ข้อบังคับศาลคดีทุจริต จำเลยยื่นอุทธรณ์-ฎีกาต้องมาแสดงตน หนีหมดสิทธิ์!
แพร่ข้อบังคับ ปธ.ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตฉบับใหม่ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์-ฎีกา ต้องมาแสดงตนต่อ จนท.ศาล ถ้าหนีหมดสิทธิ์ ชี้ถ้ามีกรณียื่นขอถอนฟ้อง ต้องคำนึงผลประโยชน์สาธารณะ-ความเสียหายที่มีผลกระทบต่อรัฐเป็นสำคัญ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 โดยมีสาระสำคัญคือ ในการยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง จะต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล รวมไปถึงหากจะมีการพิจารณาการถอนฟ้องคดี จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ และความเสียหายที่มีผลกระทบต่อรัฐเป็นสำคัญด้วย
โดยในหมวด 3 อุทธรณ์ ข้อ 25 ระบุว่า ในการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง จำเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล หากจำเลยร้องขอระยะเวลาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ให้ระบุถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขอขยายระยะเวลา พร้อมแสดงหลักฐานและที่อยู่หรือช่องทางที่สามารถติดต่อกับจำเลยได้ การพิจารณาคำร้องให้ศาลคำนึงถึงความหนักเบาของโทษที่จำเลยได้รับ พฤติการณ์หรือโอกาสที่จำเลยอาจหลบหนี รวมถึงความสุจริตในการต่อสู้คดีของจำเลยประกอบกัน
ข้อ 26 ระบุว่า ในการยื่นอุทธรณ์ หากจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังไม่มาแสดงตน หรือเมื่อครบกำหนดขอขยายระยะเวลาแสดงตนแล้ว จำเลยไม่มาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ให้เจ้าพนักงานศาลทำรายงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นส่งฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าวพร้อมสำนวน รวมทั้งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป
เช่นเดียวกันกับการยื่นฎีกา โดยหมวด 4 ฎีกา ข้อ 27 ระบุว่า ในการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง ต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล โดยให้นำหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
นอกจากนี้ ในหมวด 1 บททั่วไป ข้อที่ 14 กรณีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ให้ศาลพิจารณาสั่งคำร้องขอถอนฟ้องโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ และความเสียหายที่มีผลกระทบต่อรัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ศาลอาจไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องก็ได้ แต่ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่า จะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
ส่วน ข้อ 10 ในคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลว่า มีการกล่าวหาในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบใด ให้ศาลสอบถามไปยังหน่วยงานนั้น และมีอำนาจเรียกรายงานและสำนวนการสอบสวนหรือสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวมาเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลได้
ถ้าศาลเห็นว่า เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างสอบสวนและหากดำเนินคดีต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินการในชั้นสอบสวนอันกระทบต่อความยุติธรรม ศาลอาจสั่งให้รอการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดีไว้ก่อนได้ตามที่สมควร ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความล่าช้าในการสอบสวนความทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งความเดือดร้อนของผู้เสียหายประกอบด้วย
และข้อ 13 กรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากศาลเห็นว่า กรณีมีเหตุจำเป็นต้องสืบพยาน ก็ให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป โดยมิให้นำบทบัญญัติในมาตรา 166 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ
(อ่านข้อบังคับฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/087/1.PDF)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดให้นักโทษที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกแล้ว จะต้องมาแสดงตนต่อศาล ห้ามหลบหนีไม่เช่นนั้น ศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกาคดี
อ่านประกอบ : นักโทษหนีคดีหมดสิทธิ์อุทธรณ์-ฎีกา! สนช.เห็นชอบแก้ไขกม.พิจารณาความอาญา