‘ปกาเกอะญอ โคอิ’ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน
ปู่โคอิ ดูสดชื่นขึ้นกว่าครั้งแรกที่พบกันที่เซฟเฮ้าส์ เมื่อเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา บ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นด้วยไม้ไผ่ที่ถูกตีให้แบน เมื่อเดินผ่านทางเข้าก็จะเห็นปู่นอนชิดทางขวาของตัวบ้าน ใกล้ๆ กับกองไฟที่ให้ความอบอุ่น(และเป็นที่ทำอาหาร) ถัดไป-มีชายชราผอมๆ อีกคนที่นอนอยู่ เสียงเรียกของล่ามทำให้ปู่ค่อยๆ ลุกขึ้นมานั่ง ดูเหมือนปู่จะคุ้นเคยกับการมาของคนแปลกหน้า ปู่พยักหน้าพร้อมพูดอะไรบางอย่างออกมา ล่ามแปลว่า “ปู่บอกว่าคุยได้”
ถ้อยคำจากปู่โคอิ ผ่านล่าม
ปู่โคอิ เล่าว่า “เกิดที่ต้นน้ำพาชี”พ่อชื่อ มิมิ ส่วนแม่ชื่อ นอดี ปู่โคอิ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 6 คน เรียงตามลำดับคือ 1) ดึ๊ลือ 2) นอมือรึ 3) น่อเจนัว 4) เคอะ 5) โคอิ 6) นอโพะ
ไม่ต่างไปจากที่คาด-เมื่อถามถึงวันเดือนปีเกิด-ปู่ตอบว่า “ไม่รู้” แต่บอกได้ว่าปัจจุบันอายุ 103 ปี ล่ามแปลให้ฟังถึงวิธีการที่ปู่ใช้นับอายุ
ปู่บอกว่านับอายุจากจำนวนเมล็ดข้าวโพดที่เก็บไว้ในแต่ละปี ผ่านไปแต่ละปีจะเก็บเมล็ดข้าวโพดเพิ่มอีกหนึ่งเมล็ด โดยพ่อแม่เก็บไว้ให้ก่อน ปู่ประมาณเอาจากปีที่ลูกชายคนโตของแกเกิด ปีนั้นนับเมล็ดข้าวโพดได้ 27 เมล็ดแล้ว และปู่เอาเม็ดข้าวโพดมาเรียงเก็บไว้ ทุกปี-เม็ดข้าวโพดจะเพิ่มขึ้นตามขวบปีของลูกชายที่โตขึ้น จึงตอบอย่างแน่วแน่ มั่นคงว่า ปัจจุบันตนอายุ 103 ปี
เมื่ออายุได้ประมาณเริ่มเป็นหนุ่ม พ่อแม่ย้ายมาอยู่ที่บริเวณที่เรียกว่าบางกลอยบน โดยย้ายมาทั้งครอบครัว ใช้เวลาเดินเท้ามา หนึ่งวันเต็มๆ มาตั้งรกรากบ้านเรือนระหว่างบริเวณห้วยม้อลอ (โป่ง)กับห้วยคอลิ (เศษจาน)
เมื่อมาถึงบางกลอยบน พบว่ามีผู้อาศัยอยู่ในบริเวณนี้แล้ว 4 ครอบครัว คือ ครอบครัวแรก-ครอบครัวพื้อโบ, ครอบครัวที่สอง-พื้อท้อเคาะ มีลูกคือพ้ะลุ้ย และเพาะกลอมึ ซึงเป็นลูกของเพาะกลอมึ ครอบครัวที่สาม-พื้อชาลัวะ มีลูกคือ นายจอโจ่ และครอบครัวสุดท้าย-พื้อคุ ต่อมามีลูกสาวชื่อปีจิ๊ ซึ่งเป็นมารดานายสมจิต กว่าบุ (ต่อมานายสมจิตร เป็นสามีนางบุเรมิ)
ปู่อาศัยอยู่ได้ประมาณ 10 ปี จึงมีภรรยา คือหน่อทิกิพู้ ต่อมาอีก 2 ปีจึงมีลูกคนแรกคือ จอเงเง สอง-กะเทรอ สาม-บุเรมิ
ในช่วงเวลาที่มีภรรยาคนแรก ปู่โคอิ เคยเข้าป่าล่าสัตว์กับเพื่อนๆ นำไปขายกับ “ซุ” หรือเพื่อนนำมิตร
เมื่อภรรยาคนแรกตาย ปู่ได้อยู่กินกับภรรยาคนที่สอง คือ นอตะกี มีลูกด้วยกันสองคนคือ หนึ่ง-หน่อเอะ หรือนอแอ๊ะ สอง-หน่อสะ
ปู่ดำรงชีวิตตามวิถีทางกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่บรรพบุรุษสั่งสอนมา โดยปลูกข้าวไร่ ทำการเกษตรแบบหมุนเวียน ปลูกต้นหมากไว้ 2-3 แปลง แปลงละร้อยกว่าต้น ปัจจุบันหมุนเวียน 2-3 ปีต่อครั้ง
ในช่วงที่ทางราชการแจกเหรียญชาวเขา ปู่ไม่ทราบเรื่อง แต่ลูกชายคือนายจอเงเง และลูกเขย คือนายสมจิต กว่าบุ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ลงจากเขาไปยังตัวอำเภอ ซึ่งขณะนั้นคืออำเภอท่ายาง ได้พบกับผู้ใหญ่มา ผู้ใหญ่จึงบอกให้ไปรับเหรียญชาวเขา ปู่บอกว่า
“ถ้ารู้ ก็คงไปรับเหรียญ แต่ระยะทางก็ไกลมาก”“ไม่รู้เรื่อง”
