"โหน่ง อะเดย์" กับถนนคนเดินปัตตานี... ที่นี่เหมือนบ้านของผม
กิจกรรม "ถนนคนเดิน" เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด จากกรุงเทพฯสู่หลายเมืองใหญ่ในประเทศไทย แต่ใครจะคิดว่าที่ปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีแต่ข่าวร้ายจากสถานการณ์ความไม่สงบ ก็มี "ถนนคนเดิน" กับเขาเช่นกัน
กิจกรรมลักษณะนี้ในบางแง่มุมสะท้อนว่า สิ่งที่ข่าวสารรายงานกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ใช่ภาพจริงทั้งหมดของปลายด้ามขวาน เพราะผ่านเหตุร้ายนานัปการมาเกือบ 13 ปี แต่สังคมที่นี่ยังอยู่ได้
ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปัตตานีจัดงาน “มันส์ดี มาร์เก็ต MON D Market” หรือ ถนนคนเดินปัตตานี ณ ใจกลางเมืองปัตตานี สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้การมีกิจกรรมสาระบันเทิงเช่นนี้ที่ชายแดนใต้ ก็คือการปรากฏตัวของเซเลบวงการนักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดังขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่าง “วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” หรือ “โหน่ง อะเดย์” บนเวทีสนทนาที่ใช้ชื่อว่า “onces aday in Pattani”
งานนี้แฟนพันธุ์แท้ชายแดนใต้ไปฟังกันอย่างล้นหลาม...
โหน่งเป็นคนฝั่งธนฯ หลายคนอาจไม่ทราบว่าช่วงชีวิตในวัยเป็นนักศึกษาปริญญาตรี เขาได้ลงมาปักหลักศึกษาหาความรู้ที่ “รั้วศรีตรัง” มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่ำเรียนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นเวลา 4 ปี เขาบอกว่าได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า
“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ อยากเรียนต่างจังหวัดเพราะคิดว่าจะทำให้เราโตขึ้น ตอนสอบติดที่ ม.อ.ปัตตานี รู้สึกดีใจมาก เมื่อมาอยู่จริงก็ชอบมาก ขี่มอเตอร์ไซค์ไปทุกอำเภอ ทุกที่ มีเพื่อนเยอะมากทั้งพุทธและมุสลิม โดยเฉพาะเพื่อนมุสลิมที่ผมได้เรียนรู้ความมีน้ำใจและความน่ารักของพวกเขา มีความสุขมากที่ได้อ่านหนังสือจากห้องสมุดจอห์น เอฟ เคเนดี้ (หอสมุดของมหาวิทยาลัย) 4 ปีที่เรียนที่นี่ ผมอ่านหนังสือได้เป็นพันๆ เล่ม เป็นหอสมุดที่ดีที่สุดในโลก” โหน่งเล่าตอนหนึ่งบนเวทีถึงช่วงชีวิตวัยเรียน
เขาบอกต่อว่า สมัยศึกษาอยู่ที่ ม.อ.ปัตตานี เขาทำกิจกรรม เป็นประธานชมรมศิลปะการละคร ทำหนังสือทำมือ เขียนหนังสือ ออกแบบ จัดรูปเล่ม ทำเองทุกขั้นตอน ก่อนนำไปวางที่กองกิจการนักศึกษา เมื่อใครมาหยิบไปอ่านก็มีความสุข และไม่นึกว่าสิ่งเหล่านั้นจะกลายมาเป็นอาชีพในวันนี้
ในชั่วชีวิตของคนเรา โหน่งบอกว่าควรมีฝันที่ชัดเจนและลงมือทำตามฝัน...
