สตง.สั่งเรียกคืน‘เงินประจำตำแหน่ง’ จนท.สินเชื่อ-ผู้จัดการ ธพว. 200 คน กว่า 6 ล.
สตง.สั่งเรียกคืนเงินประจำตำแหน่ง จนท.สินเชื่อ ธพว.เกือบ 200 คน หลังสอบพบจ่ายขัด พรบ.ธนาคาร กว่า 6 ล.ช่วงปี 57-58 ขณะที่ผู้บริหารไม่เรียกคืนทันที ใช้วิธีจ่ายโบนัสพิเศษเฉพาะกลุ่มนี้เท่ากับจำนวนที่ต้องคืนแล้วค่อยหักออก ถูกติงอาจผิดระเบียบ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำนักตรวจสอบการเงินที่ 1 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ถึง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) แจ้งข้อสังเกตประกอบการสอบทานข้อมูลทางการเงิน ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2558 พบว่า ธพว. จ่ายเงินโดยไม่มีระเบียบรองรับ และขัดกับ พรบ.ของ ธพว. ซึ่งมีพนักงานที่ได้รับเงินไปโดยไม่ถูกต้อง จำนวนเกือบ 200 คน ตั้งแต่คนละไม่ถึงหมื่นบาท จนถึงมากกว่า 1 แสนบาท จึงสั่งให้ ธพว.เรียกเงินคืนจากพนักงาน ดังนี้
1.ค่าตำแหน่งงานด้านการวิเคราะห์สินเชื่อ ที่จ่ายให้กับ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ ผู้ช่วยผู้จัดการศูนย์วิเคราะห์สินเชื่อ และผู้จัดการศูนย์วิเคราะห์สินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,918,750 บาท
2.เงินช่วยเหลือพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านวิเคราะห์สินเชื่อ และด้านปฏิบัติการสินเชื่อ เพื่อเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเดือนละ 2 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 847,440 บาท
เนื้อหาหนังสือของสตง.ระบุว่า ตาม พรบ.ธพว. มาตรา 13 ห้ามมิให้ธนาคารกระทำการ ดังต่อไปนี้... (3) จ่ายเงิน หรือทรัพย์สินให้แก่กรรมการ กรรมการบริหาร ผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างธนาคาร เป็นค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนสำหรับ หรือเนื่องแต่การกระทำ หรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของธนาคาร ทั้งนี้ นอกจากเบี้ยประชุม หรือประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด บำเหน็จรางวัลประจำปีตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตลอดจนเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ซึ่งพึ่งจ่ายตามข้อบังคับของธนาคาร
สตง.เห็นว่า ค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้กำหนดค่าตำแหน่งงานด้านวิเคราะห์สินเชื่อไว้ในประโยชน์ตอบแทนอื่น และข้อ 2 เงินช่วยเหลือพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน ไม่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับอื่นใดของธนาคาร ดังนั้น ค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ประเภทนี้ จึงเบิกจ่ายไม่ได้ เนื่องจากเป็นการเบิกจ่ายโดยไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับที่กำหนดไว้ให้จ่ายได้
สตง.จึงสั่งให้ ธพว. ดำเนินการ ดังนี้
1.ให้ ธพว.เรียกเงินคืนจากเจ้าหน้าที่ที่รับเงินค่าตำแหน่งงานด้านวิเคราะห์สินเชื่อรายเดือน และเงินพิเศษเพื่อกลับมาเยี่ยมบ้าน เดือนละ 2 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 รวมเป็นเงิน 2,766,190 บาท คืนธนาคาร
2.ให้ ธพว.ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนตำแหน่งงาน และเงินพิเศษเพื่อกลับมาเยี่ยมบ้าน อีก 2 ช่วงเวลา คือตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน (นอกเหนือจากช่วงที่ สตง.พบจากการตรวจสอบ) และเรียกเงินคืนจากเจ้าหน้าที่ทุกรายที่รับเงินไปแล้วคืนธนาคารโดยเร็ว
แหล่งข่าวจากจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ ธพว.ตามคำสั่งของ สตง. ใน 2 ช่วงเวลาดังกล่าวพบมีการจ่ายเงินไปอีก 1.49 ล้านบาท และ 1.81 ล้านบาท จึงเป็นเงินที่ ธพว.จ่ายให้พนักงานและต้องเรียกคืนจากพนักงาน รวมทั้งสิ้น 6.06 ล้านบาท
แหล่งข่าวเปิดผยว่า อย่างไรก็ตาม หนังสือของ สตง. ฉบับดังกล่าว แจ้ง ธพว.ให้ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 และให้ดำเนินการโดยเร็ว แต่ ธพว.ไม่ได้ดำเนินการในทันที ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเป็นเวลาหลายเดือน โดยมีความพยายามที่จะทำให้พนักงานไม่ต้องคืนเงินจำนวนนี้ โดยครั้งแรกจะนำเงินจากกองทุนสวัสดิการพนักงานมาใช้เพื่อจ่ายคืนแทนพนักงาน แต่ได้รับการทักท้วงผู้บริหารบางคนว่าจะกระทบกับพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้อง และทำให้เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เป็นการเรียกคืนจากพนักงานตามคำสั่งของ สตง.
ทางธพว.จึงหาวิธีการที่จะทำให้สามารถนำเอาเงินจากหมวดค่าใช้จ่ายประเภทใดประเภทหนึ่งของธนาคาร จ่ายเข้าไปอยู่ในบัญชีของพนักงานเสียก่อน แล้วจึงหักออกมาจ่ายคืนธนาคาร ซึ่งเห็นว่าการจ่ายโบนัส เป็นวิธีการที่เป็นไปได้ โดยจะต้องเป็นโบนัสที่จ่ายเพิ่มพิเศษ นอกเหนือจากที่พนักงาน 200 คนนั้น จะได้รับตามปกติอยู่แล้ว จึงได้มีการออกประกาศ ธพว.ที่ 15/2559 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2559 และประกาศ ธพว.ที่ 16/2559 เรื่อง การจัดสรรโบนัสพนักงาน จากผลประเมินประจำปี 2558 โดยการจ่ายโบนัสในส่วนที่ 2 ที่แปรผันตามผลประเมินการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมว่า หากมีงบประมาณคงเหลือ กรรมการผู้จัดการ ผู้รับผิดชอบกลุ่มงาน หรือสายงาน อาจพิจารณาจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้แก่พนักงานเป็นกรณีพิเศษได้ หากพนักงานผู้นั้นมีส่วนร่วมและทำงานทุ่มเทช่วยเหลืองานฟื้นฟูธนาคาร เช่น การเพิ่มปริมาณสินเชื่อ การลดหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) การเสียสละไปปฏิบัติงานต่างจังหวัด การช่วยเพิ่มรายได้ การลดค่าใช้จ่าย และทำให้ฐานะทางการเงินของธนาคารเข้มแข็งขึ้น การมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการจ่ายโบนัสดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การจ่ายโบนัสพิเศษให้กับกลุ่มพนักงาน 200 คน ที่จะต้องจ่ายเงินประจำตำแหน่งและค่าเดินทางเยี่ยมบ้านคืนธนาคารตามคำสั่งของ สตง.
ดูเอกสาร ประกอบ