"สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์" ว่าที่ ครม.ส่วนหน้า กับงาน "ศธ.ส่วนหน้า" แก้การศึกษาชายแดนใต้
เปิดดูชื่อ ครม.ส่วนหน้า หรือ "ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล" ที่จะทำหน้าที่เสริมพลังและลดข้อจำกัดต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว หลายๆ คนโล่งใจที่เห็นชื่อ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ
เพราะแม้หลายคนไม่ค่อยได้ยินชื่อของท่านในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำงานมาครบ 2 ปีไปแล้ว แต่คนที่เกาะติดปัญหาภาคใต้จะรู้ดีว่า พล.อ.สุรเชษฐ์ หรือ “บิ๊กน้อย” นี่แหละคือ “รมต.ส่วนหน้า” ตัวจริงเสียงจริงในช่วงที่ผ่านมา
พล.อ.สุรเชษฐ์ เป็นเตรียมทหารรุ่น 14 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ว่าที่หัวหน้า ครม.ส่วนหน้า เขาเติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 3 เคยเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา โชว์ผลงานช่วงที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีครูเสียชีวิตเลยในพื้นที่รับผิดชอบ
เคยเกือบได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 แม้จะพลาดหวัง แต่เจ้าตัวก็ฝากผลงานด้านอื่นไว้เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะการเป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยให้เป็นที่ฮือฮากันทั้งวงการมาแล้ว สะท้อนถึงความกว้างขวางและคุณสมบัติ “มือประสานสิบทิศ”
เมื่อเข้าร่วมรัฐบาล คสช. “บิ๊กน้อย” ได้รับมอบหมายให้เป็น รมช.ศึกษาฯ และลุยงานภาคใต้แบบที่เรียกว่าแทบจะลงไปกินนอนที่นั่น วันนี้ผลงานเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว
เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.สุรเชษฐ์ ก่อนที่จะมีชื่อติดโผ “ครม.ส่วนหน้า” ในประเด็นการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักในบริบทข่าวภาคใต้ ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายเพื่อสร้างความสงบอย่างยั่งยืน
O วันนี้เรื่องการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ ภาพรวมเป็นอย่างไร?
ภาพรวมถือว่าดีขึ้น ย้อนไปก่อนปี 2557 ที่ คสช.เข้ามาบริหาร ต้องยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาที่นั่นด้อยกว่ามาตรฐานของประเทศ และด้อยกว่าภูมิภาคอื่น สาเหตุส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็เพราะปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งเด็ก ครู และสถานศึกษาถูกทำร้าย ส่งผลต่อความหวาดกลัว
หลังจากที่ผมเข้ามาทำงาน ท่านรัฐมนตรี (พล.ร.อ.ณรงค์ พัฒนาศัย และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) ได้มอบหมายให้ดำเนินการตามนโยบาย สิ่งที่แรกที่ทำคือดูปัญหาการบริหารจัดการ การบูรณาการ ผลการศึกษาจากการวัดผลพื้นฐานระดับชาติ และค่อยๆ แก้ปัญหา ถึงวันนี้ 2 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นจากการประเมินทุกช่วงชั้น
O ทำอย่างไรถึงดีขึ้นได้ใน 2 ปี?
เพราะการบูรณาการ ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ ตอนนี้ผมได้ตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกง่ายๆ ว่า “กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า” ตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลา วิธีการที่ลงไป คือการมองการศึกษาขึ้นพื้นฐาน อาชีวะ และมหาวิทยาลัย
ในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน มองว่าการศึกษาด้อยลงไป ยกตัวอย่างเช่น มีจำนวนครูน้อยเกินไป จึงใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเสริมเข้าไปเสริม นำสัญญาณจากโรงเรียนวังไกลกังวล สามารถเรียนได้เวลาเดียวกัน ทางใต้มีโรงเรียนที่อยู่ในโครงการเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีปัญหาจำนวนครู หลังจากแก้ปัญหาแบบนี้แล้ว ผลออกมาก็มีคะแนนสูงขึ้น
O ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องงบอุดหนุนรายหัว โดยเฉพาะในกลุ่มของโรงเรียนเอกชน มีข่าวการตรวจสอบทุจริตออกมาเป็นระยะ รัฐบาลชุดนี้ได้เข้าไปจัดการหรือไม่?