“ข้อดีของการมีฝันที่ชัดเจนคือ ไม่ต้องเดินสะเปะสะปะ ควรค้นหาตัวเองให้เจอโดยเร็วที่สุด ผมค้นพบตัวเองตอนเรียนที่นี่ ผมเรียนสังคมวิทยา ดูเผินๆ เหมือนทำได้หลายอย่าง ไม่ใช่วิชาชีพเฉพาะ ตอนสมัครงานก็ถามตัวเองว่าชอบอะไร และทำอะไรได้ดี อยากอยู่กับสิ่งนั้นไปนานๆ เมื่อผมพบว่าหนังสือคืองานที่ชอบและรัก ผมมุ่งหน้าก้าวไปถึงอย่างมีความสุข เป็นงานแรกและงานสุดท้ายในชีวิต”
เขายังบอกอีกว่า คนที่มีคำว่า “นัก” นำหน้า สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญ เกิดจากการทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ เมื่อมีฝันต้องลงมือทำให้เป็นจริง ไม่เป็นฝุ่นในอากาศ ต้องศึกษา เคี่ยวกรำ การเริ่มต้นสำคัญมาก ความกลัวทำให้เราไม่กล้า คิดแล้วต้องทำ ไม่มีอะไรต้องเสีย คิดแล้วไม่ทำเท่ากับไม่ได้คิด สิ่งที่ครบวงจรนักฝันคือ มีความคิด ศึกษา และลงมือทำ หากล้มเหลวคือบทเรียน จะได้รู้จักตัวเอง อย่ากลัวความล้มเหลว ให้กลัวที่จะไม่ได้ทำ
“ความฝันไม่ต้องใหญ่ ทำเท่าที่ทำได้ให้สำเร็จ เพราะนั่นจะเป็นกำลังใจที่ดีมากให้ตัวเองทำฝันที่ใหญ่ขึ้น เหมือนการวิ่งระยะสั้น แล้วเพิ่มระยะทางมากขึ้น จงทำในสิ่งที่เรามีความสุขไปทั้งชีวิต ทำงานที่ดี ที่มีคุณค่าในตัวเอง วันหนึ่งงานนั้นจะตอบแทนและนำสิ่งดีๆ ในชีวิตมาให้เรา”
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โหน่ง พบว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานให้ชีวิตพัฒนา เมื่อชีวิตดี สังคมก็จะดีตาม เขาจึงตัดสินใจทำร้านหนังสือมือสองเพื่อสังคม รับบริจาคหนังสือมือสองมาเปิดร้านขายในมหาวิทยาลัย โดยให้นักศึกษามาขาย มาเรียนรู้ มหาวิทยาลัยไม่คิดค่าใช้จ่าย รายได้เป็นค่าตอบแทนนักศึกษาและมอบให้มหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กในพื้นที่ต่างๆ โดยตั้งร้านที่ ม.อ.หาดใหญ่เป็นที่แรก คาดว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
เขายังเผยความรู้สึกถึงปัตตานี ดินแดนที่วันนี้มีแต่คน (นอกพื้นที่) หวาดกลัว...
“งานถนนคนเดินที่นี่เป็นถนนคนเดินที่ดีที่สุดในภาคใต้ เป็นงานที่คนปัตตานีรอคอย ผมรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของคนที่นี่พอสมควร แต่คนส่วนใหญ่ข้างนอกอยู่กับข่าวสารด้านเดียว ยังคงคิดว่าปัตตานีน่ากลัว ก่อนมายังมีคนบอกให้ระวังตัว การมีงานนี้ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่ยังรื่นรมย์ อยากให้จัดอีกเรื่อยๆ บรรยากาศเช่นนี้จะช่วยละลายความรู้สึก ให้คนเข้าใจปัตตานีดีขึ้น คนที่จัดงานนี้บอกว่า เห็นสายตาของคนที่มางานมีความสุขคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่มาก”
เขาทิ้งท้ายว่า “ผมมีความสุขมากที่ได้กลับมาปัตตานี ที่นี่มีรักแรก ทุกข์สุขและความหลังของผมอยู่ที่นี่เยอะมาก เห็นหอนาฬิกาแล้วน้ำตาซึม ปัตตานีเหมือนบ้านผม”
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ภาพ : COOLMAN PHOTOGRAPHER