เครือข่ายสลัม 4 ภาค เดินขบวนยื่นหนังสือนายกฯ ขอให้รัฐคุ้มครองพื้นที่พิพาท
วันที่อยู่อาศัยโลก สอช.-เครือข่ายสลัม 4 ภาคเคลื่อนขบวนไปทำเนียบฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้รัฐคุ้มครองพื้นที่พิพาทที่อยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหา ด้านตัวแทนป้อมมหากาฬฯ เรียกร้องยื่นหนังสือถึงรักษาการผู้ว่าฯ ยุติการรื้อชุมชน
วันที่ 3 ตุลาคม เครือข่ายและกลุ่มองค์กรต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก โดยตั้งแต่ช่วงเช้า สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.) และชาวบ้านจากชุมชนป้อมมหากาฬ รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แสดงความขอบคุณที่รัฐบาลได้รับข้อเสนอของสมาพันธ์ฯ ซึ่งเคยยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2558 รวมถึงยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยมีการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อให้มีโฉนดชุมชน พร้อมกับขอให้รัฐคุ้มครองพื้นที่พิพาทที่อยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้ชาวบ้านถูกขับไล่และเตรียมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศกว่า 2 ล้านครัวเรือน และปี2558 พบชุมชนที่ถูกไล่รื้อ 86 ชุมชน คิดเป็น 8,100 ครัวเรือน คิดเป็น 3.4 หมื่นชีวิต
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักบริเวณถนนราชดำเนินฝั่งประตูสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ มีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย และ ประกาศจะนอนค้างที่ป้อมมหากาฬ 7 วัน 7 คืนเพื่อให้กำลังใจกรณีถูกไล่รื้อ
สำหรับจดหมายที่เครือข่ายฯ ยื่นต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ขอให้มีการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี และยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อย 3 ปี โดยดำเนินการดังนี้
1.เร่งรัดให้มีการดำเนินการของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย
2.ให้ทบทวนปัญหาด้านกฎหมาย ที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่ เช่น ขอใช้พื้นที่ของรัฐที่มีผู้มีรายได้น้อยอาศัยอยู่ก่อนแล้ว เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา
3.กรณีนโยบายของรัฐในการยึดคืนพื้นที่ เช่น ป่า ทะเลชายฝั่ง พื้นที่สาธารณะและ ส.ป.ก. ที่ขัดต่อกฎหมาย ทางเครือข่ายขอเสนอรูปแบบการแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น
4.กรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ขอเรียกร้องให้นายกฯ มีคำสั่งให้แต่งตั้ง “คณะกรรมการพหุภาคี” ประกอบด้วยภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม เอกชน ชุมชน ภาควิชาชีพ กทม. เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาให้คนอยู่กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ อันเป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนเกาะรัตนโกสินทร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. ตัวแทนของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมารับหนังสือจากตัวแทนสอช. ซึ่งได้อ่านจดหมายและข้อเรียกร้องทั้งหมดจากนั้นมีการพูดคุย พร้อมมอบช่อดอกไม้
จากนั้นด้านเครือข่ายสลัม 4 ภาค เคลื่อนขบวนจากองค์การสหประชาชาติมาสมทบเพื่อรอยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้แก้ปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัย รวมถึงให้กำลังใจชุมชนป้อมมหากาฬด้วย
สำหรับบรรยากาศหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสอช.เดินทางถึงลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงขอให้นางผุสดี ตามไท รักษาการผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ออกมาพบเพื่อพูดคุย โดยนายพรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ประกาศว่า หากบุคคลทั้งสองไม่ออกมาพบจะแลกบัตรประชาชนคนละใบขอเข้าอาคารศาลาว่าการฯ
จนกระทั่งเวลา 11.45 น. นางผุสดี เดินทางลงมารับหนังสือ โดยตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬได้อ่านแถลงการณ์โดยสรุปว่า 1.กทม.ต้องยุติการดำเนินการเข้ารื้อถอน ทำลาย บ้านเรือนในขุมชนป้อมมหากาฬ 2.กทม.ต้องไม่มีการรื้อถอนบ้านไม้โบราณ และให้ผู้ชุมชนเป็นผู้ดูแล 3.กทม.ควรร่วมมือกันเป็นคณะกรรมการพหุภาคี เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันโดยเร็ว 4. ให้รัฐบาลเข้ามาจัดการปัญหาของชุมชนป้อมมหากาฬ เนื่องจากหากปล่อยไว้จะขยายความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายเวลา 12.00 สอช.ได้เคลื่อนขบวนมายังชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อมาให้กำลังใจและพักรับประทานอารหารกลางวันร่วมกัน โดยขบวนสอช.บางกลุ่มจะนอนค้างที่ชุมชนป้อมมหากาฬ 7 วัน 7 คืนเต็ม ซึ่งกำหนดการของกทม.จะเข้ารื้อชุมชนป้อมมหากาฬอีกครั้งในวันที่ 6 ต.ค. นี้