ทางกระทรวงศึกษาฯรับนโยบายจากรัฐบาลให้ลงมาดูให้ใช้งบอย่างถูกต้อง จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามดู ตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ก็จะมาดูโรงเรียนเอกชน พบปัญหาคือว่า ก่อนหน้านี้มีการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แล้วนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ยกตัวอย่าง เด็กมีชื่ออยู่หลายโรงเรียน มีการเบิกซ้อน เบิกซ้ำ ก็ได้ตั้งกรรมการเข้าไปตรวจสอบ ก็ได้ผล ทำให้ใช้งบได้ถูกต้อง หลายโรงเรียนที่เอาเงินไปใช้ผิดทิศผิดทางก็บอกให้คืนเงิน และทำให้ถูกต้องตามระเบียบ
เราตรวจย้อนหลังไปถึงปี 2556 มีโรงเรียนที่ส่งคืนมาแล้ว 40 กว่าล้านบาท ก็ส่งคืนคลัง ปี 2557 ตรวจอีก ก็ได้คืน 80 กว่าล้านบาท ปี 2558 ตรวจแล้ว คิดว่ามี แต่ยังไม่สรุป แต่ถือว่าลดลง เพราะมีการแจ้งเตือนไปว่าถ้าผิดซ้ำปีที่สอง เรียกว่าเตือน ถ้าผิดซ้ำปีที่ 3 แปลว่าไม่แก้ไข ต้องดำเนินตามมาตรการต่อไป ซึ่งก็คือไม่ต่อใบอนุญาต
ตามระเบียบการส่งคืนเงิน ถ้าให้ความร่วมมือดี ต้องดูเจตนา ส่วนที่พยายามไม่คืน หรือมีปัญหาก็ชี้แจงมา เราก็จะให้โอกาสว่าถ้าจำนวนเงินมากกว่า 1 ล้านบาท ต้องมาทำหนังสือรับทราบสภาพหนี้ แล้วกำหนดเวลาคืน ที่ผ่านมาส่วนมากทางโรงเรียนก็ให้ความร่วมมือดี มีแค่บางส่วนที่ส่งคืนช้า ก็จะพิจารณาในขั้นตอนของการต่อใบอนุญาต
การแก้ปัญหาเราเน้นการทำความเข้าใจ ต้องสร้างความเข้าใจกับโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง และสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพราะงบที่สนับสนุน เอาไว้ให้ใช้สำหรับการเรียนการสอนเท่านั้น
O เรื่องการศึกษาในภาคใต้ สิ่งที่สังคมให้ความสนใจคือความปลอดภัยของบุคลากรทางการศึกษา ทางกระทรวงฯเข้าไปดูแลเรื่องนี้อย่างไร เพราะหลังๆ ก็ต้องบอกว่าความสูญเสียของครูลดลง?
เรื่องการ รปภ.ครู หลักๆ แล้วครูต้องดูแลตัวเองก่อน ทางโรงเรียนต้องวางมาตรการ ทั้งจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย ติดกล้องวงจรปิด ขณะเดียวกันโรงเรียนและบุคลากรต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองโดยรอบ ต้องสร้างความร่วมมือ เมื่อเราลงไปช่วยดูแลก็ได้รับความร่วมมือที่ดีมาก
ส่วนบทบาทของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องดูแล ได้จัดหน่วยโดย กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ที่มีทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชน ก็ทำงานตามแผน ไปตามเส้นทางที่มีกิจวัตรประจำวัน วางแผนอย่างเข้มข้น และประสานงานอย่างแน่นแฟ้น โดยมีการตั้งผู้แทนของหน่วยที่จะติดต่อกับหน่วยงานในพื้นที่
หัวใจสำคัญของงาน รปภ.ครู คือการบูรณาการทุกภาคส่วน การมีผู้รับผิดชอบชัดเจน และการติดต่อประสานงานระหว่างกัน ต้องสร้างช่องทางการสื่อสารที่ดี
O มีบางคน โดยเฉพาะคนในกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ พยายามเชื่อมโยงว่าเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจ ทหารต่างหากคือเป้าหมายของการโจมตี เมื่อตำรวจ ทหารไปอยู่กับครู ทำให้ครูโดนไปด้วย ฉะนั้นต้องเลิก รปภ.ครู?
ผมว่าคงเข้าใจผิดไปเอง เพราะเป้าหมายของการก่อเหตุมีอยู่ทั่วไป ไม่ใช่มีทหารอยู่กับครูแล้วได้รับอันตรายไปด้วยกัน
จากการที่เราลงไปบูรณาการ พบว่าสถิติความสูญเสียของบุคลากรทางการศึกษาลดลง ปี 2557 ครูเสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บ 8 คน ปี 2558 เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 1 คน ส่วนปี 2559 เข้าใจว่ายังไม่มีสูญเสียเลย สาเหตุสำคัญเป็นเพราะการประสานขอความร่วมมือ และรณรงค์ให้เห็นคุณค่าของบุคลากรทางการศึกษา
O สามจังหวัดภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบมานานกว่า 10 ปี ทำให้มีเด็กกำหร้า หรือเด็กที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปจำนวนมาก เด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกชักจูงไปอยู่ในขบวนการต่อต้านรัฐ ได้เข้าไปดูแลตรงจุดนี้อย่างไรบ้าง?
แผนงานและนโยบายของเรามุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัย และคุณภาพการเรียนการสอน การสร้างโอกาสให้เด็กมีหลากหลายวิธี รัฐก็ดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบ เช่น มีทุนการศึกษาต่อเนื่องไปถึงอายุ 25 ปี หรือระดับอุดมศึกษา แล้วก็มีทุนให้ทายาทของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย
ส่วนพื้นที่ที่มีปัญหาความยากจน ก็มีทุนสนับสนุนเช่นกัน คือเราดูแลไปตามสภาพปัญหา ไม่ใช่เฉพาะเด็กกำพร้าอย่างเดียว แต่เด็กยากจน ครอบครัวที่ขาดโอกาสก็เข้าไปดูแลด้วย และใช้งบประมาณไปไม่น้อย ปีที่แล้วใช้เงิน 200 กว่าล้านบาท ให้ทุนไปประมาณ 12,000 กว่าทุน ปี 2559 นี้เพิ่มขึ้นอีก เป็นเกือบ 500 ล้านบาท
ส่วนการส่งเสริมด้านอื่นๆ ก็มี อย่างเด็กทางภาคใต้มีทักษะทางกีฬา ก็ได้ริเริ่มโครงการสนับสนุน เด็กที่เก่งกีฬาก็จัดโปรแกรมพิเศษ ให้ทุนจนถึงปริญญาตรี ขณะนี้มีเด็กในโครงการประมาณ 400 กว่าคน
O บางคนมองว่าสาเหตุที่บูรณาการได้ เป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาล ถ้าต่อไปรัฐบาลพลเรือนเข้ามา จะมีความต่อเนื่องเช่นนี้หรือไม่?
ในฐานะที่เป็นคนขับเคลื่อนคนหนึ่ง เราได้วางความต่อเนื่องเอาไว้ นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ เช่น โครงการกีฬา ก็มีบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างหลายฝ่าย เป็นข้อตกลงที่ทำไปข้างหน้าด้วย
O การเป็นรัฐบาลทหาร ทำให้ถูกมองว่าเน้นในมิติความมั่นคง มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งในทางความมั่นคงมักมองเขาอย่างไม่ไว้ใจบ้างหรือไม่?
ผมไม่เคยมีความคิดแบบนั้น และไม่มีอยู่ในนโยบายเลย มีแต่การส่งเสริม เพราะการศึกษาหมายถึงการพัฒนาประเทศ
O ก่อนหน้านี้มีผู้ใหญ่บางท่านออกมาพูดถึงนักเรียนจากชายแดนใต้ที่ไปเรียนต่างประเทศ ว่าบางส่วนมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน คิดว่าเป็นความจริงหรือไม่ และได้เข้าไปดูแลส่วนนี้อย่างไร?
การเรียนของเด็กที่เรียนสายศาสนา แล้วไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็เป็นความหวังของเด็กและครอบครัวที่จะยกระดับการศึกษา ถ้าจะเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงต้องดูเป็นรายๆ ไป แต่คิดว่าทุกคนใฝ่ดีอยู่แล้ว
สิ่งที่เราดูแลคือควรเรียนจากมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐาน เพื่อกลับมาจะได้สามารถประกอบอาชีพได้ แต่ส่วนใหญ่ไปเรียนศาสนา ก็กลับมาเป็นครู
ผมเคยไปเยี่ยมและคุยกับเด็กที่มาเลเซียมาแล้ว เขาพูดถึงความเป็นอยู่และมาตรฐานการศึกษาที่รัฐบาลควรรับรอง เราก็กลับมาดำเนินการ ปัจจุบันรับรองครบถ้วนทั้ง 20 มหาวิทยาลัย ได้มาตรฐานจาก กพ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ต่อไปใครเรียนจบมาก็ให้ทางกระทรวงศึกษาฯเราทำงานร่วมกับภาคเอกชนในลักษณะทวิภาคี ก็จะประสานให้รับเด็กเหล่านี้เข้าไปทำงาน
O จะว่าไปแล้วงานการศึกษาก็แยกไม่ออกจากมิติความมั่นคง?
สิ่งที่ดำเนินการในมิติทางการศึกษา จริงๆ เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะการขับเคลื่อนงานภาคใต้ เราทำครอบคลุมเรื่องการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม สังคม เรามุ่งเน้นความปลอดภัย การพัฒนาทักษะผู้เรียน การสร้างโอกาส มีงานทำ ลดความเหลื่อมล้ำ เมื่อการศึกษาดีขึ้น ก็จะมีส่วนของการสร้างความมั่นคงเหมือนกัน ฉะนั้นต้องทำควบคู่กันไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : นายกฯอนุมัติแล้ว! 13 ผู้แทนพิเศษ "ครม.ส่วนหน้าดับไฟใต้"
*หมายเหตุ : นลิน สิงหพุทธางกูร เป็นผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศสถานีโทรทัศน์ NOW26