คน ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจาก เงินงบประมาณ 6 ล้านบาท ไม่ถูกกระจายไปยังพนักงานทุกคนตามอัตราส่วนที่พนักงานแต่ละคนควรจะได้รับตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศ สำหรับการจ่ายโบนัสของการปฏิบัติงาน ปี 2558
3.การจ่ายโบนัสพิเศษให้กลุ่มพนักงานประมาณ 200 คน ทำให้เกิดกรณีที่ผิดปกติ เช่น พนักงานที่มีผลประเมินการปฏิบัติงาน ระดับดีมาก หรือได้เกรด A แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 200 คน กลับได้รับโบนัสน้อยกว่า พนักงานระดับเดียวกันที่มีผลประเมินการปฏิบัติงาน เพียงระดับมาตรฐาน หรือได้เกรด C แต่อยู่ในกลุ่ม 200 คน เนื่องจากมีการบวกเงินเพิ่มให้กับกลุ่ม 200 คน ซึ่งทำให้การจ่ายโบนัสส่วนที่ 2 ที่แปรผันตามผลการประเมิน ไม่เป็นตามนั้น ขัดกับวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัส ถึงแม้ว่าประกาศของธนาคาร ที่ 16/2559 จะพยายามระบุไว้ว่าหากมีงบประมาณคงเหลือให้นำไปจัดสรรเพิ่มเติมแก่พนักงานบางคนได้ แต่จำนวนเงินถึงกว่า 6 ล้านบาท ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นงบประมาณคงเหลือ แต่ความเป็นจริงคืองบประมาณที่กันไว้ตั้งแต่แรกสำหรับพนักงานกลุ่มนี้เท่านั้น
4.การเรียกเงินคืนจากพนักงานที่ได้รับเงินไปโดยขัดกับ พรบ.ธนาคาร ด้วยวิธีการเช่นนี้ อาจไม่เป็นไปตามคำสั่งของ สตง. เนื่องจาก สตง.ต้องการให้เรียกคืนจากพนักงานโดยเร็ว จากเงินที่ได้จ่ายไปโดยไม่ถูกต้อง แต่การที่ ธพว.หาวิธีนำเงินของธนาคารจ่ายเข้าไปในบัญชีของพนักงานเสียก่อน แล้วจึงหักกลับมาคืนธนาคาร เป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ และเงินที่จ่ายคืนธนาคารจำนวน 6.06 ล้านบาทนี้ ควรจะถือเป็นเงินของธนาคาร ที่ธนาคารนำไปจ่ายให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานนำกลับไปจ่ายคืนธนาคารอีกที เงินได้ส่วนนี้ของพนักงานถึงแม้จะพยายามหลีกเลี่ยงโดยจ่ายผ่านช่องทางของโบนัส แต่ก็ ‘ไม่ใช่โบนัสที่แท้จริง’ของพนักงานในกลุ่ม 200 คน การระบุว่าเป็นโบนัส ก็เป็นแต่เพียงช่องทางให้เงินผ่านเข้าไปในบัญชีของพนักงานเท่านั้น ก่อนที่จะถูกหักกลับมาคืนธนาคาร การจ่ายเงินส่วนนี้ของธนาคาร จึงไม่ใช่เงินที่พึงจ่ายได้ โดยต้องห้ามตาม มาตรา 13 (3) ของ พ.ร.บ.ธพว. เช่นเดียวกับเงินประจำตำแหน่งและค่าเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน ที่ สตง.สั่งให้เรียกคืนในครั้งแรก จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิม เป็นครั้งที่ 2 ของ ธพว.
5.การกระทำของผู้บริหาร ธพว.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีลักษณะเอาเงินของธนาคาร นำไปให้กับพนักงานบางกลุ่ม เพื่อใช้คืนธนาคารตามคำสั่งของ สตง.โดยพนักงานกลุ่มนั้นไม่ต้องนำเงินที่ได้รับไปโดยไม่ถูกต้องส่งคืนให้กับธนาคาร เป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ที่บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษ......” หรือไม่?
กรณีนี้ น่าจะเป็นหนังเรื่องยาว ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายทีไม่เห็นด้วยอย่างไร?