ช่วงที่มีการสำรวจทะเบียนสำรวจบุคคลในบ้าน (ทรชข.) ปู่ยังจำได้ ปู่ได้รับการสำรวจพร้อมกับนอตะกีและลูกทั้งสอง
ส่วนช่วงที่มีการสำรวจบัตรสีฟ้า (บัตรบุคคลบนพื้นที่สูง) ปู่ไม่ได้รับการสำรวจ (ตกสำรวจนั่นเอง) เนื่องจากไม่เคยทราบเรื่องเลย อำเภอไม่เคยขึ้นมาที่บ้านบางกลอยเพื่อแจ้งให้ชาวบ้านทราบเลย
และสำหรับการสำรวจบัตรเขียวขอบแดง (บัตรชุมชนบนพื้นที่สูง) ปู่และครอบครัวก็ไม่ได้รับการสำรวจหรือตกสำรวจอีกเหมือนกัน และแม้คราวนี้อำเภอจะขึ้นมาดำเนินการ ณ บ้านโป่งลึกบางกลอยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ขึ้นไปถึงบางกลอยบน ปู่โคอิและครอบครัวจึงเป็นผู้ตกหล่นจากการสำรวจและทำบัตรสีฟ้า (บัตรบุคคลบนพื้นที่สูง) และบัตรเขียวขอบแดง (บัตรชุมชนบนพื้นที่สูง)
เหตุการณ์สำคัญในชีวิตครั้งล่าสุดสำหรับปู่โคอิ คือถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์และบ้านที่อาศัยถูกเผา ปู่เล่าว่า ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาพบก่อนหน้านั้นเพื่อเตือนให้ออกจากพื้นที่เลยวันนั้น-เจ้าหน้าที่บอกผ่านล่ามว่า ให้ปู่และครอบครัวลงไปจากป่า อยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้แล้ว
ปู่ก็ตอบว่า “ไปไม่ได้หรอก ตามองไม่เห็น”
เจ้าหน้าที่ก็ว่า-เขาจะลากไป แล้วเขาก็ลากปู่ไป ผ่านไปตรงที่มีตอไม้เยอะๆ จนถึงเฮลิคอปเตอร์
ปู่รู้ได้ยังไงว่าเป็นเจ้าหน้าที่?
“รู้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะล่ามบอก”
ปู่ไม่ได้เห็นภาพทรัพย์สินถูกทำลาย บ้านถูกเผากับตาของตัวเอง มีเพียงคนบอกมาว่าอุทยานเผาบ้าน
และรับรู้จากลูกชายว่า ข้าวของในบ้านถูกเผา-ทำลายเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย มีด เคียว หรือ “เงินเป็นร้อย ที่ไม่ได้หามาได้ง่าย” ปู่เสียดายหมดทุกอย่าง
“หากได้คืน ก็จะสุขใจ แล้วแต่จะคืนให้ ใจจริงๆ ก็ไม่ว่าอะไรเขาสักอย่าง จะคืนเป็นของหรือเป็นเงินก็ได้ แต่ก็ไม่กล้าขออะไร ..กลัวเขาจะมายิง”
เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากได้คืนมามากที่สุด ปู่บอกว่า “เข็มขัดเงิน กับสร้อยคอที่เป็นรูปเหรียญซึ่งห้อยกับด้าย สร้อยลูกประคำ” และ “อยากกลับไปอยู่ที่เดิม ..เพราะมีหมาก พลู ของกินที่ปลุกไว้ กลับไปทำไร่ที่เดิม กลับไปที่ที่ร่องรอยของพ่อแม่เคยอยู่”
ปู่ยืนยันว่าไม่เคยทำลายป่า ไม่เคยทำลายแผนดิน ไม่เคยนำไม้ไปขาย ทำแค่มีบ้าน พื้นที่ปลูกข้าวไร่ พืชผัก แม้ว่าบ้านเมืองจะพัฒนาไปอย่างไร ปู่ก็ทำเหมือนคนอื่นๆไม่ได้ ทำได้แค่นี้ เท่าที่พ่อแม่สั่งสอนมา
มันเป็นเวลาช่วงบ่าย-สองวัน สำหรับการสัมภาษณ์ปู่โคอิ เราพบว่ามีข้อเท็จจริงบางเรื่องแตกต่างไปจากที่รับรู้ในครั้งแรก อาทิ ปู่บอกว่าปู่เกิดที่ต้นน้ำพาชี ปู่ไม่เคยไปรับเหรียญชาวเขา เหรียญที่ออกข่าวเป็นของลูกชายคือจอเงเง ที่ตกทอดถึงลูกชายคือมาดีหรือมงคลชัย แม้เราจะเห็นว่าความแตกต่างของข้อมูลดังกล่าวย่อมไม่กระทบถึงความเป็นกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอดั้งเดิมแห่งผืนป่าแก่งกระจานของปู่โคอิ
ติดตามอ่านฉบับต่อไป-งานวิเคราะห์และความเห็นทางกฎหมายต่อสถานะบุคคลตามกฎหมาย, สิทธิในที่ดินรวมถึงสิทธิในทรัพย์สินของปู่โคอิ
ดาวน์โหลดบทความ