“ดร.เสรี”ฟันธงปี 55 น้ำท่วมอ่วมอีก แนะเร่งฟลัดเวย์-ปรับเพาะปลูก
สศก.คาดแนวโน้มเกษตรปี 55 เติบโต 5.5% หากไม่มีภัยพิบัติ “ดร.โอฬาร”แนะทำทั้งฝายและแก้มลิง-ชดเชยเกษตรให้คุ้ม “ดร.เสรี”ชี้แก่งเสือเต้นไม่ใช่คำตอบ ต้องสร้างฟลัดเวย์-ปรับเพาะปลูกรองรับน้ำท่วม
วันที่ 19 ม.ค.55 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดสัมมนา“การเกษตรไทยปรับตัวอย่างไรในยุคภัยพิบัติ” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าอัตราการขยายตัวภาคเกษตรปี 54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยครึ่งแรกของปีเติบโตระดับสูง แต่ปลาย ก.ค.อุทกภัยขยายวงกว้างครอบคลุมภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างความเสียหายให้ภาคเกษตรหดตัวในไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4 เมื่อจำแนกตามสาขา ได้แก่สาขาพืชขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 1.2 ป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 2.2 ส่วนสาขาที่เติบโตลดลง ได้แก่สาขาประมงหดตัวลงร้อยละ 2.6 บริการทางการเกษตรหดตัวร้อยละ 0.7
ด้าน นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สศก. กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 55 ว่าจะขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.5-5.5 มากกว่าปีที่ผ่านมา หากไม่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย ปัญหาแมลงศัตรูพืชและโรคระบาดต่างๆ โดย สาขาพืชคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.3-7.3 เนื่องจากผลผลิตพืชสำคัญส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งข้าว อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ขณะที่ราคาก็มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกชนิด สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.1-3.1 เนื่องจากเกษตรกรปรับระบบการเลี้ยงที่ดี มีการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม ควบคุมโรคระบาด และต้นทุนการผลิต ขณะที่ด้านราคาปศุสัตว์จะปรับสูงขึ้น ทั้งไก่เนื้อ สุกร น้ำนมดิบ ส่วนราคาไข่ไก่จะลดลงจากยอดผลิตที่สูงขึ้น
สาขาประมง คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.6-1.6 จากราคาผลผลิตปี 54 ดี โดยเฉพาะกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ส่วนประมงน้ำจืดมีแนวโน้มยอดผลิตจะสูงขึ้น สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9-3.9 ซึ่งเติบโตตามสาขาพืช เช่น ข้าว อ้อยโรงงาน ทำให้มีการจ้างบริการทางการเกษตร อาทิ การเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตมากขึ้น สาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0-2.0 เนื่องจากมีการตัดฟันไม้เศรษฐกิจจากป่าปลูกออกมา เพื่อป้อนโรงงานเฟอร์นิเจอร์และใช้ในภาคการก่อสร้าง ภายหลังฟื้นตัวจากอุทกภัย
ขณะที่ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เสนอทางออกว่าต้องสร้างฝายให้มากขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ขณะที่เกษตรกรก็จะมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งทำได้ทั้งฝายขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยให้ชุมชนหมู่บ้านตำบลเป็นผู้ดำเนินการ
ดร.โอฬาร กล่าวว่าสำหรับจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ช่วงมรสุมน้ำเยอะ ต้องกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ ซึ่งอาจทำเป็นแก้มลิงหรือฝายขนาดกลางขนาดใหญ่ การบริหารจัดการต้องชัดเจน ทั้งการช่วยเหลือเขตอุตสาหกรรมที่อยู่ในบริเวณทางออกน้ำ การป้องกันน้ำท่วม กทม. และที่สำคัญคือพื้นที่เกษตรกรรม ในช่วง 3-4 เดือนที่เกษตรกรไม่ได้ปลูกข้าวก็จำเป็นที่ต้องมีอาชีพรองรับ รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยให้ดำรงชีพอยู่ได้
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร กล่าวว่า ปี 55 ไทยจะประสบปัญหาน้ำท่วมอีกแน่นอน เนื่องจากพายุที่ก่อตัวเยอะขึ้นส่งผลให้ฝนตกชุก ดังนั้นเกษตรกรควรปรับเปลี่ยนฤดูกาลเพาะปลูกให้ตรงกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนภาครัฐควรเร่งแก้ไขปัญหา ระยะสั้นต้องเร่งสรุปข้อมูลอุทกภัยปลายปี 54 เผยแพร่แก่ประชาชน เพื่อเตรียมตัวป้องกัน ระยะยาวต้องสร้างทางด่วนระบายน้ำขนาดใหญ่(ฟลัดเวย์)และแก้มลิงรับน้ำ
“การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงก์ ภาครัฐจะมั่นใจได้อย่างไรว่าน้ำจะเต็มเขื่อนในฤดูแล้ง ซึ่งไม่มีใครให้คำตอบได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือ การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก” รศ.ดร.เสรี กล่าว.